วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > AEC > Pathways to 2015 > นครแห่งการศึกษา โอกาสหรือมหันตภัยทางปัญญาในภูฏาน

นครแห่งการศึกษา โอกาสหรือมหันตภัยทางปัญญาในภูฏาน

 

เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ข่าวเรื่องแป๊ะเจี๊ยะได้เขย่าวงการศึกษาไทยอย่างหนัก แม้เราจะทราบว่าปัญหาดังกล่าวได้กัดกินการศึกษาไทยมานานแล้วก็ตาม ในขณะที่การศึกษาไทยก็ยังเดินต่อไปส่วนจะดีจะร้ายอย่างไรเราก็ต้องสู้กันต่อไป ส่วนจะสู้กับใคร ค่อยมาว่ากันทีหลัง ในฉบับนี้ผมขอพูดถึงประเทศภูฏานกับการศึกษาที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

ช่วงที่ผมไปเยือนประเทศภูฏาน ผม และทีมงานของมหาวิทยาลัยรังสิตมีโอกาสได้เข้าพบบริษัท Druk Holding ซึ่งเป็นบริษัท ของรัฐบาลภูฏานที่ได้รับ Royal Charter ให้ เป็นบริษัทในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าจิกมี ผู้บริหารของ Druk Holding ได้สนทนา กับผู้บริหารของ Druk Holding เกี่ยวกับเมกกะโปรเจ็กต์ชื่อ Education City กล่าวคือบริษัทดรุกจะทำการปรับภูเขาระหว่างกรุงทิมพูและเมืองพาโรเพื่อสร้างเมืองการศึกษาโดยเชิญชวนให้มหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยม บริษัทห้างร้านมาเช่า และร่วมกันสร้างเมืองเพื่อนักเรียน โดยทำสัญญาเช่าระยะยาวราวๆ 50 ปี ซึ่งนับว่าเป็นความเสี่ยงหลายประการด้วยกัน บริษัทดรุกหวังว่าการสร้างนครแห่งการศึกษาจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและอนาคตของประเทศภูฏาน รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาคทางตอนเหนือของเอเชียใต้ การฟังโปรเจ็กต์ดังกล่าวทำให้ผมเดินทางไปเยี่ยมชมสถาบันการศึกษาหลายแห่งในภูฏานและพบปัญหาที่ประเทศของเขากำลังประสบอยู่

การศึกษาในระดับประถมและมัธยม ศึกษาโดยรวมในเมืองใหญ่อย่างพาโรหรือทิมพู ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ต่างจากโรงเรียนในประเทศอื่นๆ นัก แม้ว่าอาจจะไม่มีอุปกรณ์มากเท่าที่ควร แต่ในชนบทของประเทศภูฏาน ปรากฏว่าคนจำนวนมากไม่มีการศึกษา โดยประชากรที่มีการศึกษาของภูฏานนั้นต่ำอย่างน่าตกใจ เพราะอยู่ที่ 47% และผู้หญิงเพียง 34% มีการศึกษา ในขณะที่เราด่าการศึกษาบ้านเรา ประเทศไทยมีประชากรถึง 92.6% ที่มีการศึกษาและอัตราส่วนระหว่างชายหญิงต่างกันราวๆ 2-4% แม้ไม่ได้สูงถึง 99% อย่างประเทศพัฒนาแล้ว แต่ประเทศไทยก็ไม่ขี้เหร่ นัก อย่างไรก็ตามเมื่อหันมามองการศึกษาของภูฏานที่มีประชากรแค่ 7 แสนกว่าคน ทำไมถึงมีปัญหาอย่างน่าตกใจ

ปัญหาสำคัญของภูฏานคือระบบอุดม ศึกษาซึ่งประเทศภูฏานไม่มีมหาวิทยาลัยที่เป็นรูปธรรม โดย Royal University of Bhutan เป็นระบบเครือข่ายมหาวิทยาลัย คล้ายๆ กับ มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียซึ่งมีมหาวิทยาลัยในเครือข่ายเช่น Berkeley, UCLA, Davis, Santa Barbara, Irvine และอีกหลาย มหาวิทยาลัยในระบบเครือข่าย อย่างไรก็ตาม อเมริกามีระบบเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่เข้มแข็ง โดยมี University of California, University of Texas หรือ University of Colorado network เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และวิทยาเขตที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ในประเทศไทยเราได้นำแนวคิดเครือข่ายมหาวิทยาลัยมาใช้กับเครือข่ายวิทยาลัยครูเดิมคือมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นต้น อย่างไรก็ตาม Royal University of Bhutan เกิดจากการ รวมตัวของวิทยาลัยและสถาบันหลายแห่งในประเทศภูฏาน อย่างไรก็ตามวิทยาลัยต่างๆในประเทศภูฏานต่างตั้งในพื้นที่ทุรกันดารและ มีมาตรฐานซึ่งไม่ดีมากนัก ขณะที่กรุงทิมพู  ในช่วงแรกไม่มีมหาวิทยาลัยหรือวิทยาเขตใดๆ นอกจากโรงพยาบาลกลางประเทศภูฏานซึ่งมีการเรียนการสอนเพียงด้านพยาบาล ดังนั้นหากนักศึกษาในเมืองต้องการที่จะศึกษา ต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็จะต้องเดินทางไป ที่จังหวัดที่มีวิทยาลัยที่มีคณะที่พวกเขาอยากเรียน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนเนื่องจากความไม่สะดวกในการคมนาคม นอกจากนี้การไม่มีมหาวิทยาลัยในเมืองหลวงทำให้เกิดช่วงสุญญากาศทางการศึกษาซึ่งส่งผลให้คนที่มีเงินในประเทศภูฏานเลือกที่จะเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศเช่นไทย หรืออินเดีย

เมื่อเกิดปัญหาด้านการศึกษามากขึ้น นักธุรกิจและเชื้อพระวงศ์ของภูฏานก็เลยเปิดวิทยาลัยเอกชนขึ้นชื่อ Royal Thimphu College โดยเป็นสถาบันเอกชนในเมืองทิมพู เพื่อรองรับนักศึกษาที่มีฐานะและเรียนในระดับ ปริญญาตรี ไปๆ มาๆ Royal University of Bhutanก็เลยรับเอา Royal Thimphu College เข้ามาเป็นวิทยาเขตหลักของ Royal University of Bhutan เพราะว่ารอยัลทิมพูเป็นสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพมากที่สุดในประเทศ ผมเชื่อว่าหลายท่านที่ทราบระบบ การศึกษาคงจะงงกันไปทั่วว่ามหาวิทยาลัยแห่งชาติแต่ไม่มี campus ของตนเอง เลยต้องเอาวิทยาเขตของสถาบันเอกชนมาใช้และต้องให้ประชาชนที่สอบเข้าได้จ่ายค่าเล่าเรียนแบบเอกชน จะวุ่นวายขายปลาช่อนกันขนาดไหน เท่ากับว่าคนที่สอบเข้าได้ก็อาจจะไม่มีทุนทรัพย์ที่จะเรียนในเมืองหลวงอยู่ดี

ผมเชื่อว่าด้วยเหตุนี้รัฐบาลภูฏานจึงได้จัดงานศึกษาต่อต่างประเทศ ปรากฏ ว่ามหาวิทยาลัยที่ตอบรับคำเชิญก็จะแบ่งเป็นโซนต่างๆ โดยมหาวิทยาลัยของไทยที่ไปจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเช่น มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยหอการค้า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต สถาบันเทคโนโลยี เอเชีย (AIT) และมหาวิทยาลัยชินวัตร ซึ่งเมื่อ ทีมงานจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยไปถึงก็เกิดอาการตกตะลึงกับพฤติกรรมของมหาวิทยาลัยจากแดนภารตะที่เขาเอาคำว่าทุนการศึกษามาแปลเป็นการลดราคาสินค้า ที่เรียกว่าการศึกษาได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยมหาวิทยาลัยจำนวนมากจากประเทศเพื่อนบ้านภูฏานขึ้นป้ายแบบไม่อายฟ้าอายดินว่าลดราคา 60% ทุนการศึกษาแก่ชาวภูฏานทุกคนที่สมัคร 50% ปรากฏว่าบรรดาคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยจากออสเตรเลียที่ไปต่างงงกันเป็นไก่ตาแตก

ผมได้คุยกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัย ต่างๆ ในไทยซึ่งต่างเหลือเชื่อกับพฤติกรรมมหัศจรรย์ดังกล่าว เพราะสำหรับชาวไทยหรือในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทุนการศึกษาคือรางวัลของนักเรียนที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะทางวิชาการ กิจกรรมหรือการช่วยเหลือสังคม แต่ไม่ใช่การลดราคาค่าเล่าเรียนเพื่อผลทางการตลาด นอกจากนี้พฤติกรรมนี้ได้มีผลต่อชาวภูฏานที่มาขอข้อมูลการศึกษาว่าเขาจะได้ทุนกี่เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่เด็กที่มายื่นบางคนได้เกรดเฉลี่ยไม่พอแม้แต่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำ ปัญหาความขาดแคลนควบคู่ไปกับการฉวยโอกาสทางธุรกิจได้ปลูกฝังค่านิยมผิดๆ ด้านการศึกษาให้กับชาวภูฏานอย่างน่ากลัว ผมได้พูดถึงปัญหาดังกล่าวกับข้าราชการภูฏานจำนวนมาก ซึ่งพวกเขาต่างยอมรับถึงปัญหา แต่ยังไม่มีทางออก และต่างหันมาตั้งความหวังไว้กับ Education City ของ Druk Holding

เมื่อผมได้ทราบเรื่อง Education City ยิ่งทำให้ผมทั้งรู้สึกทึ่งและเป็นห่วงการศึกษาและเศรษฐกิจภูฏานไปพร้อมๆ กันเพราะการสร้างเมืองเพื่อการศึกษานั้นย่อมหนีไม่พ้น การลงทุนจำนวนมากในการก่อสร้าง และธุรกิจการศึกษาเองก็ไม่ได้เป็นธุรกิจที่ถอนทุน ได้เร็ว ถ้าบริหารดีๆ ก็คงต้องใช้เวลา 5-10 ปี กว่าจะถอนทุน หากบริหารไม่เป็น 20 ปีก็ไม่ไปไหน ประกอบกับการมีประชากรเพียง 7 แสนคนทั้งประเทศ โอกาสที่จะเกิดการถอนทุนในระยะสั้นนั้นดูเหมือนว่าจะยาก นอกจากนี้มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงส่วนมากที่ภูฏานอยากให้มาลงทุนล้วนแล้วแต่เป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาลซึ่งมีความคล่องตัวในการลงทุนที่ต่ำ ประกอบกับส่วนมากต้อง อาศัยรัฐบาลสนับสนุน ย่อมมีความเป็นไปได้ยากที่จะกล้ามาลงทุนในต่างประเทศ ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงและเน้นคุณภาพย่อมไม่อยากเสี่ยงที่จะลงทุนจำนวนมากแล้วโอกาสถอนทุนได้ค่อนข้างยาก เพราะว่าการรับนักศึกษาจะเป็นไปได้ยากมากหากว่า ต้องการรักษาคุณภาพ นอกจากว่าจะเป็นสถาบันที่เน้นการหานักศึกษาโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพการศึกษา ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงปัญหา ทางการศึกษาในระยะยาวของประเทศภูฏานเช่นกัน ในช่วงที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้มา แสดงนิทรรศการที่ประเทศภูฏาน ทาง Druk Holding ประกาศโปรเจ็กต์ให้กับมหาวิทยาลัย ต่างๆ ทราบเพื่อหาผู้มาลงทุน ซึ่งผลตอบรับโดยมากจะมาจากเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย ซึ่งค่อนข้างมีบทบาทด้านการศึกษาในประเทศ ภูฏานอย่างมาก แต่นั่นก็หมายถึงความเสี่ยงต่อคุณภาพทางการศึกษาซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตามที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น และอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบมหาวิทยาลัยแห่งชาติของประเทศภูฏานได้เช่นกัน

การศึกษาเป็นส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ และพัฒนาประเทศ ดังนั้นการวางแผนเพื่อพัฒนาการศึกษาของภูฏานนับว่าเป็น แนวคิดที่ดี แต่ด้วยจำนวนประชากรที่น้อยประกอบกับความเสี่ยงต่อการลงทุน ควบคู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศภูฏานที่มองว่า นอกจากภูฏานแล้ว Education City ยังสามารถเป็น Educational Hub ของเอเชียใต้โดยมุ่งเน้นไปที่ประเทศอินเดีย เนปาล บังกลาเทศ เพื่อมาศึกษาต่อในประเทศภูฏาน ออกจะเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วการได้นักศึกษาต่างประเทศมาศึกษาที่ประเทศใหม่อย่างภูฏานดูจะไม่เป็นเรื่องง่ายนัก

เราต้องมีการศึกษาเพื่อเป็นกระดูกสันหลังเพื่อพัฒนาศักยภาพของประชาชนในประเทศต่างๆ ให้เป็น Effective Population เพื่อนำประเทศนั้นๆ เพื่อการพัฒนาของชาติ แต่การสร้างอะไรที่เกินกำลังเพื่อมองการศึกษาให้เป็นสินค้าส่งออก เพราะการศึกษาเป็นสินค้าแบรนด์เนมที่ต้องมีชื่อเสียงอย่างยาวนาน แต่ถ้าสร้างเพื่อพัฒนาการศึกษาของ ประเทศตนเองก็ต้องมองว่าเกินความจำเป็น หรือไม่ เมื่อเอาปัญหาการศึกษาของประเทศภูฏานมามองเมืองไทย เราอาจจะพัฒนาไปไกลกว่าเขาหลายสิบปี แต่นั่นไม่ได้แปลว่าปัญหาของเราไม่มี แต่เป็นการมองว่าเราก็ต้อง มีการพัฒนาปรับปรุง โดยเฉพาะเหตุการณ์แป๊ะเจี๊ยะที่เกิดขึ้น เราต้องหันมามองอีกหลาย มิติว่าทำไมเราเลือกที่จะเรียนในที่หนึ่งมากกว่าอีกหลายๆ โรงเรียน อะไรที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย หากมีโอกาสผมจะขอนำมาเขียนในโอกาสต่อไปครับ