วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Entrepreneurship > SMEs > นีโอ สุกี้ ทำธุรกิจ สู้ยิบตา

นีโอ สุกี้ ทำธุรกิจ สู้ยิบตา

หากเอ่ยถึงสุกี้ ในใจคนไทยคงมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่ติดตลาดในขณะนี้ และอยู่ในแทบทุกห้าง ในขณะที่นีโอ สุกี้ แม้จะก่อกำเนิดมา 10 กว่าปี แต่ชื่อเสียงเรียงนามต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้จักด้วยซ้ำ แต่สามารถไปเปิดตลาดใน AEC

นีโอ สุกี้ เป็นแบรนด์สินค้าที่ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัท นีโอ สุกี้ ไทยเรสเทอรองส์ จำกัด เมื่อปี 2542 เพื่อให้บริการอาหารสุกี้ในรสชาติที่หลากหลาย มีสาขาที่เปิดใน ประเทศไทยในขณะนี้เพียง 7 แห่ง และในต่างประเทศอีก 5 แห่งเท่านั้น

ปริมาณสาขาที่มีไม่มากและไม่สามารถเข้าไปเปิดในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรือห้างโมเดิรน์เทรดได้นั้นเป็นเพราะพื้นที่ดังกล่าวถูกยักษ์ใหญ่อย่างเอ็มเคยึดครองไปเกือบทั้งหมด ซึ่งมีสาขามากกว่า 1 พันแห่ง

อุปสรรคที่นีโอ สุกี้ประสบอยู่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งที่บริษัทพยายามหาจุดขายให้กับตัวเอง เพราะเส้นทางของบริษัทตั้งแต่ก่อนเริ่มทำธุรกิจเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคมากมาย

สกนธ์ กัปปิยจรรยา รองประธาน บริษัท นีโอ สุกี้ ไทยเรสเทอรองส์ จำกัด เจ้าของธุรกิจเล่าให้ผู้จัดการ 360 ํ ฟังว่า แนวคิดเริ่มต้นทำธุรกิจเกิดก่อนที่จะมีนีโอ สุกี้ เขาได้ไปซื้อแฟรนไชส์อินเตอร์ สุกี้ บริหารโดยกลุ่มซีพี แต่ได้เลิกกิจการไปเมื่อ 10 ปี เนื่องจากไม่สามารถดูแลให้ทั่วถึง

ในตอนนั้นบริษัทฯ เปิดให้บริการแฟรนไชส์ได้เพียง 2 ปี สาขาบางนา ก็เลย ต้องปิดตัวไป แต่ด้วยใจรักในการให้บริการ จึงได้เปิดร้านสุกี้ ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ชื่อว่า “นีโอ สุกี้” (Neo Suki) คำว่า Neo มาจากภาษาละติน หมายถึงทางเลือกใหม่ และในตอนนั้นเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ 5 แห่ง เช่น แจ้งวัฒนะ, พระประแดง, เทพารักษ์, ประชาอุทิศ, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

พื้นที่เปิดให้บริการจะอยู่นอกห้างสรรพสินค้า และบริเวณพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ เพราะเจตนารมณ์ต้องการสร้างทางเลือกให้กับลูกค้า ราคาไม่แพง แต่ด้วยพื้นที่ (location) ตั้งอยู่บริเวณรอบนอกกรุงเทพฯ ร้านค้ามีลูกค้าไม่มากทำให้ไม่สามารถแบกภาระต้นทุนได้จึงต้องปิดร้านในที่สุด

สกนธ์จึงเรียนรู้ว่าร้านอาหารจะขายได้หรือไม่ โลเกชั่น มีส่วนสำคัญอย่างมาก มีผลต่อธุรกิจว่าจะไปรอดหรือไม่ แม้บริษัทจะปิดร้านไปแล้วก็ตาม

แต่เขาก็ลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งพร้อมกับจุดขายใหม่ โดยส่งให้บริการถึงบ้านลูกค้า มีจุดรับ-ส่งสินค้า 12 แห่ง พร้อมกับเปิดร้านใหม่อีกครั้ง และเลือกพื้นที่ในเมืองที่มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก เช่น ทองหล่อ จรัญสนิทวงศ์ สวนมะลิ และตรอกจันทร์

“ผมขายสุกี้พร้อมหม้อ และให้บริการผ่านคอลเซ็นเตอร์ ยังจำได้ว่าให้บริการผ่านเพจเจอร์ฮัทชิสัน”

การลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง สกนธ์หวังว่า ธุรกิจจะสร้างรายได้แต่ก็ต้องผิดหวังซ้ำอีก เพราะปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาใหม่ ไม่มีลูกค้าสั่งสุกี้ในวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี ส่วนเสาร์และอาทิตย์บริการส่งช้า 2 ชั่วโมง จึงทำให้บริษัทฯ ต้องปิดสาขา เหลือเพียงสาขาอนุสาวรีชัย และคอลเซ็นเตอร์ต้องปิด ทั้งหมด ในตอนนั้นต้องยอมรับว่ากัดฟันสู้ถึง 2 ปี

แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จในประเทศ บริษัทฯ จึงหันไปลงทุนในต่างประเทศ เปิด ในประเทศญี่ปุ่น โดยไปในรูปแบบร่วมทุน ในตอนนั้นไปมองหาธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกับกรมส่งออก และกิจการค่อนข้างไปได้ดี แต่ก็จำเป็นต้องปิดตัวในที่สุด เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายห้ามดื่มสุรา ขับรถ จึงทำให้บรรยากาศเงียบเหงา ลูกค้าลดลงเรื่อยๆ

แม้แต่ในตลาดเมืองจีน บริษัทฯ ก็เคยไปลงทุน แต่ยอมรับว่าต้องเจ็บตัวกลับ มา จนมีสื่อมวลชนบางรายพูดว่า “จอมยุทธ์ ย่อมมีบาดแผล”

ตลอดระยะที่ผ่านมาการทำธุรกิจเปิดๆ ปิดๆ ตลอด โชคดียังเหลือสาขาอีก 1 แห่งคือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่ยังพอไปได้ และบริษัทฯ ไม่ต้องการปิดบริษัทเพราะเป็นห่วงพนักงาน ดังนั้นจึงหันไปผลิตน้ำจิ้ม สุกี้ แต่ก็ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เนื่องจากเป็น แบรนด์ใหม่ ลูกค้าไม่ยอมรับแบรนด์สินค้า บริษัทฯ ต้องเปิดบูธที่เมืองทองธานี ยืนขาย น้ำจิ้มและให้ลูกค้าทดลองชิมควบคู่กันไป

ห้างสรรพสินค้าเริ่มเปิดโอกาสให้นำสินค้าไปวางขายบนชั้นสินค้าได้ เช่น โลตัส คาร์ฟูร์ บิ๊กซี ในช่วง 6 เดือนแรกที่นำน้ำจิ้มสุกี้ไปวาง สินค้าขายแทบไม่ได้ บริษัทฯ ต้องไปเก็บคืนมาเพราะสินค้าจะหมดอายุ แต่หลังจากปรับตัวได้ บริษัทฯ เริ่มทำรายการส่งเสริมการขาย เช่น ซื้อ 1 แถม 1 และคิดค้นสูตรใหม่ๆ ผลิตน้ำจิ้มให้หลากหลายมากขึ้น เช่น น้ำจิ้มสุกี้สูตรเต้าหู้ยี้ สูตรกวางตุ้ง สูตรต้มยำ สูตรหมูกระทะ สูตรซีฟู้ด ปัจจุบันมียอดขายจากน้ำจิ้มเพียงอย่างเดียว 50 ล้านบาทต่อปี

ส่วนธุรกิจร้านสุกี้ ดูเหมือนว่าสกนธ์ ก็ยังไม่ยอมแพ้ พร้อมกับพยายามคิดค้นสูตรใหม่ๆ เพื่อสร้างรสชาติทางเลือกให้ลูกค้า ภายใต้แนวคิด “นีโอสุกี้ สุกี้นานา ชาติ อร่อยถูกใจกับน้ำจิ้มหลากหลาย”

ภายใต้แนวคิดดังกล่าว บริษัทได้แตกย่อยเมนูอาหารออกเป็น 6 ชุด เช่น ชุดกวางตุ้ง ชุดไหหลำ ชุดชาบู ชุดไต้หวัน ชุดแต๋จิ๋ว และมีจานพิเศษสำหรับคนชอบรับประทานเนื้อจะมีโคขุนกำแพงแสน และสร้างจุดเด่นของเมนูที่คิดค้นขึ้นเอง เช่น เนื้อปลาก้อน

นอกเหนือจากอาหารชุดเมนูแล้ว ยังผลิตน้ำจิ้มอีก 7 ชนิด เพิ่มจากที่จำหน่าย ในห้างอยู่แล้วอีก 2 ชนิด เช่น สูตรโบราณ สูตรซีอิ๊วพิเศษ และยังมีน้ำซุปให้เลือกอีก 3 แบบคือ น้ำซุปไก่ ซุปต้มยำ และซุปชาบู

การคิดค้นพัฒนาสูตรใหม่ๆ และเลือกวัตถุดิบแตกต่างทำให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีร้านทั้งหมด 7 แห่ง เป็นของบริษัท 4 แห่ง และขายแฟรนไชส์อีก 3 แห่ง โดยพื้นที่เปิด ให้บริการ เช่น ศูนย์การค้า Pure Place ใกล้หมู่บ้านสัมมากร รามคำแหง, ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัย, ศูนย์การค้า พันธ์ทิพย์พลาซ่า สาขางามวงศ์วาน, @Park Lotus Community Mall ทาวน์อิน ทาวน์, ศูนย์การค้า Super Cheap ภูเก็ต, ห้างโลตัส นาดี อุดรธานี, มีโชค พลาซ่า เชียงใหม่

ด้วยจำนวนสาขาไม่มาก บริษัทจึงไม่เลือกใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์ เนื่องจากไม่คุ้มค่า แต่แข่งขันด้วยรสชาติ วัตถุดิบของ อาหารและราคาที่ถูกกว่าสุกี้รายใหญ่ โดยราคาเฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 200 บาท เพื่อให้ลูกค้าบอกปากต่อปาก

“ข้าวที่ขายในร้าน เราก็สั่งมาจากทางภาคเหนือ หรือลูกชิ้นทรงเครื่องจากปลากรายคุณภาพจากบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ หรือเนื้อโคขุน เราก็สั่งเป็นพิเศษ ส่วนน้ำจิ้มเราคิดค้นขึ้นเอง โดยปรึกษาร่วม กับ สวทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สิ่งที่สร้างความแตกต่างทั้งหมดเพื่อให้ลูกค้า รู้สึกเหมือนรับประทานอาหารอยู่ที่บ้าน”

หลังจากสั่งสมประสบการณ์ได้มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง บริษัทจึงเริ่มขยายสาขา ไปต่างประเทศ เพราะการขยายในประเทศ มีข้อจำกัดด้านโลเกชั่น ปัจจุบันบริษัทฯ เปิดร้าน 5 แห่ง เช่น Classic Hotel กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา Big-C เมืองด่องใน และ หน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เมืองด่องใน ประเทศเวียดนาม เซ็นเตอร์ พอยท์ เวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งการลงทุนธุรกิจค่อนข้างไปได้ดีและมองหาโอกาสลงทุนเพิ่มเติม

ธุรกิจนีโอ สุกี้ดูเหมือนจะราบรื่นและไปได้ดี แต่ก็ต้องประสบปัญหาเหนือความคาดหมายเมื่อร้านบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถูกเผาจากเหตุการณ์การเมือง ทำให้เสียหายไป 6-7 ล้านบาท และซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น ไม่ได้รับชดเชยจากบริษัทประกันภัย เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ก่อการร้าย เหตุการณ์ในครั้งนั้นบริษัทฯ ต้องกู้เงิน จากธนาคารกรุงเทพจำนวน 5 ล้านบาทมาซ่อมปรับปรุงใหม่

ปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจของสกนธ์เกิดจากหลายๆ อย่าง ขาดความ เชี่ยวชาญทำธุรกิจด้านอาหารสุกี้ในช่วงเวลาเริ่มต้น หรือกฎระเบียบเงื่อนไขที่ไม่สามารถควบคุมได้ในการลงทุนในต่างประเทศ น่าจะเป็นเหตุผลให้สกนธ์เลิกทำธุรกิจได้ไม่ยาก แต่เขาก็สู้ต่อและกล่าวประโยคหนึ่งว่า “ใจต้องดามด้วยเหล็ก”

ไม่ว่าจะมีเมฆหมอกรออยู่เบื้องหน้า หรือไม่ แต่สกนธ์ก็มีแผนธุรกิจจะสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา เขาเรียกว่าเป็น Fighting brand เป็นเมนูหมูตุ๋นหม้อไฟ พร้อมกับน้ำจิ้มรสแซ่บ ขายเป็นชุดสำหรับรับประทานเพียงคนเดียว ในราคา 89 บาท ตามแผนที่กำหนดไว้จะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคมนี้

โมเดลการทำอาหารจานเดียวเกิดจากการได้ไปศึกษารูปแบบจากประเทศญี่ปุ่น จีน ที่ขายเส้นหมี่อูด้ง หรือราเมง

โดยร้านที่เปิดเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มซีพีที่มีนโยบายเปิดศูนย์อาหาร โดยจะเปิดให้บริการในตึกศรีนครินทร์ ซึ่งโลเกชั่นของร้านจะเปิดตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และตึกทำงาน เพราะมองว่าแนวโน้มการรับประทานอาหารของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ จะเปลี่ยนพฤติกรรม จะนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านและพร้อมรับประทานได้ทันที เพราะในสังคมที่รีบเร่งทำให้ไม่มีเวลา มาปรุงอาหารรับประทานเอง ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน และมีค่าใช้จ่ายมากกว่า

ในขณะที่ร้านอาหารก็ต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีมาให้บริการมากขึ้น และใช้พนักงานน้อยลง เนื่องจากในอนาคตจะมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน และแรงงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนทำธุรกิจสูงขึ้น เหมือนเช่นร้านนีโอ สุกี้ในปัจจุบันต้องจ่ายค่าแรงมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ 300 บาท แต่บริษัทฯ จ่าย 320 บาท เพื่อเป็น แรงจูงใจให้พนักงาน

ในฐานะผู้ประกอบการ SME ที่มีทั้งเงินทุนและทางเลือกน้อยกว่าผู้ประกอบ การรายใหญ่ไม่ได้ทำให้สกนธ์ท้อแท้ เพราะเขารู้ดีว่าการทำธุรกิจรายเล็กต้องอาศัยความอดทน และอย่าคิดว่าทำงานเหนื่อย เพียงแต่แบ่งเวลาให้ถูกต้อง เหมือนสกนธ์ เขาต้องเดินทางตลอดทั้งอาทิตย์ เพื่อเข้าไป ดูแลสาขาในต่างจังหวัด เช่น จันทร์ อังคาร พุธ ดูแลในกรุงเทพฯ ส่วนพฤหัสบดี ศุกร์ และเสาร์ ดูแลธุรกิจในต่างจังหวัด สำหรับ วันอาทิตย์จะพักผ่อนและออกกำลังกาย

ส่วนหลักการทำธุรกิจที่ยึดถือเสมอ ก็คือ ซื่อสัตย์ รักษาเครดิต ต้องจ่ายหนี้ให้ ตรงเวลา ส่วนนักธุรกิจบางคนกรณีมีหนี้สิน มักจะพูดเสมอว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” เขามองว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง หรือหากจะทำเช่นนั้นก็ทำได้เพียงครั้งเดียว

การบริหารจัดการด้วยใจที่สงบนิ่ง และพร้อมรับปัญหาเพื่อแก้ไขเกิดจากการ เรียนรู้การทำงานมาทั้งชีวิตของสกนธ์ และอีกส่วนหนึ่งคือไปรักษาศีล 8 ปีละ 2 ครั้ง เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ให้กับตัวเอง

“การทำงานต่างกับสมัยก่อนต้องได้ อะไรที่ไม่ได้ ไม่ได้ แต่ตอนนี้ ไม่เป็นไร ช่างมัน ทำอย่างเพียงพอ”

นีโอ สุกี้เป็นเพียงธุรกิจส่วนหนึ่งของ ครอบครัว เพราะเขายังมีธุรกิจโลจิสติกส์ ที่เป็นธุรกิจหลักอีกอันหนึ่ง เขามองว่าต่อไป จะเป็นหัวใจของประเทศไทยในการรองรับ การค้ากับกลุ่มอาเซียน (AEC)

โอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ย่อมมีอยู่เสมอขึ้นอยู่กับว่าเถ้าแก่เหล่านั้นจะมีหัวใจดามด้วยเหล็กเฉกเช่น สกนธ์ กัปปิยจรรยา หรือไม่