วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > เอ็กซ์เซล พันธุ์ทิพย์ ฟีนิกซ์ 40 ปี เกมเขย่าภาพลักษณ์

เอ็กซ์เซล พันธุ์ทิพย์ ฟีนิกซ์ 40 ปี เกมเขย่าภาพลักษณ์

“ก็เพราะว่าฉันในช่วงนี้ งานมันยุ่ง มันยุ่งเป็นบ้า เลยไม่ค่อยมีเวล่ำเวลาจะพาเธอออกไปเที่ยวเลย

เลยว่าจะพาเธอไปเดอะมอลล์แล้วไปต่อกันที่เซ็นทรัล ไปเอ็มโพเรียมก็ไปกัน แค่มีเธอกับฉันก็พอ

แต่ไม่ไปพันธ์ทิพย์ แต่ไม่ไปพันธ์ทิพย์แน่นอน อย่าไปเลยนะขอวอน คราวก่อนก็เคยพูดคุยว่าจะไม่ไปพันธ์ทิพย์ จะไม่ไปพันธ์ทิพย์แน่เลย ไม่อยากเจอคนที่เคยหักอกกัน เปิดร้านอยู่ที่พันธ์ทิพย์….”

ท่อนหนึ่งของเพลง “พันธ์ทิพย์” ในอัลบั้ม “โลโซ ปกแดง” เพลงฮิตช่วงปี 2544 ซึ่งเสกสรรค์ ศุขพิมาย หรือ เสก โลโซ เคยเล่าถึงที่มาที่ไปเริ่มต้นเมื่อ อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม บิ๊กบอสแกรมมี่ เดินเข้ามาบอกให้ทำอัลบั้มใหม่ หลังออกชุดโลโซแลนด์ไปได้ไม่กี่เดือน แต่ยอดขายน้อยผิดปกติ เพราะเจอเทปผีซีดีปลอมออกมาเยอะมาก

ครั้งนั้น เสกยังเสนอให้ลดราคาซีดีจาก 250 บาท เหลือ 155 บาท โดย “ปกแดง” คือ อัลบั้มแรกของประเทศไทยที่ขายในราคาแผ่นละ 155 บาท เพราะต้องการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งอัลบั้มนี้มีเพลงโดนใจใครหลายคนและฮิตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ “พันธ์ทิพย์” ไม่ใช่แค่ทำนองสนุก ๆ แต่ยังปลุกจิตสำนึกหลายฝ่าย การรณรงค์ให้คนไทยเลิกซื้อเทปผีซีดีเถื่อน

จริงๆ แล้วพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2527 โดยกลุ่มตระกูลบุนนาค เดิมใช้ชื่อว่า “เอ็กซ์เซล” (Excel) ถือเป็นห้างสรรพสินค้าที่สร้างความฮือฮาในยุคนั้น เพราะเป็นห้างแห่งที่ 2 ของประเทศไทยที่ติดตั้งลิฟต์แก้วต่อจากห้างพาต้าปิ่นเกล้า และให้บริการด้วยระบบทันสมัย ติดบาร์โค้ดตรวจสอบราคาสินค้าทุกชิ้น มีโรงภาพยนตร์และภัตตาคารจีน ทว่า การแข่งขันในสมรภูมิค้าปลีกย่านประตูน้ำรุนแรงขึ้น มีห้างเปิดใหม่หลายแห่ง เช่น เมโทรประตูน้ำ พาต้าอินทรา ซิตี้พลาซ่าประตูน้ำ แพลตินั่มประตูน้ำ จำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการลดน้อยลงเป็นผลให้ร้านค้าทยอยปิดตัวลง

กลุ่มบุนนาคจึงตัดสินใจขายกิจการให้ทีซีซีกรุ๊ปของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ในปี 2531 มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยห้างเอ็กซ์เซลขอเช่าพื้นที่ส่วนหนึ่งและจัดร้านค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ศูนย์เช่าพระเครื่อง ร้านจำหน่ายสินค้ามือสอง ต่อมาดึงศูนย์รวมสำนักงานโครงการคอนโดมิเนียมต่างๆ เข้ามาเช่าพื้นที่ เพื่อสนองความต้องการลูกค้าในช่วงจังหวะอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู

ปี 2540 ทีซีซีกรุ๊ปเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นพันธุ์ทิพย์พลาซ่า โดยพลิกโฉมและตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางด้านสินค้าไอทีที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย เวลานั้นใครอยากได้สินค้าไอที อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ต้องไปพันธุ์ทิพย์ ถือเป็นช่วงพีกสุดของห้างไอทีแห่งนี้ มีลูกค้าเข้าใช้บริการสูงสุดถึง 30,000 คนต่อวัน

ทีซีซีกรุ๊ปยังขยายสาขาพันธุ์ทิพย์พลาซ่าอีก 3 แห่ง ได้แก่ สาขาเชียงใหม่ สาขางามวงศ์วาน และสาขาบางกะปิ

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งนั้นพันธุ์ทิพย์ยังกลายเป็นแหล่งแผ่นซีดีเพลง-ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์และซอฟต์แวร์เถื่อนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุคนั้น จนนักร้องหนุ่ม “เสก โลโซ” ซึ่งได้รับผลกระทบด้านยอดขายซีดี เพราะนักฟังหันไปซื้อซีดีเถื่อนราคาถูกกว่าของแท้ หยิบมาเป็นประเด็นแต่งเพลง “พันธ์ทิพย์” ที่เนื้อเพลงพูดถึงห้างและร้านค้าดัง ๆ แต่ขอไม่ไปพันธ์ทิพย์แน่นอน อ้างไม่อยากเจอแฟนเก่าที่หักอก แต่ทุกคนในสังคมต่างรู้เหตุผลว่า ทำไม!!

ต่อมา ช่วงปี 2550-2551 ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนจากการซื้อคอมพิวเตอร์ประกอบเป็นโน้ตบุ๊กมากขึ้นและสินค้าใหม่มือหนึ่งเพราะคุณภาพชัวร์กว่าและไม่ต้องเสียเวลา เสียเงินซ่อมของมือสอง

ขณะเดียวกัน ห้างไอทีเกิดใหม่มากขึ้นและศูนย์การค้าเกือบทุกแห่งทั่วประเทศต่างจัดโซนไอที เพื่อดึงดูดลูกค้าและเติมเต็มความต้องการที่หลากหลาย ใกล้กว่า สะดวกกว่า รวมทั้งยุคอีคอมเมิร์ซเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ขณะที่ร้านค้าขายอุปกรณ์ไม่จำเป็นต้องเช่าพื้นที่หน้าร้านเพียงช่องทางเดียว

ปี 2557 ทีซีซีกรุ๊ปปรับโฉมสาขาประตูน้ำ ภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่ “เทคไลฟ์ มอลล์” เพิ่มความหลากหลาย ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์ มีทั้งเครื่องเสียง อุปกรณ์สมาร์ทโฮม อุปกรณ์ไอทีสำนักงาน เกม ของเล่นวัยเด็ก และเปิดโคเวิร์กกิ้งสเปซ นอกจากนั้น ปรับโฉมอาคารจากสไตล์โคโลเนียลเป็นรูปแบบทันสมัยมากขึ้น

ปี 2559 พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ โฉมใหม่ เปิดตัวภายใต้คอนเซ็ปต์ “Pantip e-Sport Arena” หวังสร้างแรงดึงดูดกลุ่มวัยรุ่น แต่ใช้เวลาสองสามปียังไม่สามารถดึงลูกค้าได้ตามเป้าหมาย  แถมเกิดสถานการณ์โควิดซ้ำเติมอีก

ปลายปี 2563 บริษัท แอสเซท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ตัดสินใจยุติดำเนินการห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ  โดยเปลี่ยนรูปแบบอาคารเป็นสาขาย่อยของโครงการ เออีซี เทรด เซ็นเตอร์ หวังสร้างศูนย์ค้าส่งระดับโลกแห่งแรกใจกลางเมืองและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น AEC Trade Center Pantip Pratunam

ปี 2566 ปรับคอนเซ็ปต์อีกครั้งเป็น AEC Food Wholesale Pratunam เน้นกิจการค้าส่งวัตถุดิบอาหาร ตั้งเป้าหมายเป็นแหล่งรวมอาหารจากทั่วโลก เพื่อจับคู่กับผู้ซื้อกลุ่มโรงแรม-ร้านอาหารในอาเซียน

26 มิถุนายน 2567 แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ประกาศเปิดตัวโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ Phenix บนยุทธศาสตร์พื้นที่ย่านประตูน้ำ ในฐานะศูนย์กลางการคัดสรรวัตถุดิบอาหารระดับโลกที่รวบรวมฟู้ด โฮลเซลล์ ฟู้ด รีเทล และฟู้ด เลาจน์ เชื่อมโยงผู้ค้าส่งและผู้ซื้อทั่วโลก.