วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นักย่อยสาร จากยากเป็นง่าย

อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นักย่อยสาร จากยากเป็นง่าย

 
ผู้จัดการ 360  ํ นัดหมายกับผู้บริหาร Right Man บริเวณชั้น 2 ของนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นห้องสมุดที่ทำให้เห็นถึงการจัดสรรพื้นที่อย่างชวนให้นั่งอ่านหนังสือได้นานๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อ ผลงานชิ้นเอกของไร้ท์แมน ก่อนเริ่มพูดคุยกัน MD ไร้ท์แมนทำให้เราแปลกใจเมื่อผู้บริหารระดับสูงมายืนปรับมุมของแสงไฟที่ติดเพดาน เพื่อเพิ่มความสว่างให้บริเวณที่ใช้พูดคุย
 
อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการผู้จัดการ บ.ไร้ท์แมน จำกัด ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ทำให้ไร้ท์แมนกลายเป็นผู้บุกเบิกการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างพิพิธภัณฑ์ จนกลายเป็นรูปแบบการพัฒนาพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ที่เรียกว่า พิพิธภัณฑ์มีชีวิต “Trend ใหม่ของกระแสโลก การเรียนรู้ของคนในยุคสมัยใหม่ ทุกคนสามารถหาข้อมูลได้ง่ายทั้งจากคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เราจะนำเสนอแต่ตัวหนังสืออย่างเดียวคงจะไม่ได้แล้ว” ผู้บริหารไร้ท์แมนอธิบายถึงแนวความคิดด้านเทคโนโลยี ทั้งการนำเสนอข้อมูลในเชิงลึก และรูปแบบการนำเสนอจะต้องมีความน่าสนใจ สร้างจุดขาย เพิ่มแรงดึงดูดที่จะทำให้เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ 
 
ศูนย์การเรียนรู้ในระดับโลกที่พัฒนานำหน้าประเทศไทยไปค่อนข้างเยอะ ทำให้ผู้นำไร้ท์แมน ต้องหยิบเอาเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Interactive รวมทั้งมัลติมีเดียอื่นๆ มาสอดแทรกทำให้เนื้อหาเชิงวิชาการไม่เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ 
 
“เราดูแลตั้งแต่ต้นน้ำกระทั่งปลายน้ำ ลูกค้าที่เข้ามาหาเราจะมีแค่ Conceptual หรือ Contents” อุปถัมป์ อธิบายเหตุผลที่ต้องดูแลโปรเจกต์พิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้แม้จะส่งงานด้านโครงสร้างไปแล้ว บรรดาศูนย์การเรียนรู้หรือมิวเซียมจะได้รับความนิยมในช่วงแรกๆ หลังจากเปิดไปไม่นาน ภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี บางที่ไม่ได้รับการดูแลหรือขาดการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ความน่าสนใจลดลงจนไม่สามารถเรียกผู้เข้าชมให้กลับมาได้อีก บริการหลังการขายที่ไร้ท์แมนเสนอตัวให้เจ้าของโครงการในการเข้ามาบริหารจัดการเรื่องประชาสัมพันธ์ การต้อนรับและการให้ข้อมูลของบรรดาเจ้าหน้าที่ รวมถึงการันตีรายได้ การแบ่งส่วนงานหลังได้รับการ Brief คอนเซ็ปต์จากลูกค้า คืองานด้านโครงสร้าง และงานบริหารจัดการ การทำงานไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์ที่มีทั้ง Hardware และ Software เพื่อให้งานรันไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ สร้าง Identity ที่แตกต่างกัน และเซตระบบการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องตามสัญญา
 
คู่แข่งที่น้อยเป็นทุนเดิมบวกกับประสบการณ์ที่มีทำให้ง่ายที่จะต่อสัญญาฉบับใหม่ หรือผูกสัญญาระยะยาว ข้อได้เปรียบที่เต็มกระเป๋า “หลังหมดระยะประกัน เราเองก็ต้องถูกประเมินถึงผลได้ ผลเสีย จากการบริหารงานของเรา บริษัทอื่นก็มีสิทธิเข้ามาเสนองานตรงนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันและสิ่งนี้เองจะทำให้เราต้องพัฒนาตัวเราเองได้ตลอดเวลา” หน่วยงานที่เป็นเจ้าของโปรเจกต์อาจมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าไม่ว่าใครก็ย่อมต้องการสิ่งที่ดีกว่า หรืออย่างน้อยที่สุดก็ขอให้ได้เลือก
 
TK Park อุทยานการเรียนรู้ ที่มีสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าของโครงการ หรือนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ที่มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นเจ้าของโครงการ พิพิธบางลำพู และพิพิธภัณฑ์เหรียญ ก็อยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ แต่น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้รับรู้ว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบก่อสร้างด้านโครงสร้างเป็นผลงานของ บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด “เราให้เกียรติลูกค้า ทุกงานที่เราทำออกมา เราจะไม่ออกสื่อว่าเป็นผลงานของเรา การอยู่เบื้องหลังและภูมิใจกับผลงาน คิดว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ แข่งกับตัวเราเองดีกว่า” ผู้บริหารโลว์โปรไฟล์อธิบาย
 
“TK Park พลุนัดแรก ต่อมากลายเป็นต้นแบบของห้องสมุดมีชีวิต นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ พลุนัดที่สอง ที่จุดประกายการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ขององค์กรอื่นๆ ให้ตามมา” ผู้นำอย่างอุปถัมป์ กับผลงานที่ชวนให้ภูมิใจ เพราะ TK Park เป็นต้นแบบให้เกิดไอเดียการสร้างห้องสมุดมีชีวิตที่หลายจังหวัดมาดูงานและนำไปเป็นแบบอย่างไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง ยังไม่นับรวมศูนย์การเรียนรู้ที่ถือกำเนิดใหม่ภายหลังจากการเปิดตัวนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งหากมองในภาพรวมผู้ที่รับผลประโยชน์ก็หนีไม่พ้นที่จะเข้ามาศึกษาหาข้อมูล นักเรียน นักศึกษา เพราะการที่เจ้าของพิพิธภัณฑ์ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ คิดถึงผลประโยชน์ของตัวเองน้อยเท่าไหร่ ประเทศชาติก็จะได้รับผลประโยชน์มากเท่านั้น 
 
อุปถัมป์ต้องศึกษาทำความเข้าใจงานที่ได้รับจากลูกค้า แม้จะเป็นเรื่องที่ตัวเองไม่เข้าใจ แต่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ถ้าหากไร้ท์แมนไม่เข้าใจ ไม่สามารถแปลโจทย์ได้ การสื่อสารก็คงไม่เกิด
 
“เราเอาจิ๊กซอว์ที่หายไปมาเติมเต็มให้กับผู้เข้าชม เราต้องย่อยสารยากๆ เหล่านี้ให้ง่ายที่จะเรียนรู้ ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย” การหาข้อมูลเชิงลึก แม้เรื่องนั้นจะไม่ได้อยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจว่าอะไรคือหัวใจของข้อมูลที่เราจะนำเสนอ เพราะนั่นคือสาระสำคัญ ซึ่งจะถูกถ่ายทอดออกไปให้ผู้เข้าชมที่มาเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ และกลับออกไปด้วยความรู้สึกที่อิ่มเอมใจ
 
พิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ หากคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้แต่ลืมที่จะภูมิใจ ถ้าไม่รู้สึกภูมิใจก็ไม่เกิดความต้องการที่จะรักษา สักวันเราอาจถูกวัฒนธรรมของชนชาติอื่นกลืนกินความเป็นไทยไปหมด “ศูนย์การเรียนรู้เป็น Knowledge ถ้าประเทศไทยมีศูนย์การเรียนรู้เยอะ ก็สามารถสะท้อน Knowledge ของประเทศชาติ และยกระดับประเทศนั้นๆ ด้วย” 
 
การต่อยอดทางความคิด แม้บางครั้งจะไม่อาจต่อยอดตัวเลขในบัญชีให้สูงขึ้น แต่การเป็นผู้จุดประกายการคิดนอกกรอบ ก็ช่วยต่อยอดการพัฒนาศักยภาพทางความคิดของผู้คนได้
 
Relate Story