วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > BMW ปลั๊กอินไฮบริด บนทางแพร่งของนโยบายรัฐ

BMW ปลั๊กอินไฮบริด บนทางแพร่งของนโยบายรัฐ

 
 
 
การเปิดส่วนขยายสายการประกอบรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ที่โรงงานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากจะสะท้อนศักยภาพและความสำเร็จของ BMW ในการเป็นผู้นำนวัตกรรมการขับขี่ในโลกยนตรกรรมแล้ว 
 
ในอีกมิติหนึ่งยังเป็นการสะท้อนวิสัยทัศน์แห่งการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน และบ่งชี้ถึงบทบาทความสำคัญของโรงงานประกอบรถยนต์ของ BMW ที่จังหวัดระยองแห่งนี้ ต่อการขยายตัวของ BMW ทั้งสำหรับภายในประเทศ รวมถึงการรุกเข้าสู่ตลาดอาเซียนและจีนได้เป็นอย่างดี
 
“ทิศทางของการใช้รถยนต์ที่มีระบบไฟฟ้า (Electrified Vehicle: EV) ในระดับนานาชาติ มีความต้องการสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และเฉพาะในประเทศไทย ก็พบว่ามีศักยภาพในการเติบโตและมีความต้องการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน” สเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ระบุ
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ก่อนหน้าที่ BMW จะเริ่มขยายสายการผลิตรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด BMW ได้ประกาศการลงทุนเพื่อเปิดไลน์การประกอบแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฮบริดเพื่อสนับสนุนแผนการผลิตรถยนต์ในโรงงานแห่งนี้ เมื่อช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดสายการผลิตแบตเตอรี่ได้ในช่วงกลางปี 2561 
 
แบตเตอรี่เป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับรถยนต์ไฮบริดและรถไฟฟ้า การเปิดไลน์การประกอบแบตเตอรี่ในไทย นอกจากจะเป็นการสนับสนุนการผลิตแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการส่งออกจากโรงงานแห่งนี้เช่นกันในอนาคต
 
ตามแผนการลงทุนของ BMW เพื่อเปิดสายการผลิตรถยนต์ไฮบริด ซึ่งเป็นไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศและตลาดส่งออก BMW จะลงทุนเพิ่มประมาณ 1.1 พันล้านบาท 
 
โดยรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด (PHEV) ที่ผลิตที่โรงงานแห่งนี้จะเริ่มจากรุ่น 330e Luxury และ X5 xDrive40e M Sport ซึ่งเป็นรถยนต์ที่สามารถนำสมรรถนะของมอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้งานร่วมกับเครื่องยนต์ได้อย่างคุ้มค่า ช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และสามารถขับขี่ในตัวเมืองได้โดยปราศจากการปล่อยมลภาวะออกจากท่อไอเสีย และมีแผนที่จะขยายการผลิตซีรีส์ 7 ไฮบริดและซีรีส์ 5 ไฮบริด เพิ่มเติมเป็นลำดับถัดไป
 
โรงงานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย นับเป็นโรงงานของ BMW แห่งเดียวในโลก ที่สามารถผลิตรถยนต์ได้ครบทั้ง 3 ยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น BMW MINI และ BMW Motorrad ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะเพิ่มศักยภาพในการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในโรงงานแห่งนี้ จากเดิมที่มีการผลิตรถยนต์ 2 หมื่นคันและรถจักรยานยนต์ 1 หมื่นคัน ให้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว โดยจะมีการย้ายสายการผลิตรถจักรยานยนต์ใหม่ไปไว้ในโรงงานที่ก่อสร้างขึ้นใหม่
 
ทั้งนี้ BMW ประเมินศักยภาพของตลาดรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริดในประเทศไทย ว่ามีแนวโน้มสดใสมาก โดยในปีที่ผ่านมา BMW มีสัดส่วนการขายรถยนต์ในกลุ่มนี้ที่ระดับร้อยละ 5 และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับร้อยละ 15 ได้ในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของตลาดโลก ที่ BMW มีรถยนต์ในกลุ่มนี้ถึง 7 โมเดล
 
แม้ว่าการเปิดสายการผลิตรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริดในครั้งนี้ จะเป็นเครื่องยืนยันความมั่นใจในการลงทุนในระยะยาวของ BMW ที่พร้อมตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มให้ความสนใจและใส่ใจในเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม 
 
ซึ่ง BMW ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการระดับนำในตลาดรถยนต์ Electrified Vehicle ของโลก ด้วยการมีรุ่นรถยนต์ให้เลือกอย่างหลากหลาย และมียอดจำหน่ายรวมสะสมเกินกว่า 1 แสนคันในปีที่ผ่านมา แต่สำหรับตลาดประเทศไทยการมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางของรถยนต์ไฮบริดและรถไฟฟ้าอาจต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากกลไกภาครัฐร่วมด้วย
 
“ทุกอย่างจำเป็นต้องใช้เวลาในการเตรียมการณ์ ซึ่งหากรัฐบาลไทยต้องการที่จะส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ก็จำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จไฟให้มีความพร้อม รวมถึงต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดความต้องการขึ้นก่อน ซึ่งอาจดำเนินผ่านมาตรการทางภาษี เพราะหากปรับลดภาษีให้กับรถยนต์กลุ่มนี้ให้ต่ำลง ความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้าก็น่าจะมีแนวโน้มเติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดโลก”
 
ข้อสังเกตและข้อเสนอของ สเตฟาน ทอยเชอร์ต ไม่ได้เลื่อนลอยอยู่ท่ามกลางสุญญากาศแห่งความคาดหวัง หากแต่สอดรับกับท่วงทำนองของ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ระบุว่า ภาครัฐ มีความต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ 
 
“ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างรอบด้านและครอบคลุม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนข้างหน้านับจากนี้” อุตตม สาวนายนระบุในโอกาสร่วมเปิดสายการประกอบรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด ของ BMW เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
 
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ระบุในนโยบายด้านพลังงานของชาติไว้ว่าจะส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นในภาคขนส่ง และส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลในภาคครัวเรือนส่งเสริมการผลิต การใช้ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
 
พร้อมกับตั้งเป้าหมายให้สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี ทั้งนี้ ให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ส่งเสริมและผลักดันการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มรูปแบบ ควบคู่กับการส่งเสริมกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาดเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนสร้างจิตสำนึกของผู้บริโภคในการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพให้เป็นระบบจริงจังและต่อเนื่อง
 
อย่างไรก็ดี มาตรการที่เป็นรูปธรรมด้านพลังงานของรัฐไทย ดูจะเป็นประเด็นที่สร้างความคลุมเครือมากที่สุดประการหนึ่ง และทำให้ช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต่างร้องหาความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่ไม่น้อย ทั้งในประเด็นว่าด้วยทิศทางและความต่อเนื่องของมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ E85 ไบโอดีเซล NGV ที่ปรากฏขึ้นในอดีตและรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเพิ่มเติมเข้ามา
 
ประเด็นหนึ่งที่อุตตม สาวนายน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยกเป็นเงื่อนไขในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนารถไฟฟ้า นอกเหนือจากปริมาณเม็ดเงินในการลงทุน ยังอยู่ที่การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้ผลิตไทยสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่และกลไกการควบคุมการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนถ่ายพลังงานในเครื่องยนต์
 
แม้ว่าผู้ประกอบการด้านยนตรกรรมจำนวนไม่น้อย รวมถึง BMW จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้ก้าวไปไกลมากแล้ว แต่อนาคตและความนิยมของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเติบโตขึ้นมากน้อยเพียงใด บางทีคำตอบอาจอยู่ที่ความชัดเจนของมาตรการที่จะส่งเสริมจากภาครัฐในห้วงเวลานับจากนี้