วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Cover Story > ปรับโฉม เกษรวิลเลจ แรงกระเพื่อมใหม่ย่านราชประสงค์

ปรับโฉม เกษรวิลเลจ แรงกระเพื่อมใหม่ย่านราชประสงค์

 
 
ศูนย์การค้าเกษร แม้ว่าจะอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ค่อนข้างจะได้เปรียบห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ทั้งเรื่องความสะดวกในการเดินทาง หรือการที่สามารถเชื่อมต่อไปยังโรงแรมระดับหลายดาวกลางเมือง แต่การชุมนุมประท้วงในช่วงหนึ่งส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้แก่ศูนย์การค้าเกษรไม่น้อย
 
ถึงกระนั้นเรายังไม่เห็นการปรับปรุงรูปโฉมแบบเต็มรูปแบบของศูนย์การค้าเกษร แม้ว่าจะเปิดดำเนินกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ.2540 กระทั่งย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 นับเป็นฤกษ์ยามดีที่ทำให้ บริษัท เกษร พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่มีชาญ ศรีวิกรม์ ประธานกรรมการบริหาร นั่งแท่นกุมบังเหียน และนำมาสู่การขยับตัวสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ของเกษรพลาซ่า
 
หลังจากปล่อยให้ศูนย์การค้าเกิดขึ้นรายล้อมและอาจจะเรียกได้ว่าปักหมุดโอบล้อมทำเลโดยรอบศูนย์การค้าเกษร เสมือนการวางหมากดักกลุ่มลูกค้าเอาไว้ที่นอกโซน กระทั่งเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชาญ ศรีวิกรม์ จัดแถลงข่าวเปิดเผยแผนการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของโครงการกลุ่มเกษรในย่านราชประสงค์ทั้งหมด
 
กระนั้นการเดินหมากครั้งนี้ของชาญ ศรีวิกรม์ กลับไม่ได้ทำเพียงปรับโฉมของห้างสรรพสินค้าเกษรพลาซ่า ให้เปลี่ยนไปจากเดิมเพื่อหวังเรียกความเชื่อมั่นจากกลุ่มเป้าหมายให้กลับมาเท่านั้น หากแต่การปรับโฉมครั้งนี้อยู่ภายใต้ชื่อโครงการเกษรวิลเลจ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์การค้าเกษร เกษรทาวเวอร์ อัมรินทร์พลาซ่า อัมรินทร์ทาวเวอร์ พร้อมด้วยงบประมาณการลงทุนรวมกว่า 3 พันล้านบาท 
 
กระนั้นการต่อสู้ฟาดฟันกันบนเวทีแห่งราชประสงค์ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อคู่แข่งที่อยู่รายล้อมมีการเดินหมากและขยับตัวอยู่ตลอดเวลา หากแต่กลุ่มเกษรกลับทำตัวเสมือนยักษ์ใหญ่จำศีล และตื่นขึ้นมาพร้อมสะบัดคราบเก่าทำให้โครงการเกษรวิลเลจ เป็นพื้นที่ของ “Time Well Spent” 
 
โดยชาญ ศรีวิกรม์ อธิบายว่า “กลุ่มเกษร พร๊อพเพอร์ตี้ มุ่งมั่นในการวางรากฐานการสร้างสรรค์นิยามของประสบการณ์ลักซ์ชัวรีไลฟ์สไตล์เหนือระดับบนพื้นที่ของย่านราชประสงค์ และนำเสนอไลฟ์สไตล์ที่เข้ามาเติมเต็มและตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ และเราได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเมืองและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างสถานที่ที่จะมอบประสบการณ์ให้กับทุกคนที่สามารถใช้ชีวิตทุกด้านอย่างมีคุณค่า ทั้งนี้แนวคิดในการพัฒนาและลงทุนในโครงการ Gaysorn Village-เกษรวิลเลจ ไลฟ์สไตล์ เออร์เบินวิลเลจ ใจกลางกรุงครั้งแรกของเมืองไทย และเป็นต้นแบบการพัฒนาไลฟ์สไตล์ คอมมิวนิตี้มอลล์ที่สมบูรณ์แห่งอนาคต ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Time Well Spent’ คุณค่าอยู่ที่การใช้เวลา ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม และการจับจ่ายใช้สอยอย่างน่ารื่นรมย์ และยั่งยืน” 
 
แม้ว่าภาพลักษณ์ของเกษรที่เป็นภาพจำของผู้คนในละแวกนั้น คือการเป็นศูนย์การค้าระดับบน ที่มีสินค้าระดับไฮเอนด์ แบรนด์เนมดัง แม้ว่าจะสามารถจับกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อได้ หากแต่กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อที่แท้จริงนั้นเกษรไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้หมดทุกระดับชั้น 
 
ขณะที่ผู้บริหารโครงการจะพยายามลบภาพจำของ Super Luxury และสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อรองรับสินค้าที่เน้นในเรื่องของดีไซน์ สินค้าแนวไอเดียที่มีรสนิยม และสร้างแรงบันดาลใจ แม้ว่า Flagship Store ของสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำจะยังคงมีอยู่เช่นเดิมเพื่อรักษาฐานของลูกค้าเดิมเอาไว้ แต่จะเพิ่มความหลากหลายเพื่อให้สอดรับกับรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หรือผู้บริโภคระดับกลางที่ยังคงมีกำลังซื้อ
 
และดูเหมือนการปรับรูปโฉมในครั้งนี้จะทำให้พื้นที่ของเกษรวิลเลจกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกันได้ กระนั้นคำถามที่ปรากฏขึ้นหลังจากการปล่อยกิมมิคการ์ตูนที่มีนัยแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของเกษรพลาซ่าที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น กลับไม่ได้สร้างคำตอบที่ตื่นตาตื่นใจได้เท่าใดนัก 
 
กระทั่งการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา รูปแบบการออกแบบทางสถาปัตยกรรมภายนอกของโครงการ เกษรวิลเลจ น่าจะทำให้ใครหลายคนแปลกใจไม่น้อยกับภาพลักษณ์ที่กำลังจะเปลี่ยนไปจากเดิม 
 
แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วการออกแบบสถาปัตยกรรมจะไม่สามารถวัดผลของผู้ใช้บริการได้เท่ากับจำนวนคนเดินเข้าออกและใช้จ่ายผ่านศูนย์การค้าของโครงการ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะได้รับการพูดถึงและกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อผลงานศิลปะกึ่งสถาปัตยกรรม “เกษร โคคูน ที่เชื่อมต่อศูนย์การค้าเกษร และอาคารเกษรทาวเวอร์ให้เป็นหนึ่งเดียว ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรังไหม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่
 
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ที่ถูกนำเสนอออกมาจากผู้บริหารอย่าง ชาญ ศรีวิกรม์ คือการจัดสรรพื้นที่ของโครงการ เกษรวิลเลจ เป็นพื้นที่รีเทล แหล่งชอปปิ้งขนาดใหญ่ที่จะสามารถเชื่อมต่อไปยังเกษรทาวเวอร์ได้ และพื้นที่อาคารสำนักงานที่จะสามารถสร้างศักยภาพในการเป็นสถานที่รองรับธุรกิจ MICE ที่กำลังเติบโตอย่างเต็มที่ในประเทศไทย และ พื้นที่ของ Gaysorn Urban Resort ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบายการท่องเที่ยว 4.0 ของรัฐบาล 
 
ความต้องการของชาญ ที่ว่า “Gaysorn Village เปรียบเสมือนสถานที่ซึ่งคุณสามารถเข้ามาใช้เวลาอย่างมีคุณค่ารวมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ที่ได้รับระหว่างกันและกัน” จะเป็นไปอย่างที่ชาญ ศรีวิกรม์ต้องการหรือไม่ เมื่อโครงการดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2560 คงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดว่า จังหวะการก้าวเดินบนเวทีธุรกิจของกลุ่มเกษร พร๊อพเพอร์ตี้ ที่ช้ากว่าคู่แข่งไปมากมายนั้น จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมบนย่านราชประสงค์ได้ดีเพียงใด 
 
และจะสามารถขึ้นมายืนเทียมเท่าคู่แข่งที่ปักหมุดวางเกมตรึงพื้นที่รอบนอกได้มากแค่ไหนเป็นเรื่องที่น่าติดตาม