วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > รู้จักตัวตน ทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว ฝันไกลดัน “ยืดเปล่า” สู่โกลบอลแบรนด์

รู้จักตัวตน ทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว ฝันไกลดัน “ยืดเปล่า” สู่โกลบอลแบรนด์

ถ้ามองแค่อายุ อาจมองว่าผมเติบโตเร็ว แต่ถ้ามองประสบการณ์ ไม่เร็ว เพราะทำค้าขายเข้าปีที่ 13-14 แล้ว ตั้งแต่อายุ 19 ปี ตอนนี้อายุ 33 ปี ต้องบอกว่า เริ่มสุกงอมแล้ว…”

ทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว หรือคุณตอน เจ้าของแบรนด์ “ยืดเปล่า” (YUEDPAO) กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงความสำเร็จของการปลุกปั้นแบรนด์เสื้อยืดที่วันนี้มีสาขารวม 60 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 31 สาขา ต่างจังหวัดอีก 29 สาขา และตั้งเป้าขยายต่อเนื่องทุกปี โดยสิ้นปีนี้จะเปิดครบ 80 สาขา เจาะทำเลห้างสรรพสินค้าให้ครอบคลุมมากที่สุด และภายใน 1-3 ปี ต้องไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ที่สำคัญ หนึ่งใน Purpose ของแบรนด์ต้องขึ้นชั้นระดับ Global Brand ต้องการสร้างสินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทยและคุณภาพนวัตกรรมระดับโลก โดยวางไทม์ไลน์  3-5 ปี ค่อยๆ พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการตาม Global Standard

แน่นอนว่า ระยะเวลาสิบกว่าปีของนักธุรกิจวัยสามสิบต้นๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการเป็นคนไม่มีต้นทุนและไม่ค่อยมีโอกาส แต่ต่อสู้บนเส้นทางธุรกิจด้วยตัวเอง เขาเป็นลูกแม่ค้าธรรมดาๆ ต้องหาเงินส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือ เคยทำงานอาร์ตเบื้องหลังกองถ่าย กระทั่งวันหนึ่งอยากเป็นพ่อค้าขายของ เพราะรู้สึกว่างานขายของ คือ ตัวตนและเป็น Skill ที่ชอบ

ทนงค์ศักดิ์เริ่มต้นธุรกิจค้าขายจากเงินก้อนแรกเพียง 8,000 บาท เป็นต้นทุนซื้อของจากตลาดโรงเกลือ เริ่มจากกางเกงบ็อกเซอร์ กางเกงขาสั้นสามส่วน เปิดแผงขายเล็กๆ แถวสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง

วันแรกๆ ขายได้ไม่กี่ร้อยบาท แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือ การเรียนรู้เทคนิคจากประสบการณ์จริง เรื่องกลุ่มลูกค้า สินค้าที่ตอบโจทย์ความชอบ จึงพยายามเลือกสรรสินค้ามากขึ้น รายได้ดีขึ้น เงินทุนเพิ่มขึ้น ตัดสินใจย้ายจากสะพานลอยไปขายในตลาดนัดกลางคืนจตุจักร เริ่มจากการเช่าหน้าร้าน ปรากฏว่า ยอดขายพุ่งพรวดหลายเท่า

จังหวะนั้นเอง พ่อค้าหนุ่มลงทุนเช่าหน้าร้านในตลาดจตุจักร และสร้างแบรนด์กางเกงบ็อกเซอร์ “Richesboxer” กระจายหน้าร้านหลายสาขาทั่วตลาดนัดจตุจักร หลังจากนั้น รีแบรนด์ใหม่ใช้ชื่อ “ทุกตอน” แต่เจอปัญหาลูกค้าอ่านชื่อไม่ออก แต่เพราะได้ยินลูกค้าชอบพูดว่า “เอาบ๊อกปะ” เขา Get ทันทีและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บ๊อกปะ”

ทว่า เวลาผ่านไปเริ่มรู้สึกว่าการขายกางเกงบ็อกเซอร์ในตลาดนัดจตุจักรเริ่มอิ่มตัว แต่นั่นคือจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นของสินค้าตัวใหม่ เสื้อยืด โดยประเดิมแบรนด์แรก “Riccop” ก่อนเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์จากผู้รู้เดินหน้าสเต็ปต่อไป

วันที่ 13 ธันวาคม 2561 ทนงค์ศักดิ์ก่อตั้งบริษัท เริ่มใหม่ จำกัด สร้างเสื้อยืดแบรนด์ใหม่ “ยืดเปล่า” (YUEDPAO) ภายใต้สโลแกน “ยืดเปล่า ยังง๊ายก็ไม่ย้วย” ทดลองเช่าพื้นที่ร้านในห้างยูเนี่ยนมอลล์เป็นแห่งแรก  เน้นขายเฉพาะเสื้อยืดผลิตจากผ้า Cotton ผสม Polyester ซึ่งมีคุณสมบัติยับยาก สวมใส่สบาย สะดวก ผ้าอยู่ทรงไม่ต้องรีด

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาของการบุกช่องทางขายในห้างค้าปลีกทำให้เขาเรียนรู้ว่า อะไร คือ โจทย์สำคัญที่สุดของการปลุกปั้นแบรนด์และทำตลาดให้โดนใจลูกค้า

“ผมคิดว่า การเปิดร้านในห้างไม่ใช่โจทย์สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ ห้างคือช่องทางขายหนึ่งและช่องทางมีหลากหลายมาก รวมทั้งช่องทางออนไลน์ แต่สำคัญที่สุด โปรดักส์ตอบโจทย์หรือตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือยัง การทำงาน การบริการลูกค้า ถ้าทำได้ดี ไม่ว่าช่องทางไหน สามารถประสบความสำเร็จได้ สินค้ามีดีมานด์ แก้ปัญหาลูกค้าได้ สร้างความแตกต่าง ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ นี่คือ Main Point จะไปช่องทางไหนก็ได้ แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยโปรดักส์ไม่ดี สินค้าไม่ตรงกับความต้องการ แถมบริการไม่ดีอีก จะยากไม่ว่าจะไปช่องทางไหน”

ขณะเดียวกัน การปลุกแบรนด์ใช้เวลา 2 ปี แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่การจุดพลุดังเปรี้ยงเดียว โดยเน้นทำอย่างสม่ำเสมอ ขยายช่องทางหน้าร้าน ช่องทางออนไลน์ ทำสื่อ ทำมาร์เก็ตติ้ง ทำสินค้าต่อเนื่อง รายได้เติบโตต่อเนื่อง จากปีแรกอยู่ที่ร้อยกว่าล้าน จนล่าสุดยอดขายปิดปี 2566 จบที่ 800 ล้านบาท

เมื่อถามถึงจุดแข็งที่เหนือกว่าคู่แข่งบิ๊กแบรนด์มากมายในตลาด ทนงค์ศักดิ์บอกว่า “ยืดเปล่า” มีคอนเซ็ปต์ชัดเจน เจาะตลาดที่คนอื่นไม่ได้เล่น ปรับกลยุทธ์รวดเร็ว และสำคัญที่สุด คือ การรู้ใจและดูแลลูกค้า เน้น Benefit Customer โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้า อย่างกรณีสั่งสินค้าออนไลน์ เกิดเหตุส่งผิดไซซ์ ผิดสี บริษัทยินดีส่งตัวใหม่ฟรีทันที แถมลูกค้าสามารถเก็บตัวส่งผิดไปได้ ไม่ต้องส่งคืนบริษัท ซึ่งไม่มีบริษัทไหนกล้าทำแบบนี้

“ตอนนั้นมีปัญหาสั่งสินค้าออนไลน์ อาจเกิดจากการตรวจสอบก่อนจัดส่งไม่ดีหรือมิจฉาชีพตั้งใจเคลม แต่เราคิดหาทางออกทันที เปรียบเทียบตัวเลขต่างๆ ผมตัดสินใจให้นโยบายส่งสินค้าใหม่ให้ลูกค้า เราทำเลยและทำมานานเข้าเดือนที่ 6 แล้ว แต่ไม่เคยประกาศผ่านสื่อสาธารณะให้คนอื่นรู้ พราะผมอยากให้ทำจริงๆ ได้ก่อนแล้วจึงพูดเรื่องนี้”

“เรายอมขาดทุนแต่ได้ความเชื่อใจลูกค้า และมาปรับการทำงานลดความผิดพลาด จนสุดท้าย อัตราการเคลมสินค้าลดลงเหลือน้อยมาก แต่ย้ำว่า เราทำจริง ซึ่งลูกค้าแฮปปี้มาก ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร เราส่งฟรีให้ใหม่ทั้งหมด ไม่เชื่อลองสั่งดูได้ครับ”

ตรงนี้เองที่คุณตอนย้ำว่า นี่คือความแตกต่างและสิ่งที่ยืดเปล่าเหนือคู่แข่ง แม้คู่แข่งในตลาดมีจำนวนมาก แต่ใครโฟกัสลูกค้าได้ดีกว่า คนนั้นชนะและยั่งยืนกว่า เพราะพฤติกรรมลูกค้าไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์ แต่แบรนด์ไหนบริการดีกว่าและสินค้าตอบโจทย์ได้ดีกว่า เป็นพอยต์สำคัญมากกว่า แม้เราเป็นแบรนด์เล็ก แต่หากออกโปรดักส์แล้วปังมาก สามารถตีตลาดโกลบอลแบรนด์ได้เช่นกัน

ส่วนแผนในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าขยายไลน์สินค้านอกเหนือจากเสื้อยืด จะเจาะกลุ่มออฟฟิศและมีแผนขยับไปยังกลุ่มกีฬาด้วย เพราะ Core Concept ของยืดเปล่า ล้อไปกับกลุ่มนี้ด้วย เช่น ยืดไม่ย้วย สวมใส่สบาย เพื่อขยายฐานลูกค้า จากปัจจุบันแบรนด์จับกลุ่มลูกค้าแมส ฐานล่าง อายุระหว่าง 20-35 ปี กลุ่มคนทำงาน กลุ่มนักศึกษา และภายใต้ Umbrella ของแบรนด์จะเจาะลูกค้าหลากหลาย แต่เป็นความหลากหลายที่มีความเป็น Unique

ล่าสุด แบรนด์ “ยืดเปล่า” ยังเล่นใหญ่ ออกมาเปิดไอเดียสาธารณะเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายและตอกย้ำความเป็นแบรนด์แห่งแรงบันดาลใจที่เชื่อมั่นในพลังของคนตัวเล็ก ศักยภาพที่สามารถยืดขยายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ภายใต้ความหลากหลาย โดยจับช่วง Pride Month คอนเซ็ปต์ “PRIDE ได้ทุกเดือน ยืดได้ทุกวัน”

คุณตอนกล่าวว่า แบรนด์ YUEDPAO สื่อสารเรื่องการยอมรับความหลากหลายของสังคมมาตลอดหลายปี เช่น การทำโปรเจกต์ The Art of Diversity นำเสนอความหลากหลายของสังคม ความต้องการตีแผ่ปัญหา และการผลักดันประเด็นในเรื่องต่างๆ ผ่านเสื้อยืด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงศิลปะ การสร้างผู้นำที่มีคุณภาพ ปัญหาสุขภาพจิตของแรงงาน การเข้าไม่ถึงการพัฒนาสุขภาพของเด็กในชุมชนแออัด ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกละเลย รวมถึงความหลากหลายด้านอื่นๆ ที่อาจถูกมองข้ามในสังคม ออกแบบเป็น Collection เสื้อในรูปแบบใหม่ และแบ่งกำไรจากการขายสู่องค์กรต่างๆ

ที่ล้ำไปกว่านั้น คือ การประกาศนโยบายปรับสวัสดิการที่หลากหลายให้พนักงานของบริษัทเริ่มใหม่รวม  10 ข้อ เป็นการลาที่พนักงานยังรับค่าจ้างตามปกติ เช่น ลาทรานส์ฟอร์ม (TransFormation Leave) ไม่ว่าอยู่ในเพศสภาพใด สามารถลาได้สูงสุด 30 วัน

ลารับบุตรบุญธรรม สำหรับคู่รักไม่ว่าจะเพศไหน รวมถึง LGBTQIA+ เพื่อความสมบูรณ์แบบของครอบครัว

ลาสมรส ไม่ว่าเพศไหน สามารถลาวันสมรสพร้อมรับเงินขวัญถุงในวันแต่งงาน โดยไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนสมรส

ลาพักใจ Love & Loss เมื่อสูญเสียสิ่งที่รัก

ลาห่วงใยคนที่คุณรัก เพื่อดูแลครอบครัว คนรัก หรือสัตว์เลี้ยงที่ป่วยได้

ลาคลอด โดยให้คุณพ่อสามารถลาเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตรได้สูงสุด 10 วัน

ลาสงบจิตใจ สำหรับพนักงานที่นับถือศาสนาอื่นๆ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา

ลาพัฒนาทักษะ Level Up เพื่อการศึกษาและพัฒนาทักษะใหม่ๆ

นอกจากนั้น มีนโยบาย Up skill Gen AI & Digital Skill สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้าน AI และข้อสุดท้าย ให้สิทธิ์เบิกค่าหนังสือ เดือนละ 1 เล่ม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

“ผมผลักดันเรื่องความหลากหลายมาตลอด เรื่องนี้มาจากประสบการณ์จริง ผมโตมาในหลากหลายมิติ และตั้งแต่เด็กเราไม่มีโอกาสเลย ผมเข้าใจความรู้สึกตรงนั้น เราจึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งและให้โอกาสกับทุกคน ซึ่งตรงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ยืดเปล่า คือ กลุ่ม Mass Market กำลังซื้อค่อนข้างล่าง ขณะเดียวกัน อยากเป็นหนึ่งบริษัทเล็กๆ ที่ร่วมส่งเสริมและผลักดันสวัสดิการที่ทำให้พนักงานมีความสุขอย่างหลากหลายเช่นกัน”

ดังนั้น ภายใต้แบรนด์ “ยืดเปล่า” ที่ถือกำเนิดและขับเคลื่อนด้วยคนตัวเล็กรุ่นใหม่ นักธุรกิจหนุ่มย้ำว่า ถ้าวันนี้สามารถสร้างโอกาสให้คนอื่นๆ ถือเป็นสิ่งที่ดีและนั่นเป็นอีกมุมของแบรนด์ที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอีกมากมายด้วย.