วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > On Globalization > การกระทำหรือคำพูดที่อาจเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการโดยไม่รู้ตัว

การกระทำหรือคำพูดที่อาจเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการโดยไม่รู้ตัว

 
 
Column: Women in Wonderland
 
คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในทุกวันนี้ที่ผู้ที่มีร่างกายผิดปกติ หรือมีความพิการทางร่างกายสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ สามารถเดินทางไปในที่ต่างๆ ได้เหมือนคนทั่วไป ในทุกสถานที่ที่พวกเราไป ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ หรือร้านอาหาร จะเห็นได้ว่ามีทางลาดสำหรับผู้ที่มีร่างกายผิดปกติและต้องใช้รถเข็นในสถานที่เหล่านี้ ดังนั้นการเดินทางไปในที่ต่างๆ สำหรับผู้ที่ร่างกายผิดปกติหรือมีความพิการทางร่างกายจึงไม่ใช่เรื่องยากเหมือนเมื่อก่อน
 
ในต่างประเทศผู้ที่มีร่างกายผิดปกติหรือมีความพิการทางร่างกายนั้น สามารถทำทุกอย่างได้เหมือนคนทั่วไป เช่นว่าพวกเขาสามารถขึ้นรถเมล์พร้อมกับรถเข็นได้เหมือนกับคนทั่วไป หรือแม้แต่จะใช้รถไฟใต้ดิน คนเหล่านี้ก็สามารถใช้รถไฟใต้ดินเดินทางไปทำงานได้เหมือนกับคนทั่วไป เพราะระบบขนส่งในต่างประเทศจะมีการทำทางให้รถเข็นสามารถขึ้นลงได้ ทำให้ผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกาย สามารถเดินทางไปในทุกที่
 
แม้ว่าในปัจจุบันพวกเราหลายคนอาจจะเห็นผู้ที่มีร่างกายผิดปกติ หรือมีความพิการทางร่างกาย ใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป และเห็นพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเหมือนคนทั่วๆไป  แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่คิดว่าเราควรปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ในรูปแบบที่แตกต่างจากคนธรรมดา เพราะพวกเขาไม่ได้มีร่างกายที่เหมือนกับพวกเรา และความคิดและการกระทำเหล่านี้เองที่ทำให้ผู้ที่มีร่างกายผิดปกติหรือมีความพิการทางร่างกายรู้สึกว่าพวกเขากำลังได้รับการเลือกปฏิบัติจากผู้คนในสังคม
 
ที่อเมริกา มีเด็กหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งที่มีความผิดปกติทางร่างกายและต้องนั่งอยู่บนรถเข็นได้เล่าประสบการณ์ของเธอให้กับนักข่าวฟังว่า อะไรที่ทำให้เธอรู้สึกว่า กำลังถูกเลือกปฏิบัติจากผู้คนกลุ่มหนึ่งที่มองว่าเธอเป็นคนพิการและต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป 
 
เด็กผู้หญิงคนนี้เล่าว่า วันหนึ่งเธอไปที่ร้านหนังสือในห้างสรรพสินค้า ระหว่างที่กำลังเลือกหนังสืออยู่ ก็มีชายสูงอายุคนหนึ่งมองมาที่เธอและยิ้มให้เธออย่างผู้ใหญ่ใจดี ชายสูงอายุคนนี้ทักทายเธอและใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยนเหมือนกำลังพูดกับเด็กอายุ 3 ขวบ หลังจากที่ชายสูงอายุคนนี้ทักทายเธอแล้ว เขาได้พูดกับเธอว่า “เธอทำให้โลกของฉันสดใสขึ้นมาทันที ฉันดีใจมากที่ได้เห็นคนแบบเธอใช้ชีวิตอย่างกล้าหาญด้วยการออกมาข้างนอกเหมือนอย่างคนทั่วไป”  
 
เด็กผู้หญิงคนนี้รู้สึกเสียความรู้สึกกับคำว่า “คนแบบเธอ” ซึ่งในที่นี้ชายสูงอายุหมายถึงคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็นแบบเธอ เด็กผู้หญิงคนนี้อธิบายความรู้สึกของเธอหลังจากพบสถานการณ์นี้ว่า เธอรู้ว่าสถานการณ์แบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านหนังสือ ร้านขายของ ห้างสรรพสินค้า หรือพูดได้ว่าที่สาธารณะทุกที่ ที่ทำให้คนที่มีร่างกายผิดปกติ หรือผู้พิการจะต้องรู้สึกเหมือนถูกเลือกปฏิบัติ หรือรู้สึกอึดอัดทุกครั้งจากการถูกมองด้วยสายตาสงสาร หรือคำพูดที่แสดงความเห็นใจหรือชมเชยว่าพวกเธอกล้าหาญที่ใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป
 
การที่คนที่มีร่างกายผิดปกติ หรือผู้พิการต้องเจอสถานการณ์เหล่านี้ทำให้พวกเขารู้สึกว่า พวกเขาถูกแยกและถูกเลือกปฏิบัติจากสังคมที่ถูกเรียกว่า สังคมปกติที่ผู้คนมีอวัยวะครบทุกอย่าง และพวกเขาถูกแบ่งแยกออกจากสังคมนั้นเพียงเพราะพวกเขานั่งอยู่บนรถเข็น 
 
เด็กหญิงข้างต้นกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า พวกเธอมักจะต้องทนฟังกับประโยคที่ว่า “คนแบบเธอ” และประโยคนี้เองที่ทำให้เธอรู้สึกว่า เธอกำลังถูกกีดกัดออกจากสังคมปกติทั่วไป นอกจากนี้ผู้คนที่เข้ามาแสดงความเห็นใจด้วยคำพูดและการกระทำเหล่านี้กลับทำให้พวกเธอรู้สึกว่า ชีวิตของพวกเธอเหมือนกับนิยายของผู้คนปกติทั่วไป ที่แม้แต่การไปเดินร้านหนังสือที่คนทั่วไปทำกัน ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการผจญภัยในโลกกว้างอันน่าตื่นเต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่พวกเธอต้องการเลยแม้แต่น้อย
 
ในความเป็นจริงแล้ว การกระทำและคำพูดเหล่านี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติในรูปแบบหนึ่ง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Ableism ซึ่งหมายความว่า การเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีร่างกายแตกต่างจากปกติ การเลือกปฏิบัติในรูปแบบนี้อาจจะไม่ได้เห็นชัดเจนเหมือนการเหยียดเชื้อชาติ หรือการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง แต่การเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีร่างกายแตกต่างจากปกตินั้นสอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรมของเรามาเป็นเวลานาน โดยที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักว่าการกระทำหรือคำพูดเหล่านี้ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีร่างกายแตกต่างจากปกติ
 
การกระทำและคำพูดแสดงความเห็นใจเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่อันตรายและผู้พิการอาจจะรู้สึกว่าไม่สามารถให้อภัยต่อการกระทำและคำพูดเหล่านี้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้กำลังทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองกำลังตกเป็นเหยื่อของสังคมในการถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในบางคนที่อาจจะเพิ่งมีความผิดปกติทางร่างกายและต้องนั่งบนรถเข็น และเมื่อพวกเขามีความกล้าที่จะใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ด้วยการออกมากินข้าว ซื้อของ และดูหนัง แต่กลับพบกับคำพูดและการกระทำเหล่านี้ ก็อาจจะทำให้หลายๆ คนเกิดความรู้สึกถึงความแตกต่าง และกลับไปมีความคิดที่จะอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น เพราะพวกเขารู้สึกอายหรือกลัวที่จะถูกมองว่าแตกต่างจากคนทั่วไปเพียงเพราะความพิการหรือมีร่างกายที่ไม่เหมือนกับคนอื่น
 
เด็กหญิงวัยรุ่นที่ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวเล่าถึงความรู้สึกของเธอว่า ในช่วงที่เธอยังเป็นเด็กเล็กๆ เธอรู้สึกอายทุกครั้งที่มีคนพูดถึงรถเข็น หรือสิ่งที่เธอไม่สามารถทำได้เหมือนกับคนอื่นๆ และทุกครั้งที่เธอได้ยินหรือรับรู้ถึงความแตกต่างด้านร่างกายที่เธอเป็นกับคนทั่วไป เธอจะต้องเสียน้ำตาทุกครั้งและไม่มีกะจิตกะใจที่จะทำอะไรเลยตลอดวัน 
 
สำหรับตัวเธอนั้นเริ่มปรับตัวได้เมื่อเริ่มเรียนมัธยมปลาย เธอเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น มั่นใจที่จะทำทุกอย่าง และออกไปในที่ต่างๆ เหมือนกับคนอื่นๆ แต่เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน เพราะคนที่มีความผิดปกติทางร่างกายหรือคนพิการทุกคนจะต้องต่อสู้กับจิตใจของตัวเองให้มีความเข้มแข็ง สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนทั่วไป และเมื่อพวกเขามีความเข้มแข็ง ใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป พวกเขากลับต้องมาพบกับการกระทำและคำพูดของผู้คนในสังคมที่ทำให้พวกเขารู้สึกแตกต่างจากคนทั่วไป และนี่อาจจะทำให้เขาสูญเสียกำลังใจและความกล้าที่จะออกมาข้างนอกอีกครั้ง
 
ในตอนท้าย เด็กหญิงวัยรุ่นคนนี้ฝากคำพูดถึงทุกคนว่า เธออยากให้ทุกคนระวังคำพูดและการกระทำเมื่อพบเจอกับผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกายหรือคนพิการ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นคนพิการ เพราะพวกเธอเหล่านี้ก็ต้องอยู่กับความรู้สึกที่ว่า ตัวเองไม่สวยและไม่น่าสนใจเหมือนกับผู้หญิงคนอื่นๆ อยู่แล้ว 
 
ที่แย่ไปกว่านั้นคือ เกือบทุกครั้งที่คนทั่วไปพบเจอผู้หญิงพิการ คนเหล่านี้มักจะใช้คำพูดและน้ำเสียงที่ทำให้พวกเธอรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นแค่เด็กน้อยคนหนึ่งเท่านั้น ทั้งๆ ที่หลายคนก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่กลับไม่ได้รับการปฏิบัติ พูดคุย หรือให้ความเคารพแบบที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติกัน โดยเฉพาะผู้ชายที่พบเจอผู้หญิงซึ่งเป็นคนพิการมักจะปฏิบัติกับพวกเธอเหมือนกับว่าพวกเธอยังเป็นเด็ก ไม่ว่าพวกเธอจะมีอายุเท่าไหร่ก็ตาม ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำพูดและการกระทำที่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการอย่างชัดเจน และคนที่มีความผิดปกติทางร่างกายเหล่านี้ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ ได้แต่ต้องทนและพบเจอสถานการณ์เหล่านี้ในทุกวัน
 
เราซึ่งเป็นคนปกติทั่วไป มีอวัยวะครบ 32 มักจะได้รับอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับคนพิการมาจากภาพยนตร์หรือละครว่า คนพิการจะต้องมีชีวิตที่ยากลำบาก มีชีวิตเศร้าที่ตัวเองเกิดมาไม่เหมือนคนทั่วไป และคนเหล่านี้อาจจะไม่สามารถผ่านพ้นความทุกข์เหล่านี้ไปได้ หรือคนที่เคยเป็นคนปกติทั่วไป วันหนึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุทำให้ต้องกลายเป็นคนพิการ ก็อาจจะไม่สามารถรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้จนต้องฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนพิการหรือมีความผิดปกติทางร่างกาย ไม่ได้มีชีวิตที่เศร้าขนาดนั้น พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนทั่วไป และมีความสุขในชีวิตดี 
 
ในปี 2012 วารสารชื่อ Disability and Rehabilitation ได้ทำการศึกษาว่า คนที่มีอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่เส้นประสาทไขสันหลังจนเดินไม่ได้นั้น มีความสุขกับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองหรือไม่ ซึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้ได้พบว่า ผู้คนเหล่านี้มีความสุขมากๆ กับชีวิตของพวกเขาถึงแม้ว่าพวกเขาจะเดินไม่ได้ก็ตาม
 
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เราเห็นกันอย่างชัดเจนว่า เราถูกปลูกฝังในเรื่องของความคิดที่เกี่ยวกับคนพิการมาอย่างผิดๆ และความคิดนี้เองที่ทำให้ในหลายๆ ครั้งที่เราเผลอพูดหรือมีการกระทำใดๆ ที่ทำให้คนที่มีความผิดปกติทางร่างกายหรือผู้พิการรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกเลือกปฏิบัติและถูกขีดเส้นอย่างชัดเจนในสังคมว่า พวกเขาแตกต่างจากคนทั่วไป
 
เรื่องราวของเด็กหญิงวัยรุ่นชาวอเมริกันคนนี้น่าจะทำให้พวกเราทุกคนระมัดระวังคำพูดและการกระทำมากขึ้น เมื่อพบเจอคนพิการตามที่สาธารณะต่างๆ ว่าไม่ได้กำลังทำให้พวกเขารู้สึกแตกต่างจากพวกเราทุกคน และเราไม่ได้กำลังเลือกปฏิบัติต่อพวกเขาอยู่
 
 
(Photo Credit: https://pixabay.com/en/wheelchair-holiday-bea-disabled-999622/)