วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > On Globalization > Arab Spring สิ้นมนต์ขลัง

Arab Spring สิ้นมนต์ขลัง

การลุกฮือของประชาชนในโลกอาหรับผ่านไป 1 ปีแล้ว

แต่ประชาธิปไตยกลับยังคงไม่อาจลงหลักปักฐานในโลกอาหรับได้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

 

1 ปีผ่านไปแล้ว สำหรับการลุกฮือของประชาชนในหลายประเทศในโลกอาหรับ ที่เรียกกันว่า Arab Spring ซึ่งเคยทำให้โลกต้องจับตามองภูมิภาคนี้อย่างตื่นเต้น และจินตนาการบรรเจิดว่า จะต้องได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีในโลกอาหรับ แต่มาบัดนี้ ดูเหมือนว่า Arab Spring จะไม่ได้ให้ความหวังที่งดงามเท่าที่คิด ความหวังที่จะเห็นการเกิดใหม่ของเสรีภาพในภูมิภาคตะวันออก กลาง ดูหม่นหมองลงไปมาก เมื่อเทียบกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นซึ่งมีแต่ความยุ่งยากลำบาก โดยเฉพาะในอียิปต์ ซึ่งมีทั้งการทำร้าย ชาวคริสต์ ทำร้ายเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ต่างชาติจากตะวันตก และทำร้ายผู้หญิง ยิ่งเมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอียิปต์กำลัง ใกล้เข้ามาทุกที เราได้เห็นผู้สมัคร 2 คนที่ล้วนแต่มาจากพรรคการ เมืองมุสลิม คือ Khairat al-Shater และ Hazem Salah Abu Ismail โดยคนแรกเป็นพวกสายกลาง ส่วนคนหลังเป็นพวกหัวรุนแรง แม้ว่าสิ่งที่เราเห็นว่ากำลังเกิดขึ้นในโลกอาหรับในขณะนี้ อาจเป็นเพียงความสับสนอลหม่านเพียงชั่วคราว ซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้ หลังจาก การสิ้นสุดยุคเผด็จการที่ครองอำนาจมานานหลายทศวรรษ และการที่เพิ่งผงาดขึ้นมาของพลังที่ถูกกดขี่ไว้มานาน แต่คำถามมีอยู่ว่า ทำไมจึงดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากนักที่ประชาธิปไตยจะลงหลักปักฐานลงในโลกอาหรับ

 

ศาสตราจารย์ Eric Chaney ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐ-ศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Harvard ได้ทำการศึกษาที่อาจช่วยตอบ คำถามข้างต้นได้ Chaney ตั้งคำถามว่า ทำไมจึงเกิด “ประชา ธิปไตยขาดดุล” (democracy deficit) ขึ้นในโลกอาหรับ และได้หักล้างทฤษฎีหลายอย่างที่ไม่ใช่คำตอบของคำถามข้างต้น อย่างเช่น การโทษศาสนาอิสลาม หรือวัฒนธรรมอาหรับ ศาสตราจารย์ Chaney ชี้ว่า ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม อย่างตุรกี อินโดนีเซีย แอลเบเนีย บังกลาเทศ และมาเลเซีย ต่างก็สามารถมีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้ ดังนั้น จึงไม่อาจโทษศาสนาอิสลามหรือวัฒนธรรมมุสลิมแต่เพียงอย่างเดียวได้

 

เขายังได้ศึกษาชาติอาหรับที่ร่ำรวยน้ำมัน พบว่า บางชาติที่มีแหล่งสำรองน้ำมันมหาศาลก็ไม่มีประชาธิปไตย (ซาอุดีอาระเบีย) แต่บางชาติที่ไม่ได้ร่ำรวยน้ำมัน (ซีเรีย) ก็ขาดประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน ส่วนทฤษฎีที่ว่า หรือว่าจะเป็นเพราะวัฒนธรรมอาหรับ ที่เป็นสาเหตุของการขาดดุลประชาธิปไตยในโลกอาหรับ แต่ Chaney ชี้ว่า หลายชาติที่เป็นชาติเพื่อนบ้านของอาหรับ แต่ไม่ได้เป็นอาหรับ ก็มีอาการประชาธิปไตยขาดดุลเช่นเดียวกัน ชาติเหล่านี้ก็อย่างเช่น ชาด อิหร่าน อาเซอร์ไบจัน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน

 

Chaney จึงตั้งสมมุติฐานของเขาขึ้นมาใหม่ โดยอิงกับประวัติศาสตร์ยุคโบราณ และเศรษฐศาสตร์ในยุคสมัยใหม่ว่า สมมุติฐานของเขาคือ เขาพบว่าอาการประชาธิปไตยขาดดุลนั้น มักเกิดขึ้นในดินแดนที่เคยถูกกองทัพอาหรับพิชิตได้ โดยจักรวรรดิ อาหรับได้แผ่ขยายอาณาเขต หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของพระศาสดามูฮัมหมัดแห่งศาสนาอิสลามเมื่อปี ค.ศ.632 และดินแดนซึ่งเคยถูกอาหรับยึดครองในศตวรรษที่ 12 นั้น จนถึงบัดนี้ก็ยังคงไม่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาจนถึงทุกวันนี้ และ Chaney บอกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

 

นักวิชาการหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่ Montesquieu ลงมาจนถึง Bernard Lewis ได้เคยชี้ไว้แล้วว่า มีอะไรบางอย่างในระบบการเมืองของจักรวรรดิอาหรับ ที่ดูเหมือนจะ “วางยาพิษ”  ที่ขัดขวางการสร้างพหุนิยมทางเศรษฐกิจ (economic pluralism) การปกครองโดยจักรวรรดิอาหรับมักจะมีลักษณะของอำนาจทาง การเมืองแบบรวมศูนย์ ภาคประชาสังคมอ่อนแอ มีชนชั้นพ่อค้าที่ต้องคอยพึ่งพิงรัฐ การที่รัฐมีบทบาทอย่างมากในระบบเศรษฐกิจ ของประเทศ Chaney ยังศึกษาพบว่า ในประเทศที่ถูกพิชิตโดยกองทัพอาหรับนั้น รัฐบาลมีสัดส่วนใน GDP สูงกว่าประเทศที่ไม่ได้ถูกยึดครองโดยจักรวรรดิอาหรับประมาณ 7% โดยเฉลี่ย Chaney พบอีกว่า ประเทศที่ถูกยึดครองโดยกองทัพอาหรับ มักจะมีสหภาพ แรงงานน้อยแห่ง และเข้าถึงสินเชื่อได้น้อย ซึ่งแสดงว่าภาคประชา สังคมไม่เข้มแข็ง

 

นอกจากนี้ ประเทศที่เคยถูกอาหรับยึดครองยังขาดภาคส่วนที่อยู่ตรงกลาง เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้นำเผด็จการในภูมิภาคตะวันออกกลางได้สร้างความเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดแนบแน่นกับผู้นำทางศาสนา ทั้งนี้ก็เพื่อจะกีดกันผู้นำอื่นๆ และกลุ่มอื่นๆ ให้ออกไปจากวงจรอำนาจ เมื่อบวกกับภาคประชาสังคมที่อ่อนแออยู่แล้วตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จึงเกิดเป็นระบบการเมืองที่มีเพียงข้างเดียว กล่าวคือพรรคการเมืองที่อิงศาสนานั้นมีความได้เปรียบทั้งในด้านการเป็นผู้นำทางอุดมการณ์ มีความได้เปรียบในความเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง และสิ่งที่อาจจะสำคัญที่สุดคือ การไร้คู่แข่งทางการเมืองไปโดยปริยาย อินโดนีเซียก็มีพรรคการเมืองที่อิงศาสนาหลายพรรคเช่นเดียวกับอียิปต์ แต่ทว่า อินโดนีเซียยังมีกลุ่มอำนาจอื่นๆ อีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้อิงศาสนา มีกลุ่มที่เป็นสายกลาง แม้แต่เป็นพรรคการเมืองที่ไม่อิงกับศาสนาเลย และทุก กลุ่มการเมืองในอินโดนีเซียเหล่านี้ ต่างต้องแข่งขันกันบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในโลกอาหรับ

 

ดังนั้น ปัญหาที่แท้จริงในชาติอาหรับอย่างเช่นอียิปต์ก็คือ กองทัพยังคงพยายามจะรวมศูนย์อำนาจไว้ในมือ ไม่ยอมแบ่งแยก และไม่ยอมให้ตรวจสอบ นอกจากนี้ กองทัพยังรักษาการมีบทบาท หลักในเศรษฐกิจเอาไว้อีกด้วย แม้กระทั่งเมื่อกองทัพของชาติในโลกอาหรับยอมปล่อยเสรีการควบคุมเศรษฐกิจ แต่ก็ยอมปล่อยให้ แก่พรรคพวกเพื่อนฝูงญาติพี่น้องของตนเท่านั้น ดังนั้น ปัญหาใหญ่ ในโลกอาหรับจึงยังคงเป็นการสร้างภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งหมายความว่า พรรคการเมือง และรวมไปถึงภาคธุรกิจเอกชน จะต้องพึ่งตนเองได้และเข้มแข็งด้วย คำว่าประชาสังคมนั้น เป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วง “ยุคสว่างของสกอตแลนด์” (Scottish Enlighten-ment) เพื่อใช้อธิบายกิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจเอกชน เป็นพลังที่เป็นอิสระ และอยู่ระหว่างรัฐบาลกับครัวเรือน แต่ในภูมิภาคตะวัน ออกกลางปัจจุบัน ทั้งรัฐบาลและครัวเรือนต่างเข้มแข็ง แต่ทุกๆ สิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างรัฐบาลกับครัวเรือน ยังคงอยู่ในสภาวะที่ด้อยพัฒนามาก

 

ถึงแม้ว่าการที่โลกอาหรับมีอาการประชาธิปไตยขาดดุล เป็นปัญหาที่มีรากเหง้าย้อนกลับไปถึงประวัติศาสตร์โบราณนับเป็น พันๆ ปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า โลกอาหรับจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ศาสตราจารย์ Chaney ไม่ได้สรุปว่า ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างเช่นวัฒนธรรมหรือศาสนา เป็นรากเหง้าของปัญหาดังกล่าว แต่ประวัติศาสตร์ รวมถึงนิสัยความเคยชินที่ตกทอดมาจากประวัติ ศาสตร์นั้นต่างหาก ที่เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของการหยั่งรากประชา ธิปไตยลงในโลกอาหรับ ถ้าหากว่าโครงสร้างทางการเมืองและการออกแบบสถาบันทางการเมือง คือสิ่งที่ควรถูกกล่าวโทษ ถ้าเช่นนั้น หากทั้ง 2 สิ่งนี้เปลี่ยนแปลงไป สถานการณ์ในโลกอาหรับ ก็ย่อมจะดีขึ้นตามไปด้วย ถึงแม้ว่านี่อาจเป็นละครชุดที่ต้องดูกัน ยาวๆ แต่อย่างน้อยก็ให้รู้ว่า ปัญหานี้ยังมียารักษาได้