วันพุธ, กันยายน 18, 2024
Home > Cover Story > เปิดอาณาจักร “KCG Logistics Park” กลยุทธ์สร้างการเติบโตของ เคซีจี คอร์ปอเรชั่น

เปิดอาณาจักร “KCG Logistics Park” กลยุทธ์สร้างการเติบโตของ เคซีจี คอร์ปอเรชั่น

โลจิสติกส์ (Logistics) หรือการขนส่งและกระจายสินค้าถือเป็นกระดูกสันหลังของการดำเนินธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นต้นทุนก้อนใหญ่ด้วยเช่นกัน การบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ

หลังประกาศ 7 เสาหลักในการดำเนินธุรกิจที่ประกอบด้วย 1. สร้างการเติบโตทางธุรกิจ 2. พัฒนาบุคลากร 3. ขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี 4. ขยายตลาดส่งออก 5. ยกระดับศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า 6. ยกระดับการผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติ และ 7. ส่งเสริมความยั่งยืน ไปก่อนหน้านี้ ล่าสุดผู้ผลิตและนำเข้าอาหารรายใหญ่อย่างบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG Corporation (KCG) เดินหน้าเสริมเสาหลักที่ 5 เปิด “KCG Logistics Park” ศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าแห่งใหม่ ที่ทุ่มงบไปกว่า 350 ล้านบาท จากเดิมที่เคยเช่าอยู่หลายๆ ที่ ให้มารวมกันภายใต้ศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าแห่งใหม่

โดย “KCG Logistics Park” ตั้งอยู่ ณ โรงงานบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีพื้นที่ใช้สอยรวม 15 ไร่ ประกอบด้วยคลังสินค้า 6 อาคาร มีพื้นที่จัดเก็บจำนวนกว่า 12,000 ตารางเมตร รองรับพาเลทรวมสูงสุดได้ 14,000 พาเลท แบ่งการจัดเก็บตามอุณหภูมิออกเป็น 4 ประเภท ตามความเหมาะสมในแต่ละผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Ambient, Chilled (0°C to 8°C), Air Con  (18°C to 22°C) และ Frozen  (-18°C ถึง  -25°C)

ในส่วนของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการบริหารและจัดการภายใน ประกอบด้วย ระบบการจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System), ระบบบริหารจัดการการขนส่ง (Transportation Management System), ระบบคลังสินค้าพร้อมจัดส่ง (Fulfillment System), ระบบจัดเก็บคลังสินค้ากึ่งอัตโนมัติ หรือ ชั้นวางระบบกระสวย (Rack shuttle system), ระบบติดตามยานพาหนะแบบเรียลไทม์ (GPS Tracking System)

ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

นอกจากเทคโนโลยีที่ใช้ในการบริหารจัดการแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือระบบการจัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ KCG นำมาใช้ภายในศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าแห่งใหม่ ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์เรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ระบบ Backhual Matching เป็นการปรับเส้นทางเดินรถ เพื่อไม่ให้ตีรถเปล่ากลับเข้าศูนย์ฯ ซึ่งช่วยลดต้นทุน ลดการใช้เชื้อเพลิง และลดการปล่อยมลพิษ, ใช้รถบรรทุกไฟฟ้า โดยตั้งเป้าเป็นรถ EV 30% ของจำนวนรถทั้งหมดภายใน 3 ปี (นับจากปี 2566), ภายใน KCG Logistics Park ใช้รถโฟล์คลิฟที่ใช้แบตเตอรี่ลิเทียม, อยู่ระหว่างการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ภายใน KCG Logistics Park  และโรงงานบางพลี รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าของบริษัททั้ง 3 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณปีละ 1,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าได้กับการปลูกต้นไม้กว่า 120,000 ต้น และจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าประมาณปีละ 10 ล้านบาท รวมถึงมีการแปรรูปพาเลทที่ไม่ใช้งานแล้ว ด้วยวิธีการหลอมและรีไซเคิลเพื่อแปลงการใช้งาน

ซึ่ง KCG เชื่อว่าด้วยศักยภาพของ “KCG Logistics Park” จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ 10,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน นอกจากนั้น KCG ยังมีแผนพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าเพื่อให้บริการลูกค้าภายนอกและผู้ประกอบการรายย่อยอีกด้วย

Logistics park (สาขาบางพลี)

ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงที่มาในการพัฒนา KCG Logistics Park ว่า KCG เล็งเห็น 3 เทรนด์ที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารห่วงโซ่อุปทานยุคใหม่ จึงได้นำเทรนด์ดังกล่าวมาต่อยอดในการสร้างกลยุทธ์การบริหารห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการสร้างศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park แห่งนี้ โดย 3 เทรนด์ดังกล่าวประกอบด้วย

1. “360 Degrees Product Trend” ผู้บริโภคมีความต้องการในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีความพิถีพิถันในการพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นบริษัทฯ ต้องมั่นใจได้ว่าทุกผลิตภัณฑ์จะถูกเก็บรักษาและส่งมอบด้วยมาตรฐานคุณภาพที่ดีที่สุด

2. “Sustainability” การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน

3. “Digitalization & Automation” การนำเทคโนโลยีมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร เกิดความแม่นยำ รวดเร็วในการบริหารระบบความท้าทาย

พาเลทพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้

ชูกลยุทธ์ “From Great to Growth” ผ่านการสร้าง KCG Logistics Park

ดำรงชัยเปิดเผยต่อว่า ศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าเป็นข้อต่อสำคัญระหว่างการผลิตสินค้าของ KCG กับการจัดส่งสินค้ากว่า 50 แบรนด์ ให้ถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็วปลอดภัยและรักษาคุณภาพของสินค้าไว้อย่างดี จึงทุ่มงบลงทุน 350 ล้านบาท ในการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าแห่งใหม่ที่ได้มาตรฐานระดับสากลเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ พร้อมทั้งตอบโจทย์เรื่องการสร้างความยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “From Great to Growth”

โดยกลยุทธ์ From Great to Growth เป็นการนำเทรนด์ของการบริหารห่วงโซ่อุปทานมาผนวกกับความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ 66 ปี ของ KCG ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ย่อย ได้แก่

1. สร้างการเติบโตจากความเป็นเลิศด้านคุณภาพ (Quality Excellence for Growth) โดยการบริหารจัดการสต็อกตามประเภทวัตถุดิบที่หลากหลาย (Diverse Stock Management) KCG เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยปัจจุบัน KCG Logistics Park รองรับการจัดเก็บได้มากถึง 14,000 พาเลท โดยมีวิธีการแบ่งตามประเภทสินค้า จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ 1. Dairy Products 2. Food and bakery ingredients (FBI) 3. Biscuit หรือ แบ่งตามอุณหภูมิออกเป็น 4 ประเภท

รวมถึงการจัดเก็บโดยควบคุมอุณหภูมิ (Temperature-Controlled Storage) ซึ่ง KCG เป็นผู้นำอันดับ 1 ในด้านการจัดเก็บและการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิได้อย่างเต็มรูปแบบ (Cold Chain Logistics) เพื่อให้สินค้ามีความสดใหม่และลดการสูญเสียจากสินค้าที่เสียหายได้ โดยเลือกควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับสินค้าและวัตถุดิบที่หลากหลายและต้องดูแลรักษา จัดเก็บในอุณหภูมิที่ต่างกัน ตั้งแต่การขนวัตถุดิบเข้ามายังคลังจัดเก็บ ออกแบบวิธีการเคลื่อนย้ายและการเก็บรักษา ตลอดจนการขนส่งออกไปหาลูกค้า

KCG เป็นผู้นำอันดับ 1 ในด้านการจัดเก็บและการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics)

2. สร้างการเติบโตจากเทคโนโลยี (Tech for Growth) ประกอบด้วย

– ระบบอัตโนมัติ (Automation) KCG Logistics park ใช้ระบบบริหารคลังแบบอัตโนมัติโดยใช้ระบบการจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System) ระบบบริหารจัดการการขนส่ง (Transportation Management System) ควบคู่กับระบบคลังสินค้าพร้อมจัดส่ง (Fulfillment System)  ที่จะเข้ามาช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความถูกต้องแม่นยำ ความรวดเร็วในการค้นหาสินค้า ลดการสูญหายของสินค้า อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบสถานะของสินค้าได้ รวมถึงลดความผิดพลาดในการทำงาน ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม

– ความรวดเร็วต่อตลาด (Speed to Market) การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตามความต้องการของตลาด ครอบคลุมทั้งในกลุ่ม B2B และ B2C รวมถึงมีการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ (Distribution Efficiency) ช่วยให้ส่งสินค้าไปยังลูกค้าในเวลาที่รวดเร็วมากขึ้น โดยจะคำนวณระยะเวลาจัดส่งตามรัศมีของพื้นที่ลูกค้า เช่น สามารถขนส่งได้ภายใน 24 ชั่วโมง ในระยะรัศมี 100 กิโลเมตร จากจุดกระจายสินค้า และรองรับความพร้อมของความต้องการตลาด ด้วยจำนวนรถขนส่งที่มากกว่า 150 คัน

– การใช้เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยของพนักงาน (Employee Safety) นอกจากจะเพิ่มความถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วแล้ว KCG ให้ความสำคัญและยึดมั่นการว่าจ้างที่สอดคล้องกับสำนักงานมาตรฐานแรงงานไทย เช่น จากเดิมที่มีการแบกกระสอบน้ำตาลขึ้นไหล่ เพื่อขนถ่ายระหว่างรถขนส่งกับโกดัง ปัจจุบันได้ปรับเป็นเพียงการยกลงพาเลท และใช้โฟล์คลิฟในการเคลื่อนย้าย ซึ่งช่วยให้พนักงานได้รับความปลอดภัยในการทำงานจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัย การใส่ชุดที่มีความปลอดภัยและการควบคุมระยะเวลาทำงานของพนักงานในพื้นที่ที่มีการควบคุมอุณหภูมิของคลังสินค้า ตลอดจนระบบจัดเก็บคลังสินค้ากึ่งอัตโนมัติ หรือ ชั้นวางระบบกระสวย (Rack shuttle system) ซึ่งช่วยให้พนักงานไม่ต้องจัดเก็บสินค้าในที่สูงด้วยตัวเอง

3. สร้างการเติบโตจากการรักษาสิ่งแวดล้อม (Green for Growth)

– การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) โดยปัจจุบันมีการใช้รถบรรทุกไฟฟ้า รถโฟล์คลิฟที่ใช้แบตเตอรี่ลิเทียม และอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา

– การลดของเสีย (Waste Reduction) ในกระบวนการโลจิสติกส์การลดของเสีย หรือ การลดขยะ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียทั้งจากกระบวนการจัดเก็บ การดูแลรักษา การควบคุมอุณหภูมิ โดยเฉพาะอาหารตะวันตกที่มีส่วนผสมหลักมาจาก นม เนย ชีส ที่ต้องใช้ความพิถีพิถันในการเก็บรักษาสูง ตลอดจนการขนส่งที่เพิ่มการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบ Backhual Matching ปรับเส้นทางเดินรถ เพื่อไม่ให้ตีรถเปล่ากลับเข้าศูนย์ฯ

ผลประกอบการ Q2/2024 ตอกย้ำความเป็นผู้นำเบอร์ 1 ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม

ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา KCG สร้างผลประกอบการไว้อย่างน่าสนใจ มียอดขายรวม 1,688.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% และมีกำไรสุทธิ 94.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรวมแล้ว สามารถทำรายได้เติบโตในทุกพอร์ตฟอลิโอ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (Dairy Products) มียอดขาย 1,022.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60.6% ถือเป็นยอดขายอันดับ 1 ในตลาดดังกล่าว ส่วนตลาดผลิตถัณฑ์สำหรับประกอบอาหารและเบเกอรี่และอื่นๆ รวมทั้งตลาดผลิตภัณฑ์บิสกิต สามารถทำยอดขายสูงสุดติด 5 อันดับแรกได้ทั้งสิ้น

“สาเหตุที่ผลประกอบการเติบโตสวนกระแส เป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจตามยุทธศาสตร์การพัฒนาใน 7 มิติอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้น ทั้งจากการปรับปรุงเครื่องจักรและการใช้อัตรากำลังผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การปรับปรุงหน่วยสินค้า (SKU Rationalization) ที่สำคัญคือพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 ออกมาอย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะกำไรที่เติบโตสูงมากถึง 86.3% ซึ่งในไตรมาส 3 นี้ บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าการเปิดใช้ KCG Logistics Park อย่างเป็นทางการ เพิ่มเติมจากอีก 3 สาขา คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสุราษฏร์ธานี ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมการให้บริการทั้ง 76 จังหวัด จนสามารถส่งมอบสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้ภายใน 1 วัน และเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ตามเป้าหมาย” ดำรงชัยกล่าว

โดย KCG เชื่อมั่นว่า กลยุทธ์ From Great to Growth ที่ใช้ในการบริหารห่วงโซ่อุปทานและคลังสินค้า ผ่าน KCG Logistics Park จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้โตแบบก้าวกระโดดสู่รายได้ 10,000 ล้านบาท ใน 3 – 5 ปีข้างหน้า และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยลดค่าเช่าคลังสินค้าภายนอกได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ในมุมของธุรกิจ KCG Logistics Park ยังมีความมุ่งมั่นในการเป็นตัวกลางในการขนส่งสินค้า KCG แก่ผู้ประกอบการรายย่อย และช่วยตอบสนองโมเดิร์นไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น