วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > “ปัญญาภิวัฒน์” โรงงานผลิต “คน” ของเครือซีพี

“ปัญญาภิวัฒน์” โรงงานผลิต “คน” ของเครือซีพี

 

ความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มว่าจะมีอายุสั้นลง สถาบันการศึกษาจึงมีหน้าที่พัฒนาบุคลากร สอนให้ “คน” เป็น “คนที่ทำงานได้”

“รับซาลาเปา ขนมจีบ เพิ่มไหมคะ” น้องฝึกงานวัยละอ่อนในร้าน 7-11 กล่าวก่อนรับเงินจากลูกค้า

ปัจจุบัน “น้องเทียน” เป็นนักศึกษาปี 3 จากคณะบริหารธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เธอเคยฝึกงานในร้าน 7-11 เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงปี 1 เช่นเดียวกับนักศึกษาทุกคณะ เพราะนี่คือกฎกติกาของสถาบันแห่งนี้

ขณะที่ปี 2 คณะอื่นอาจเริ่มแยกย้ายไปฝึกในหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิชาเรียนในองค์กรต่างๆ ของเครือซีพี
 
น้องเทียนยังคงได้ฝึกงานที่ร้าน 7-11 อีกเช่นเคย เพราะเธอเลือกเรียนสาขาการจัดการธุรกิจค้าปลีก ส่วนปี 3 เธอก็ยังคงต้องฝึกงานในร้าน 7-11 แต่ในฐานะนักเรียนที่พร้อมจะก้าวไปสู่ระดับผู้จัดการร้าน ก่อนที่จะแยกย้ายไปฝึกงานในส่วนสำนักงานในองค์กรของซีพีออลล์
 
“นี่อาจจะถือเป็นจุดอ่อนของเรา เพราะบางคนเห็นว่า ต้องฝึกงานในร้าน 7-11 ก็หันหลังไม่อยากมาเรียน หรือผู้ปกครองบางคนเห็นลูกต้องฝึกงานที่ร้าน ก็คิดว่าจบมาต้องทำงานที่นี่ เราก็พูดเรื่อยๆ ว่ามันไม่ใช่ แต่ ร้าน 7-11 เป็นจุดผ่านหนึ่งและสถานที่เรียนรู้แบบ “สหวิชา” ก็ว่าได้”
 
พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ยอมรับว่า นี่ถือเป็นปัญหาที่ PIM ต้องแก้ไข เพราะเด็กและผู้ปกครองหลายคนยังคงติดภาพว่า จบสถาบันแห่งนี้แล้วต้องทำงานหน้าร้าน 7-11 เสมอไป
 
สำหรับแรงจูงใจที่ทำให้น้องเทียนเลือกเรียนสถาบันแห่งนี้ คล้ายกับนักศึกษาอีกหลายคน คือ เพราะคำโฆษณาที่ว่า “มีงานให้ทำ มีเงินให้ใช้ มีทุนให้เรียน จบมามีงานทำ” โดยเฉพาะงานที่ว่า หมายถึง โอกาสการเข้าทำงานกับองค์กรในเครือซีพี 
 
หลังจากผ่านการเรียนรู้ระบบงานขององค์กรซีพีผ่านการฝึกงานในร้าน 7-11 มา 2 ปี “น้องเทียน” ยิ่งมั่นใจว่า ประสบการณ์นี้จะเป็น “ใบเบิกทางที่ดี” ให้เธอได้เข้าทำงานในส่วนสำนักงานของซีพีได้เหมือนรุ่นพี่ ขณะที่ผู้สมัครงานจากมหาวิทยาลัยอื่นหลายๆ คนอาจไม่ได้โอกาสตรงนี้
 
ปัจจุบัน PIM มีบัณฑิตจบมาแล้ว 3 รุ่น โดย 2 รุ่นแรก ทั้งหมดได้รับการบรรจุเข้าทำงานในกลุ่มซีพีออลล์ ซึ่ง 2 รุ่นแรกยังมีแต่คณะบริหารธุรกิจ อันประกอบด้วย 3 สาขา ได้แก่ การจัดการธุรกิจค้าปลีก จำนวนกว่า 400 คน การจัดการโลจิสติกส์กว่า 70 คน และที่เหลือเป็นสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร รวมทั้งสิ้น 534 คน 
 
สำหรับบัณฑิตรุ่นที่ 3 ซึ่งมีด้วยกัน 3 คณะ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ, คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี, และคณะศิลปศาสตร์ จำนวนทั้งสิ้น 412 คน ส่วนใหญ่เข้าทำงานในกลุ่มซีพีออลล์ อาทิ ร้าน 7-11 ทั้งส่วนสำนักงานและหน้าร้าน, ปัญญธารา, ซีพีแรม (ผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประทานและเบเกอรี่), บริษัท โกซอฟท์ (บริษัทด้านระบบสารสนเทศและการพัฒนาองค์กร) และบริษัทในเครือซีพีเอฟ ขณะที่บางส่วนได้ทำงานภายนอกกลุ่ม เช่น คิงพาวเวอร์ เป็นต้น
 
ขณะที่บัณฑิตในรุ่นที่ 4 คาดว่าจะจบออกมาราว 700 คน ปัจจุบัน PIM รับนักศึกษาเป็นรุ่นที่ 7 (ปีการศึกษา 2556) มีทั้งสิ้นราว 2,600 กว่าคน โดยสถาบันเคยคาดการณ์ไว้ว่า จะมีนักศึกษาเข้าเรียนเกิน 1 หมื่นคน ในปีการศึกษา 2559 หรือปีที่ 10 ของสถาบัน ซึ่งอาจจะไม่ง่ายนัก เพราะผ่านมาครึ่งทางแล้ว แต่ดูเหมือน PIM ยังห่างเป้าอยู่อีกไกล
 
“สถาบันสอนปริญญาตรี ถ้าเปิดใหม่ คนที่จะมาเรียนต้องวางใจแน่นอน 100% เพราะคนที่มาเรียนต้องใช้เวลา 4 ปี ถ้าเขาคิดว่าเขามาผิดที่ก็เสียเวลาไปอย่างน้อย 1 ปี ฉะนั้นสังคมก็ต้องค่อยๆ รู้จักแล้วค่อยๆ วางใจ และค่อยๆ ยอมรับระบบการเรียนอย่างเรา”
 
แม้ขณะก่อตั้ง PIM กลุ่มซีพีจะมีอายุกว่า 80 ปี แต่ก็ไม่ใช่แรงดึงดูดที่มีพลังมากนักสำหรับสถานะ “มหาวิทยาลัย” ด้วยเหตุนี้ ในช่วงแรกจนถึงวันนี้ ซีพีจึงใช้ “พลังทุน” มอบทุนการศึกษาให้กับเด็กที่การเรียนพอใช้ และเข้าใจระบบการเรียนแบบ PIM คือ เรียนไป ฝึกงานในร้าน 7-11 และเครือซีพีไปด้วย โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องทำงานใช้ทุนในเครือซีพีอย่างน้อย 2 ปี หลังเรียนจบ ซึ่งเงื่อนไขนี้ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้นักศึกษาหลายคนอยากเรียนและสมัครเข้ามาขอทุนที่นี่
 
จากยุคแรกที่ยังไม่มีคนรู้สึกสถาบันการศึกษาแห่งนี้ดีพอ ประกอบกับคนเริ่มเข้าใจระบบการเรียนของ PIM มากขึ้น ทำให้กลยุทธ์ดึงดูดนักเรียนในช่วงหลังเริ่มเปลี่ยนไป จากจุดเด่นในเรื่อง “เรียนฟรี” มาเป็นจุดขายในเรื่อง “จบปุ๊บมีงานทำปั๊บ” ทั้งนี้เพราะเกือบทุกคณะที่เปิดขึ้นมา ล้วนแต่สาขาอาชีพที่เครือซีพีมีความต้องการกำลังพลอยู่ ไม่มากก็น้อย
 
โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ที่มูลค่าตลาดสูงเป็นหลักแสนล้านบาท ซึ่งบุคลากรถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ และยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นไปตามแนวโน้มการเติบโตของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมๆ กับการแข่งขันที่นับวันจะทวีความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ   
 
ว่ากันว่า กลุ่มซีพีถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานบุคลากรมากที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศ เฉพาะแค่กลุ่ม CP 7-11 ซึ่งมีอยู่ไม่ต่ำกกว่า 7,000 สาขา นั่นหมายถึง กำลังคนไม่น้อยกว่า 70,000 คน (เฉลี่ยร้านละ 10 คน) และยิ่งซีพีออลล์ตั้งเป้าจะขยายสาขาให้ได้ 1 หมื่นสาขาในปี 2561 ย่อมหมายถึง กำลังพลที่ต้องเข้ามาเสริมอีกหลายหมื่นคน
 
นอกจากการหากำลังคนจำนวนมากมาเสริมทัพจะเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายแล้ว การหาบุคลากรที่ตอบโจทย์คือ เข้าใจงานและสามารถทำงานได้ทันที นั้นเป็นเรื่องที่ยากที่สุด อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาแรงงานเข้าออกอยู่เป็นประจำเพราะพนักงานไม่มีความผูกพันลึกซึ้งกับองค์กร
  
เชื่อว่านี่โจทย์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ซีพีออลล์ได้มองไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว หลังจากประสบปัญหาจำนวนบุคลากรไม่พอกับอัตราการขยายร้านในทศวรรษก่อนหน้านี้ นี่จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “โรงงานผลิตคนทางด้านค้าปลีก” ของซีพี
 
โครงการแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2536 โดยซีพีร่วมกับกรมอาชีวศึกษา ให้นักศึกษาสามารถเรียนหนังสือควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงานในร้าน 7-11 พร้อมทั้งยังถือเป็นหน่วยกิตในวิชาฝึกปฏิบัติงาน แต่การดำเนินลักษณะนี้กลับมีข้อจำกัดในเรื่องของหลักสูตรในโรงเรียนที่มีหลายสาขาวิชาจนมากเกินไปสำหรับนักเรียน
 
นำมาสู่โครงการที่ 2 ในปี 2547 เมื่อซีพีได้เข้าดำเนินธุรกิจการศึกษาเอง โดยได้ซื้อกิจการของโรงเรียนกรุงเทพเทคนิคนนท์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ปัญญาภิวัฒน์ เทคโนธุรกิจ” และได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาว่าด้วยธุรกิจค้าปลีกเพื่อผลิตบุคคลการป้อนบริษัทในเครือซีพีหลายบริษัท ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชื่อ “วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์” หรือ PIT
 
“หัวใจสำคัญของธุรกิจค้าปลีก คือ พนักงานบริการ และการแข่งขันในอนาคตไม่ใช่ที่สินค้าหรือบริการ แต่แข่งกันที่ใครมีคนเก่งกว่ากัน” ซึ่งนี่อาจเป็นนัยความหมายที่เด่นชัดของปัญญาภิวัฒน์ต่อกลุ่มซีพีออลล์
 
เมื่อสถาบันสามารถจะ “ผลิตคน” ในระดับอาชีวศึกษา กลุ่มซีพีออลล์จึงเล็งเห็นว่าควรพัฒนาไปอีกขั้น ด้วยการวางหลักสูตรในระดับปริญญาตรีและโท ประกอบกับแนวโน้มความต้องการกำลังคนของทั้งองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงที่ต้องการได้บุคลากรที่ “ตอบโจทย์” เป้าหมายการเติบโตขององค์กรได้ทันที ซีพีออลล์จึงได้ก่อตั้ง PIM ขึ้นในปี 2550
 
“ที่ผ่านมา ซีพีออลล์ประสบปัญหาไม่ต่างจากองค์กรธุรกิจรายอื่น โดยพบว่าเมื่อพนักงานเข้ามาทำงานไม่นานก็ลาออก คนที่จบปริญญาตรีมาใหม่ก็ต้องมาฝึกฝน จึงเชื่อว่าการทำงานพร้อมกับการเรียนจะทำให้มีประสบการณ์ทำงานที่ดีกว่าและมีวุฒิภาวะ บวกกับความต้องการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตและเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ”
 
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด(มหาชน)  ยอมรับว่า PIM ไม่เพียงช่วยประหยัดเวลาในการฝึกคน ยังทำให้เด็กเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรซีพีได้เป็นอย่างดี เพราะอย่างน้อยทุกคนต้องได้เรียน “หลักสูตรเรียนรู้วัฒนองค์กรซีพแบบเร่งรัด” ผ่านร้าน 7-11 นอกจากนี้ ระยะเวลา 4 ปี ยังนานพอที่จะหล่อหลอมจนผู้เรียนจะเกิดความจงรักภักดีต่อองค์กรไปด้วยในตัว ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแนวโน้มจะได้เครือข่ายเพิ่มขึ้น เพราะมีบัณฑิตและนักศึกษาไม่น้อยที่แสดงความสนใจจะก้าวขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับซีพี ในฐานะแฟรนไซซีในอนาคต 
 
ขณะที่คณะบริหารธุรกิจของ PIM ที่มีหน้าที่พัฒนาบุคลากรระดับผู้บริหารและผู้จัดการป้อนเข้าสู่กลุ่มธุรกิจค้าปลีก คณะบริหารธุรกิจของ PIT ถือเป็นอีกหน่วยสำคัญที่ส่งพนักงานเข้าร้าน 7-11 ในระดับปฏิบัติการซึ่งมีแนวโน้มความต้องการค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาจากเป้า 1 หมื่นสาขาในอีกไม่ถึง 5 ปี
 
พรวิทย์ ยอมรับว่า การเลือกที่จะสร้างบุคลากรในสาขาวิชาชีพใด สถาบันจะเลือกตามแนวโน้มความต้องการของตลาด และแนวทางในการผลิตบุคลากรจะเป็นไปตามลักษณะที่ “ผู้ประกอบการ” หรือ “นายจ้าง” ในอนาคต น่าจะมีความต้องการ ซึ่ง “นายจ้าง” อันดับแรกที่ PIM ต้องตอบสนองคือ กลุ่มองค์กรซีพี
 
นี่เป็นเหตุผลให้ PIM มีการต่อยอดจากหลักสูตรบริหารธุรกิจใน 3 สาขาวิชาที่ซีพีออลล์มีความต้องการกำลังคน ไปสู่หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้ในองค์กรซีพี รวมถึงหลักสูตรศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีน ซึ่งซีพีมีการขยายงานไปจีนอย่างมากในช่วงหลัง จนถึงล่าสุด คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร เพื่อผลิตบุคลากรระดับนักจัดการมาตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร  
 
และในปีนี้ PIM มีแผนจะเปิดหลักสูตรศึกษาศาสตร์ เพื่อผลิตครูผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสร้างการเรียนรู้ เพื่อตอบหน่วยองค์กรของตน ส่วนปีหน้า มีแผนจะเปิดหลักสูตรการบริหารจัดการโรงแรม การท่องเที่ยว และการบิน ซึ่งวัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้ อ.พรวิทย์มองว่า เพื่อตอบสนองการเติบโตทางการท่องเที่ยวและ “ดีมานด์” ของประเทศอย่างแท้จริง โดยอาจารย์ก็ตอบไม่ได้ว่า ในอนาคต ผู้บริหารระดับสูงจะมีโครงการใดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้หรือไม่
 
ขณะเดียวกัน เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ในปีนี้ PIM ได้เปิดหลักสูตร MBA ภาคภาษาอังกฤษขึ้น เพื่อเตรียมรองรับนักศึกษาจากอาเซียน ขณะที่หลักสูตรปริญญาตรีบริหารธุรกิจภาคภาษาอังกฤษจะเปิดในปีหน้า
 
“ความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มว่าจะมีอายุสั้นลง และล้าสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องคิดก็คือ ทำอย่างไรให้ความรู้นั้นๆ ลึกขึ้น และยาวนานขึ้น ดังนั้น สถาบันการศึกษาจึงมีหน้าที่พัฒนาบุคลากร คือไม่ใช่แค่สอนหนังสือ แต่ต้องสอนให้ “คน” เป็น “คนที่ทำงานได้” นั่นจึงจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง องค์กร และสังคมก็ได้ด้วย”
 
พรวิทย์ ทิ้งท้ายว่า หากมหาวิทยาลัยช่วยกันสร้างบัณฑิตให้เป็น “คนทำงานเป็น” ย่อมจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศได้ พร้อมกับเชิญชวนบริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่มีองค์ความรู้ในที่ทำงานมาก และมีทุนหนาพอ ก็น่าจะมาสร้าง “มหาวิทยาลัยบรรษัท” เช่นเดียวกับ PIM กันให้มากขึ้น
 
เพื่อตอบโจทย์และเป็นหลักประกันว่าตลาดแรงงานไทยจะไม่ตกงาน ซึ่งยังต้องพิสูจน์กันต่อไป