วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ยุคดิจิตอลต้องสู้ด้วยทุน ทีวีธันเดอร์เตรียมเข้า mai

ยุคดิจิตอลต้องสู้ด้วยทุน ทีวีธันเดอร์เตรียมเข้า mai

 
สมรภูมิดิจิตอลทีวีได้ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของวงการผู้ผลิตสื่อให้แปลกแตกต่างออกไปอย่างที่ไม่มีวันเหมือนเดิม ควบคู่กับการช่วงชิงพื้นที่และทรัพยากรทางการผลิตกันอย่างเอิกเกริกด้วยมุ่งหมายที่จะต้องยืนให้อยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดและเขม็งเกลียวที่พร้อมจะผลักให้ผู้ประกอบการบางรายล้มหายไปจากหน้าจอโดยปริยาย
 
ล่าสุดบริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVT ผู้ประกอบธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์และรายการบันเทิงชั้นนำ และให้บริการรับจ้างผลิตรายการและจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงธุรกิจบริหารศิลปิน และผลิตและจำหน่ายหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กได้ยื่นไฟลิ่งกับ ก.ล.ต. แล้วเพื่อนำเสนอขายหุ้นไอพีโอ 200 ล้านหุ้น โดยคาดหวังจะเป็นผู้นำธุรกิจด้านการผลิตคอนเทนต์และผลิตรายการที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
 
ประเด็นสำคัญของการยื่นขอเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ของทีวี ธันเดอร์ อยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า การเปิดทีวีดิจิตอลที่มีมากถึง 24 ช่อง ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ส่งผลให้บริษัทฯ มีการเติบโต และเป็นที่มาของการเตรียมตัวเพื่อระดมทุนสำหรับขยายกำลังการผลิตรายการโทรทัศน์และลงทุนในระบบการถ่ายทำรองรับทีวีดิจิตอล เพื่อการขยายตัวของบริษัทฯ ในอนาคต รวมถึงการพัฒนาสู่การเป็นผู้ผลิตที่มีมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
 
ภัทรภร วรรณภิญโญ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVT ระบุว่าทางบริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และได้ยื่นแบบคำขอให้รับหุ้นสามัญของบริษัทฯ เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ โดยขออนุญาตเสนอขายไอพีโอจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท
 
ปัจจุบัน บมจ. ทีวี ธันเดอร์ มีทุนจดทะเบียนเท่ากับ 200,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 800,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท โดยมีทุนเรียกชำระแล้วเท่ากับ 150,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 600,000,000 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท
 
ทีวี ธันเดอร์ ถือเป็นบริษัทฯ ผลิตรายการโทรทัศน์ที่อยู่คู่กับวงการโทรทัศน์ไทยมานานกว่า 22 ปี และมีรายการหลายรายการที่ทางบริษัทฯ เป็นผู้คิดและผลิตออกมาสู่สายตาประชาชน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก การมาถึงของทีวีดิจิตอลจึงเป็นประหนึ่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการอย่างทีวีธันเดอร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในห้วงยามที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลแต่ละรายกำลังขาดแคลนเนื้อหาที่จะมาเติมเต็มผังรายการ
 
ภูษิต ไล้ทอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ว่าเพื่อผลักดันให้บริษัทฯ ก้าวไปเป็นผู้นำธุรกิจด้านการผลิตคอนเทนต์ และผลิตรายการที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ครีเอทีส มีเดีย จำกัด หรือ CMED และบริษัท อีเอ็ม เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือ EM ซึ่งแต่ละบริษัทมีนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่แบ่งแยกอย่างชัดเจน
 
โดยบริษัท CMED มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจเพื่อผลิตและรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ที่ซื้อลิขสิทธิ์รายการจากต่างประเทศ (International Format) อาทิ รายการเทค มี เอาท์ (ไทยแลนด์) รายการแดนซ์ ยัว แฟท ออฟ และรายการไทยแลนด์ แดนซ์ นาว เป็นต้น
 
ส่วน EM มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจ โดยทำหน้าที่บริหารศิลปิน เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของบริษัทฯ และ CMED โดยบริษัทฯ มีรายได้หลักจากค่าโฆษณา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85 % ของรายได้ทั้งหมด และประมาณ 14% มาจากการให้บริการ ซึ่งเกิดจากการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ และอีกประมาณ 1% เป็นรายได้จากการบริหารศิลปิน และขายหนังสือ
 
บมจ. ทีวี ธันเดอร์ ถือว่ามีจุดแข็งและจุดเด่นในการประกอบธุรกิจค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์ของผู้บริหารและทีมงานที่มีคุณภาพในการคิดสร้างสรรค์งาน สะท้อนได้จากปัจจุบันมีรายการโทรทัศน์ที่ได้รับการตอบรับจากผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นรายการเทค มี เอาท์ ไทยแลนด์ รายการมาสเตอร์คีย์ เวทีแจ้งเกิด ซึ่งสอดรับกับรสนิยมของผู้บริโภคชาวไทยได้เป็นอย่างดี
 
สำหรับผลการดำเนินงานของ ทีวี ธันเดอร์ในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏว่าในปี 2556 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 634.50 ล้าน มีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับร้อยละ 21.95 และอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 8.97
 
ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 444.21 ล้านบาท และยังคงสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิได้ดีที่ร้อยละ 19.22 และร้อยละ 3.96 แม้ว่าในปี 2557 จะมีการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยทางการเมืองก็ตาม
 
การขอเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด mai ตั้งอยู่บนเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่จะสร้างบริษัทฯ ให้เป็นองค์กรผู้ผลิตคอนเทนต์ชั้นนำและผลิตรายการที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินระดมทุนที่ได้มาขยายกำลังการผลิตรายการโทรทัศน์และลงทุนในระบบการถ่ายทำ จากปัจจุบันที่มีสตูดิโอถ่ายทำรายการ 1 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างสำหรับถ่ายทำรายการใหม่อีก 3 แห่งเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจทีวีดิจิตอลในอนาคต
 
สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ. ทีวี ธันเดอร์ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ยื่นไฟลิ่ง ของ บมจ. ทีวี ธันเดอร์ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญเพื่อสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจของบริษัทฯ รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ บมจ. ทีวี ธันเดอร์ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านผู้ผลิตคอนเทนต์และผลิตรายการทีวีภายใต้มาตรฐานสากล
 
“เชื่อว่า TVT จะได้รับการตอบรับที่ดีในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ ด้วยองค์ประกอบของบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อันยาวนานในการทำธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์และรายการบันเทิง และให้บริการรับจ้างผลิตรายการและจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงธุรกิจบริหารศิลปิน และผลิตและจำหน่ายหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก ประกอบกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ต้องการยกระดับ เพื่อเป็นผู้นำในการผลิตคอนเทนต์ ผลิตรายการ ให้มีมาตรฐานในระดับสากล รวมถึงการต่อยอดธุรกิจ ที่มีการบริหารศิลปิน ซึ่งคาดหวังว่าจะทำให้ธุรกิจของบริษัทมีความน่าสนใจต่อนักลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น” สมภพระบุ
 
ในสมรภูมิการแข่งขันของทีวีดิจิตอล ที่ดูเหมือนจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และผู้ประกอบการจำนวนหลายรายต่างประกาศผลประกอบการขาดทุนในช่วงก่อนหน้า บางทีความเป็นไปของ ทีวี ธันเดอร์ อาจเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการอยู่รอดของผู้ประกอบการที่เน้นผลิตหรือรับจ้างผลิตเนื้อหา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นต้องมีสถานะเป็นเจ้าของช่องดิจิตอลก็เป็นได้