วันอังคาร, กันยายน 17, 2024
Home > Cover Story > จาก Too Fast To Sleep สู่ Too Fast Infinity เผยร่างทอง ล้างภาพขาดทุน

จาก Too Fast To Sleep สู่ Too Fast Infinity เผยร่างทอง ล้างภาพขาดทุน

หากเอ่ยชื่อ Too Fast To Sleep เชื่อว่าหลายๆ คนคงคุ้นชินกันเป็นอย่างดีในฐานะแหล่งรวมตัวของคนนอนดึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนนักศึกษาที่หาที่นั่งอ่านหนังสือและทำงาน เพราะที่นี่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “แหล่งมั่วสุมทางปัญญา” และกลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของสามย่านไปโดยปริยาย

Too Fast To Sleep เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2554 เป็นวันแรก และแจ้งเกิดจากการเป็นร้านกาแฟที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง บนทำเลศักยภาพบริเวณสามย่านตรงข้ามกับจามจุรีสแควร์ ใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดินสามย่าน และอยู่ใกล้สถาบันการศึกษาทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยตัวอาคารของ Too Fast To Sleep ออกแบบมาในลักษณะคล้ายกล่องขนาดใหญ่สีน้ำเงินเข้ม แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ชั้น และมีนกฮูกใส่แว่นขนาดใหญ่เป็นโลโก้ที่กลายมาเป็นภาพจำของใครหลายๆ คน

เอนก จงเสถียร นักธุรกิจเจ้าของบริษัท เอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตฟิล์มถนอมอาหารรายใหญ่แบรนด์ “M WRAP” และผู้ก่อตั้ง Too Fast To Sleep เคยให้สัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นของ Too Fast To Sleep ไว้ว่า เขาต้องทำงานช่วยครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งมีฐานะที่ดีขึ้นจึงเริ่มกลับมาสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งในช่วงที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ซึ่งต้องมีการนัดเพื่อนทำงานกลุ่มและบางครั้งก็ต้องอยู่จนดึก ซึ่งในสมัยนั้นการหาสถานที่ทำงานหรืออ่านหนังสือค่อนข้างยาก ไปนั่งตามร้านกาแฟก็นั่งได้ไม่นาน จึงเห็นความยากลำบากที่นักเรียนนักศึกษาในยุคนั้นต้องเผชิญ

ประกอบกับในช่วงเวลานั้น เรื่องของ CSR (Corporate Social Responsibility) กำลังเป็นกระแสในเมืองไทย เอนกในฐานะนักธุรกิจเจ้าของกิจการที่มีกำไรจากการทำธุรกิจในแต่ละปีไม่น้อย จึงตัดสินใจสร้างพื้นที่สำหรับนักเรียนนักศึกษามานั่งทำงานหรืออ่านหนังสือที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่จำกัดว่าลูกค้าต้องซื้อสินค้าขั้นต่ำเท่าไร รวมทั้งไม่จำกัดเวลาในการใช้บริการ เพียงซื้อน้ำเพียงแก้วเดียวก็สามารถนั่งยาวๆ มีที่นั่งสบาย แอร์เย็นๆ และที่ชาร์จแบตฯ นั่งอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ทำงานกลุ่มได้โดยที่ไม่มีใครมาไล่

“จริงๆ เด็กไทยไม่ได้ไม่อยากอ่านหนังสือ แต่เขาไม่มีสถานที่สำหรับอ่านหนังสือ” นี่คือสิ่งที่เอนกมักพูดอยู่เสมอและเป็นเหตุผลของการก่อตั้ง Too Fast To Sleep ขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน

ด้วยทำเลที่ได้เปรียบเพราะอยู่ท่ามกลางสถานศึกษา และคอนเซ็ปต์ร้านที่ฉีกรูปแบบร้านกาแฟเดิมๆ ในสมัยนั้นและสามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้ ทำให้ Too Fast To Sleep ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึงปี จากวันแรกที่เปิดให้บริการที่มีคนมาใช้บริการเพียงหลักสิบ ก่อนจะเพิ่มเป็นหลักร้อยหลักพันในวันต่อๆ มา และได้รับการตอบรับที่ดีจนต้องขยายสาขาไปยังที่ต่างๆ รวมถึงในต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น 7 แห่ง ได้แก่ สาขาสามย่าน, ศาลายา, มหาวิทยาลัยเกษตร บางเขน, สยามสแควร์, สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเชียงใหม่

แม้จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงกระนั้น Too Fast To Sleep ก็ประสบกับภาวะขาดทุนมาตลอดระยะเวลาหลายปี ด้วยความที่เปิด 24 ชั่วโมง ภาระค่าไฟ ค่าพนักงาน ถือเป็นค่าใช้จ่ายหลัก ในขณะที่รายได้ที่ได้ไม่ครอบคลุม แต่เป็นการขาดทุนที่ผู้ก่อตั้งอย่างเอนกบอกว่าเป็นการขาดทุนที่มีความสุข เพราะได้ช่วยเหลือสังคมให้เด็กๆ ได้มีที่อ่านหนังสือ แม้จะต้องขาดทุนมากกว่า 200 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาก็ตาม

แต่ถึงกระนั้น Too Fast To Sleep ก็พยายามปรับตัวด้วยการรุกเข้าสู่ธุรกิจอาหารด้วยการเปิดตัว Too Fast Food ซึ่งรวมถึงการเปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ และบาร์ เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

เมื่อวันเวลาผ่านไป ไลฟ์สไตล์ของผู้คนและรูปแบบการดำเนินธุรกิจก็เปลี่ยนไป ประกอบกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ในปี 2564 Too Fast To Sleep ตัดสินใจทยอยปิดตัวลง ซึ่งรวมถึงสาขาในตำนานอย่างสามย่านด้วยเช่นกัน ซึ่งเอนกเชื่อว่านับตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการ “Too Fast To Sleep” ได้ทำหน้าที่ของตัวเองจนบรรลุเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันทั้งสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่สำหรับการศึกษาเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงถึงเวลาที่ “Too Fast To Sleep” ต้องลดบทบาทของตัวเองลง

โดยปัจจุบัน Too Fast To Sleep เหลืออยู่เพียง 3 สาขา ได้แก่ สาขา Charn The Avenue แจ้งวัฒนะ, สยามสแควร์ซอย 1 และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และไม่ได้เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงเหมือนเช่นเคย

เผยร่างทอง Too Fast Infinity “ต่อจากนี้เราจะไม่ขาดทุนแล้ว!”

หลังจากปิดตัวไปเมื่อปี 2564 ล่าสุด Too Fast To Sleep กลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้มาในรูปโฉมและคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ไม่ใช่เป็นเพียงร้านกาแฟ แต่เป็น One Stop Service ที่รวมร้านอาหาร บาร์ คาเฟ่ ร้านเสื้อผ้า มาไว้ในที่เดียวกัน ภายใต้ชื่อ “Too Fast Infinity” โดยดำเนินการภายใต้ Too Fast Infinity Group ที่พร้อมเปิดเกมรุกธุรกิจอาหารอย่างเต็มตัว เพื่อลบภาพการขาดทุนของ Too Fast To Sleep ที่ผ่านมา

กมนทรรศน์ เหล่าบุตรดีปฐพี ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Too Fast Infinity Group เปิดเผยว่า “ภาพรวมของธุรกิจอาหาร เชื่อว่ายังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจน้อยมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจบริการอื่นๆ ดูจากผลประกอบการของธุรกิจอาหารในเครือ “Too Fast Infinity” ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ คือ ร้าน Secret Chamber ที่มีอยู่ 3 สาขา ที่สามย่าน, MBK Center, โครงการ Charn at the Avenue แจ้งวัฒนะ, เส้นทองเอก ร้านอาหารประเภทเส้น เช่น ก๋วยเตี๋ยว เย็นตาโฟ มี 2 สาขา ที่อาคาร Silom Edge, MBK Center, ตาโต โอชา ร้านอาหารแนวสตรีทฟู้ด มีอยู่ 2 สาขา ที่ MBK Center, อาคาร Silom Edge และกมน (Kamon) เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีจำหน่ายอยู่ในร้าน Secret Chamber ทุกสาขา และมีแผนเปิดสาขาสแตนด์อโลน ใช้เงินลงทุนกว่า 5 ล้านบาทในช่วงกลางปี 2568 โดยผลประกอบการแต่ละแบรนด์ แต่ละสาขา ผลกำไรยังเติบโตสวนทางกับภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้ Too Fast Infinity Group มีความแข็งแกร่งที่พร้อมขยายธุรกิจและสร้างอาณาจักรให้เติบโตต่อไป”

สำหรับการปรับโฉมใหม่ “Too Fast Infinity” สามย่านครั้งนี้ ใช้เวลาในการรีโนเวตถึง 2 ปี กับงบลงทุนมากกว่า 20 ล้านบาท บนพื้นที่ขนาด 1 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ โซน ABBA CAFÉ คาเฟ่สไตล์โมเดิร์น ซึ่งมีทั้งโซนอินดอร์และเอาต์ดอร์ ที่ยังคงพื้นที่ Co-Working Space และอ่านหนังสืออยู่ตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง Too Fast To Sleep มีการตกแต่งเหมือนห้องสมุดแต่เพิ่มความหรูหรา ทันสมัย และอบอุ่น เจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นครอบครัว วัยทำงาน คนรุ่นใหม่ นักเรียน และนักศึกษา โดยโซนนี้จะให้บริการครบทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และเบเกอรี่

โซน Secret Chamber เป็นบาร์ลับที่ซ่อนตัวอยู่ภายใน “Too Fast Infinity” มีคอนเซ็ปต์ “Your secret is safe with me” การตกแต่งเป็นสไตล์ยุโรปแนวแฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) ที่เน้นอิฐแดงและไม้ แบบคาเฟ่อังกฤษในยุค 90s เน้นให้บริการอาหารไทยรสชาติต้นตำรับ อาหารนานาชาติ เครื่องดื่มที่หลากหลาย เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน และนักศึกษาที่ต้องการแฮงก์เอาต์ เลี้ยงสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน

โซน Infinity Hall ฮอลล์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่จุคนได้กว่า 200 คน ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการได้ตามความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ งานสัมมนา งานแต่งงาน งานอีเวนต์ รวมถึงคอร์สฝึกอบรมต่างๆ

สำหรับจุดขายและจุดแข็งของ “Too Fast Infinity” คือ บริการแบบ One Stop Service ครบจบในที่เดียวและอยู่ใจกลางเมือง การเดินทางสะดวก เพราะติดสถานีรถไฟฟ้า MRT สามย่าน อีกทั้งยังมีการปรับพื้นที่เดิมที่เคยเป็นห้องประชุมมาเป็นที่จอดรถที่รองรับได้ 30 คัน เพื่อแก้เพนพอยต์ในอดีต

“ถ้าทำร้านกาแฟ ร้านอาหารหรือพื้นที่ให้เช่าจัดงานในย่านนี้แล้วไม่มีที่จอดรถ เราจะสู้ใครไม่ได้” กมนทรรศน์ เน้นย้ำ

โดยกมนทรรศน์ถือฤกษ์ดีวันที่ 8 เดือน 8 ที่ผ่านมา เปิดให้บริการ “Too Fast Infinity” โฉมใหม่ และโซน “Infinity Hall” ฮอลล์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่อย่างเป็นทางการ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองเปิดให้บริการ (Soft Opening) แบรนด์ในเครืออย่าง ABBA CAFÉ, Secret Chamber, ตาโต โอชา, เส้นทองเอก และกมน (Kamon) ไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ซึ่งได้รับการตอบรับดีเกินคาดจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นคนเมืองทุกเพศ ทุกวัย ทุกไลฟ์สไตล์

 

ในแง่ของสัดส่วนรายได้จะมาจากการให้เช่าสถานที่สำหรับจัดงานอีเวนต์เป็นหลักราวๆ 70% โดยตั้งเป้ารายได้ไว้ที่เดือนละ 1 ล้านบาทในระยะแรก และในอนาคตนอกจาก 3 โซนดังกล่าวแล้วยังมีแผนขยายการให้บริการในโซนต่างๆ เพิ่มเติม เช่น โซนคลินิกเพื่อความงาม โซนร้านดอกไม้ เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม ทุกไลฟ์สไตล์ให้มากขึ้น

“สำหรับ Too Fast To Sleep ทั้ง 3 สาขาที่มีอยู่ยังเลี้ยงตัวเองได้ ส่วน Too Fast Infinity เราตั้งใจให้ เป็นสถานที่ที่มีไอเดียแบบ Infinity เป็นศูนย์รวมไลฟ์สไตล์ทั้งร้านกาแฟ ร้านอาหาร และจะหาผู้เช่าร้านอื่นๆ ตามมาในอนาคต ต่อจากนี้เราจะไม่ขาดทุนอีกต่อไป แต่จะค่อยๆ โตแบบมั่นคง และจะทำให้ที่แห่งนี้กลับมาคึกคักเหมือนเดิม” กมนทรรศน์ เหล่าบุตรดีปฐพี กล่าวทิ้งท้าย.