วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > On Globalization > เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง

เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง

 
Column: AYUBOWAN
 
บรรยากาศที่แปรปรวนเหนือท้องนภาแห่งเมืองฟ้าอมรก่อนการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทย คงทำให้ใครต่อใครได้ซาบซึ้งและร่วมพรรณนาถึงประสิทธิภาพในการบริหารของผู้มีหน้าที่ในการจัดการของสังคมไทยอยู่ไม่น้อยเลยนะคะ
 
เทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองที่อยู่ร่วมหรือแชร์พื้นฐานความเป็นไปกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรวมถึงอีกฝั่งฟากของของมหาสมุทรในดินแดนเอเชียใต้อีกด้วยนะคะ 
 
ด้วยเหตุที่ประเทศเหล่านี้ต่างมีพื้นฐานและคติความเชื่อที่ยึดโยงกับดวงดาวและกาลเวลา โดยถือว่าปีใหม่เริ่มต้นขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ และถือเป็นการสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยวที่ติดตามมาด้วยการเฉลิมฉลองแห่งการได้มาซึ่งผลผลิตประจำปี
 
แต่การเฉลิมฉลองสงกรานต์ในแต่ละประเทศคงไม่มีที่ใดสนุกครื้นเครงและระห่ำเดือดได้อย่างสุดขีดเท่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหรอกนะคะ เพราะดูเหมือนว่าแม้ผู้คนในสังคมไทยจะมีความกังวลเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะบีบรัดและเขม็งเกลียวหนักหน่วงขึ้นเป็นลำดับ แต่คุณสมบัติหลักของคนไทยว่าด้วยความรักสนุก ทำให้แม้จะเผชิญปัญหานานาเราก็ยังเฮฮาได้ไม่ขาด
 
แต่สำหรับอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย ในดินแดนที่เรียกว่าศรีลังกา ผู้คนที่นี่ก็กำลังเฉลิมฉลอง Aluth Avurudda หรือ Avurudu ด้วยความสงบ พร้อมกับการจับจ่ายซื้อสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคเพื่อการเดินทางกลับภูมิลำเนาและใช้ชีวิตในช่วงวันหยุดนี้อยู่กับครอบครัว
 
กิจกรรมหนึ่งในช่วงเทศกาล Avurudu ที่ร้านรวงต่างๆ นำเสนอต่อผู้บริโภคจึงเป็นกิจกรรมลดราคาสินค้าชนิดที่เรียกว่าลดกระหน่ำ summer sale ไม่ต่างกระแสลมในช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งฤดูกาล และเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้คนทุกระดับสถานะในสังคมไปในคราวเดียวกัน
 
ตามประกาศของทางราชการศรีลังกา Avurudu ซึ่งอยู่ในช่วง 13-14 เมษายน ถือเป็นวันหยุดสำคัญประจำปี แต่สำหรับภาคเอกชนทั่วไปวันหยุด Avurudu อาจทอดยาวตลอดสัปดาห์ ซึ่งหมายรวมถึงร้านค้า ร้านอาหารและภัตตาคารด้วยนะคะ เพราะ Avurudu ถือเป็นเทศกาลของครอบครัว และ “home do” ที่ทุกคนในครอบครัวต่างมาร่วมด้วยช่วยกันมากกว่าการออกไปมะเทิ่งตามท้องถนน
 
ภายใต้รูปแบบของสังคมเกษตรกรรม Avurudu ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำหน้าที่เป็นประหนึ่งการสำรวจมาตรฐานและชื่นชมผลผลิตประจำปี เพราะผลผลิตโดยเฉพาะข้าวจากแปลงนาที่ได้หว่านกรำมาตลอดฤดูเพาะปลูกจะได้รับการปรุงเป็นอาหารมื้อแรกแห่งปีใหม่
 
เมนูอาหารประจำ Avurudu นอกจากจะมีข้าวสารหุงสุกจนเป็นข้าวสวยแล้ว ยังได้รับการปรุงแต่งเป็นผงแป้งเพื่อประกอบเป็นอาหารคาวหวานหลากหลายร่วมสำรับพิเศษในเทศกาลนี้
 
ในสังคมศรีลังกา ซึ่งก็คงไม่แตกต่างไปจากสังคมอื่นๆ ที่บางครั้งและบางห้วงอารมณ์ก็ตกอยู่ในภาวะที่โหยหาช่วงวันคืนในยุคสมัยบ้านเมืองดี ความเป็นไปของ Avurudu แบบราชสำนัก Kandyan ซึ่งถือว่า Avurudu เป็นกิจกรรมภายใต้พระราชูปถัมภ์ขององค์ราชัน ที่เต็มไปด้วยแบบแผนพิธีกรรมที่สะท้อนความมั่งคั่ง ความรุ่งเรืองและความผาสุกของพลเมือง
 
แม้ว่าในเวลาต่อมาอาณาจักรที่รุ่งเรืองนี้จะล่มสลายไปตามกาลก็ตาม
 
ช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง Avurudu ของชนชาวศรีลังกาทั้งชาวสิงหลและชาวทมิฬ อาจมีพิธีกรรมที่แปลกแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ทั้งหมดก็ดำเนินไปท่ามกลางความเคารพในวิถีธรรมชาติและการแสดงออกซึ่งความเชื่อถือศรัทธาต่อทวยเทพเจ้าที่พวกเขาให้การนับถือ ในท่วงทำนองแห่งความสำรวมและสะท้อนรากฐานทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม แม้จะเลื่อนไหลและปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและกาลเวลาบ้างแล้วก็ตาม
 
ที่สำคัญก็คือบริบทของ Avurudu ไม่ได้เป็นไปเพื่อมุ่งเน้นเฉพาะด้านความรื่นเริงอย่างขาดสติ ดังที่ปรากฏในวิถีของผู้ร่วมในวัฒนธรรมฉลองศกใหม่ในบางพื้นที่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเพียงประเพณีที่เพิ่งถูกสร้างและถูกขับเน้นไปในมิติของการปลดปล่อยอารมณ์ที่พุ่งพล่านจากการกรำงานหนัก ถึงขนาดที่ต้องรณรงค์ ออกกฎ จัดระเบียบ และผลิตสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่จริงให้สถิตขึ้นมาในสังคม
 
บางทีเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองแห่ง Avurudu ในศรีลังกาหรือสงกรานต์ในถิ่นไทยก็ดี อาจเป็นภาพสะท้อนความจำเริญของสังคมที่อยู่คนละฟากฝั่งมหาสมุทรอินเดียได้บ้าง ซึ่งอาจทำให้เราสามารถผลิตสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากกฎเกณฑ์ที่หวังจะควบคุม
 
ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าความเป็นไปในสังคมแห่งนั้น ช่างสิ้นไร้วัฒนธรรมเสียเหลือเกินนะคะ