วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > ฮะจิบัง ราเมน แค่ 1 กระทบ 100

ฮะจิบัง ราเมน แค่ 1 กระทบ 100

 

หลังน้ำท่วมใหญ่ในเดือนตุลาคม 2554 ครัวกลางของฮะจิบังราเมนที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับโรงงานเกือบทั้งหมดในนิคม ร้านฮะจิบังราเมนใช้เวลาสั้นๆ เพียง 2 สัปดาห์ประกาศปิดครบ 91 สาขาที่มีทั่วประเทศ แต่กลับใช้เวลาถึงครึ่งปี กว่าจะกู้คืนโรงงานเพื่อให้กลับมาผลิตสินค้าส่งป้อนให้ทุกสาขาเปิดบริการได้อีกครั้ง 

ป้ายประกาศที่ติดไว้อย่างเป็นทางการที่หน้าร้าน มีข้อความ ที่พิมพ์ติดไว้เหมือนกันว่า

“ขอขอบคุณผู้มีอุปการคุณทุกท่านที่มาอุดหนุนร้านฮะจิบัง ราเมน เนื่องจากมีเหตุน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ทำให้ครัวกลางไม่สามารถผลิตวัตถุดิบให้กับทางร้านได้ ดังนั้นทางบริษัทฯ จึงขอปิดบริการชั่วคราว จนกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมลดลงเป็นปกติ ทางร้านจะรีบเปิดให้บริการโดยทันที จึงเรียนมาเพื่อทราบ และขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย”

สาเหตุที่ร้านฮะจิบังต้องปิดบริการชั่วคราวทั้งหมดก็เพราะ โรงงาน-ครัวกลางของไทยฮะจิบังที่นวนคร ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2548 ด้วยงบการลงทุน 180 ล้านบาท เฉพาะมูลค่าก่อสร้างตัวอาคารประมาณ 154 ล้านบาท สร้างขึ้นเพื่อใช้รองรับการผลิตวัตถุดิบป้อนร้านฮะจิบังราเมนได้เต็มที่ 100 สาขา 

ดังนั้นกรณีของไทยฮะจิบัง ต่อให้ป้องกันโรงงานจากน้ำท่วม ไว้ได้เหมือนบางโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร แต่การที่ซัปพลายเออร์ไม่สามารถส่งวัตถุดิบหลักที่จะทำบะหมี่เข้าโรงงานได้เลย ไม่ว่าจะเป็นแป้งสาลี ไข่ เกลือ และน้ำสะอาดเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต โอกาสที่จะเปิดร้านได้จึงเป็นศูนย์ แม้ว่าเกือบ 100 สาขาที่มีอยู่อาจจะไม่ถูกน้ำท่วมเลยก็ตาม

เมื่อน้ำท่วมและกรณีเกิดเหตุระเบิดในเมืองหาดใหญ่ ไทยฮะจิบังก็ได้รับผลกระทบเพียงแค่ยอดขายจากสาขาในพื้นที่ที่ตกลง เพียงแค่ 1-2 สาขาที่มีอยู่ในพื้นที่ แต่น้ำท่วมครั้งนี้โจมตีหัวใจที่ครัวกลาง แม้ไม่มีเสียงตูมตาม แต่ก็หยุดธุรกิจให้เหมือนตายไปเลยชั่วขณะ นอกจากเขื่อนแล้วบริษัทไม่มีแนวป้องกันหรือแผนสำรองใดๆ ทำให้ถูกบังคับหยุดกิจการไปโดยปริยาย

ช่วงแรกฮะจิบังคิดว่าจะใช้เวลาปิดร้านเพียงแค่ 1 สัปดาห์ จากประกาศของร้านที่นำมาปิดไว้ในช่วงแรก หวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย แต่สุดท้ายก็ต้องปิดนานเกินกว่าที่คิด 

ลูกค้าฮะจิบังราเมนประเภทขาประจำและไม่ประจำ เริ่มคุ้นเคยกับป้ายประกาศที่ติดไว้และนำไปสู่ข้อสงสัยว่า เพราะอะไร กิจการร้านอาหารที่เน้นเมนูง่ายๆ อย่างบะหมี่ จึงใช้เวลาฟื้นฟูนานขนาดนี้ ทั้งที่ธุรกิจขนาดใหญ่อย่างรถยนต์ก็ยังกลับมาเดินเครื่องผลิตใหม่อีกครั้งได้เร็วกว่าเสียอีก

เพราะหลังจากที่ทุกบ้านและทุกโรงงานที่ถูกน้ำท่วมเริ่มเข้าเก็บกวาดหลังน้ำลดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 เป็นต้นมา สถานการณ์ครัวกลางของฮะจิบังก็ดูเหมือนจะยังไม่คลี่คลายจนกระทั่งล่วงเข้ากลางเดือนมกราคม 2555 ร้านฮะจิบังจึงเพิ่งจะทยอย เปิดทำการอีกครั้ง และเริ่มเปิดใหม่ได้เพียง 7 สาขาเท่านั้น กว่าจะเปิดได้ครบรวมแล้วใช้เวลาร่วมครึ่งปีนับตั้งแต่น้ำท่วมโรงงาน

เป็นช่วงเวลาที่แตกต่างจากตอนประกาศปิด ซึ่งใช้เวลาเพียง 16 วันก็ทยอยปิดได้ครบทั้ง 91 สาขาทั่วประเทศ

ช่วงเวลาที่แตกต่างกันนี้สะท้อนภาพความร้ายแรงจากผลกระทบของพิบัติภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมว่ามีผลกระทบต่อธุรกิจมากเพียงใด ถึงขนาดทำให้ร้านบะหมี่ที่หากินได้เกือบทุกห้างสรรพสินค้าในเมืองไทยต้องหยุดทำการ พนักงานในร้านต้องหยุดงาน บริษัทขาดรายได้ บริษัทไทยต้องรายงานผลเสียหายไปยังบริษัทแม่ในญี่ปุ่น

ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า หากธุรกิจขาดแผนสำรอง ในกรณีฉุกเฉิน การกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้เต็มที่อีกครั้งต้องใช้เวลาตั้งตัวกันนานทีเดียว

ร้านฮะจิบังราเมนส่วนใหญ่มีขนาดร้านประมาณ 100 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุนสาขาละประมาณ 10 ล้านบาท เป็นบะหมี่สไตล์ญี่ปุ่นที่คนไทยรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติคุ้นเคย เพราะมีเปิดให้บริการทั้งในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และไทย

ในประเทศไทยถือว่าได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับสอง มีสาขาในปัจจุบันรวม 94 แห่ง มากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นต้นตำรับและเจ้าของแฟรนไชส์ร้านที่มีอยู่ 153 สาขา

เมนูบะหมี่และอาหารอื่นๆ ในร้าน ทานง่าย ใช้เวลาทำไม่นาน และราคาไม่แพง มีเมนูให้เลือกประมาณ 30 รายการ เริ่มต้นตั้งแต่ถูกสุดประมาณ 50 บาท และราคาแพงสุดสำหรับเมนูอาหารชุดก็อยู่ที่ 100 บาทต้นๆ เมนูที่เป็นที่นิยม ได้แก่ บะหมี่เย็นหรือซารุราเมน และซารุเซ็ท บะหมี่เย็นที่จับคู่มากับเกี๊ยวซ่า ซึ่งแม้จะเปิดให้บริการครบทุกสาขาแล้วในเดือนมีนาคม แต่เกี๊ยวซ่า ก็เป็นเมนูที่ดีเลย์เพราะผลกระทบจากน้ำท่วมที่ตามมาหลังสุด

เฉลี่ยแล้วราคาหนึ่งอิ่มของฮะจิบังถูกกว่าฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัลด์ประมาณ 10% และมีราคาใกล้เคียงกับเคเอฟซี จึงเป็น ที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงลูกค้าที่มาทานกันเป็นครอบครัว แต่มีจุดเด่นที่รสชาติและสไตล์ของร้านที่เน้นความเป็นบะหมี่ญี่ปุ่นต้นตำรับ

ลูกค้าของฮะจิบังเกือบ 50% จัดอยู่ในประเภทแฟนประจำ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสบอกต่ออย่างรวดเร็วในช่วงที่บริษัทประกาศปิดกิจการชั่วคราวหรือแม้แต่ตอนกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง โดยเฉพาะในโซเชียลเน็ตเวิร์ก

รวมถึงจำนวนลูกค้าที่กลับไปใช้บริการจำนวนมากเมื่อสาขาต่างๆ ของฮะจิบังกลับมาเปิดให้บริการได้เหมือนเดิม กลายเป็นความเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งของบริษัทหลังจากการติดป้ายประกาศขออภัยที่ต้องปิดร้านเมื่อเดือนตุลาคม เป็นกระแสบอกต่อ ปากต่อปากถึงร้านสาขาต่างๆ ที่เริ่มทยอยกลับมาเปิด เหมือนกับปรากฏการณ์ของสินค้าอีกหลายๆ แบรนด์ในตลาดที่เริ่มกลับเข้ามาสู่ชั้นวาง

ขณะที่ความเคลื่อนไหวเป็นทางการจากบริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด นอกจากการประกาศความพร้อมให้บริการไว้บนเว็บไซต์ของบริษัท นิพนธ์ เหลืองภัทรเมธี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยจำนวน 14.3% จากทุนจดทะเบียนบริษัท 192.4 ล้านบาท เขียนจดหมายชี้แจงไปยังตลาด หลักทรัพย์ญี่ปุ่น (JASDAQ) ซึ่งบริษัทฮะจิบังจดทะเบียนอยู่ในตลาด ภายใต้เลขรหัสหลักทรัพย์ 9950 เพื่อบอกเล่าลำดับเหตุการณ์นับแต่ประสบภัยน้ำท่วมจนเริ่มกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งอย่างเป็นทางการ

ใจความสำคัญของรายงานซึ่งเขียนแจ้งไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 บอกให้ทราบว่า บริษัทสามารถกลับมาเริ่มต้นธุรกิจ ใหม่ได้อีกครั้งในไทย โดยเริ่มเปิดร้านในวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2555 จำนวน 7 สาขา และมีแผนเปิดบริการครบทั้ง 91 สาขาในปลาย เดือนกุมภาพันธ์ 2555 พร้อมกับบอกเล่ารายละเอียดก่อนหน้าให้ทราบ ตั้งแต่สถานะของบริษัทที่เป็นบริษัทร่วมทุนกับฮะจิบังราเมน ในญี่ปุ่นดำเนินธุรกิจร้านแฟรนไชส์ฮะจิบังราเมนในประเทศไทย ที่ขยายสาขาไปทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นเจ้าของครัวกลางที่ใช้ผลิตวัตถุดิบป้อนสาขาทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

“ครัวกลางของบริษัทได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเช่นเดียวกับพื้นที่ 90% ของนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งมีน้ำท่วมเฉลี่ย ในพื้นที่สูงเกือบ 2 เมตร ทำให้ได้รับความเสียหาย และต้องปิดกิจการร้านทั้งหมดชั่วคราว ผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจอาหารที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ฮะจิบังราเมนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นผลกระทบต่อรายได้ที่เกิดกับกลุ่มอุตสาหกรรม โดยรวมของประเทศไทยในช่วงดังกล่าว” สาระสำคัญตอนหนึ่งของการชี้แจงของไทยฮะจิบังต่อ JASDAQ

นานเป็นเวลากว่า 2 เดือน นับตั้งแต่เขื่อนรอบนิคมอุตสาหกรรมนวนครแตกและน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่อย่างรวดเร็ว กลายเป็น ภาพการแตกตื่นหนีน้ำกันอลหม่านของแรงงานในนิคมฯ จนกระทั่ง วันที่ 23 ธันวาคม บริษัทไทยฮะจิบังจึงสามารถกลับเข้าไประบาย น้ำส่วนที่ยังท่วมขังออกจากโรงงาน ทำการฟื้นฟูระบบประปา ไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้กลับมาใช้งานได้ รวมถึงตรวจซ่อมเครื่องจักร

ที่สำคัญคือการตรวจสอบระบบควบคุมความปลอดภัยในการผลิตอาหาร และตรวจเช็กสุขอนามัยในโรงงาน ซึ่งต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาตรวจสอบเพื่อยืนยันความปลอดภัย พร้อมกับแนบรายชื่อผู้ตรวจสอบที่เชื่อถือได้ไปกับรายงานให้กับ JASDAQ ในครั้งนี้ด้วย

หลังตรวจเช็กความพร้อมทุกด้าน ไทยฮะจิบังเริ่มเดินเครื่อง ผลิตวัตถุดิบสำหรับส่งป้อนสาขาอีกครั้งในวันที่ 11 มกราคม 2555 แต่การผลิตช่วงเริ่มต้นก็สามารถส่งวัตถุดิบป้อนได้เพียง 7 สาขาแรกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น ซึ่งมีลูกค้าที่รอการกลับมาของร้านจำนวนมาก ก่อนจะค่อยๆ เดินเครื่องทุกส่วนของ โรงงานให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ 100% และส่งวัตถุดิบป้อนทุกสาขา ได้ครบในปลายเดือนกุมภาพันธ์ รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

แม้จะต้องปิดร้านไปเกือบครึ่งปี แต่ฮะจิบังราเมนก็มีร้านสาขาใหม่เพิ่มอีก 3 สาขาในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเปิดพร้อมกับอีก 1 สาขาที่มีการปรับปรุงใหม่ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2555 

อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงแนวทางป้องกัน หรือรับมือกับปัญหาน้ำท่วมหรือแม้แต่แสดงการคาดการณ์จะเกิดน้ำท่วมซ้ำอีกครั้งหรือไม่ในปีนี้ เพียงแค่แสดงความมั่นใจว่าบริษัทยังคงเดินหน้าโรงงานผลิตในครัวกลางที่นวนครโดยไม่มีแผนที่จะย้ายการผลิตไปที่อื่น

นอกจากไทยฮะจิบังที่มีครัวกลางหรือโรงงานผลิตวัตถุดิบสำหรับร้านสาขาอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง ยังเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานผลิตและครัวกลางของร้านอาหารแบรนด์ดังอีกหลายแบรนด์ เฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมนวนครแห่งเดียวมีโรงงานของบริษัทผู้ผลิตอาหารต่างๆ รวม 12 บริษัท และมีบริษัทในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างบรรจุภัณฑ์อยู่อีก 7 โรงงานด้วย ทุกแห่งต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน คือถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องหยุดการผลิตสินค้าชั่วคราว บางโรงงาน ที่มีฐานการผลิตหรือคลังสินค้าที่อื่นก็สามารถย้ายแรงงานไปยังแหล่งอื่นชั่วคราว 

บริษัท เอ็มเค เรสโตรองท์ จำกัด ซึ่งมีครัวกลางอยู่ที่นวนคร เช่นกัน แม้จะป้องกันตัวเองจากน้ำท่วมไว้ได้ด้วยการล้อมคันดิน 2 เมตรรอบโรงงาน แต่ก็ตัดสินใจปิดโรงงานแล้วย้ายพนักงานกว่า 200 คนไปทำงานที่โรงงานย่านบางนาแทน เพราะทั้งพนักงานและ ซัปพลายเออร์ที่ต้องการส่งสินค้าไปยังครัวกลางต่างก็ไม่สามารถเข้าออกโรงงานได้ ส่วนร้านเอ็มเคสุกี้ก็สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ เพราะโรงงานที่บางนา-ตราด สามารถซัปพลายสินค้าให้กับร้านเอ็มเคสุกี้ได้อย่างน้อย 300 สาขา

เช่นเดียวกับบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มีโรงงานผลิตเครื่องดื่มอยู่ในนิคมเดียวกัน ก็ต้องอพยพพนักงานและ ย้ายการผลิตสินค้าไปที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ จ.ชลบุรี รวมทั้งคลังสินค้าสำหรับร้านโออิชิบุฟเฟ่ต์ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการย้ายไปใช้พื้นที่ของบริษัทในนิคมอมตะ จังหวัดชลบุรีเช่นกัน พร้อมๆ กับเตรียมแผนสำรองที่จะเช่าคลังสินค้ากระจายไปในหลายพื้นที่หากสถานการณ์น้ำท่วมเข้าขั้นวิกฤติ

ขณะที่บริษัท ยัม เรสโตรองท์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้บริหารร้านเคเอฟซี และพิซซ่าฮัท ก็ขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารในร้านบางส่วน ทำให้แม้จะยังเปิดให้บริการในช่วง น้ำท่วม แต่ก็เหลือเพียงเมนูหลักอย่างไก่ทอดและเฟรนช์ฟรายส์ แต่สินค้าอื่นๆ โดยเฉพาะเมนูปรุงรสแบบไทยๆ ก็หายไป สรุปเหลือ เมนูที่สามารถให้บริการได้ปกติประมาณ 60-70% ของเมนูปกติที่เคยมี เพราะขาดแคลนส่วนผสมที่ไม่สามารถส่งมาจากโรงงานที่อยุธยาได้เหมือนกัน

ขณะที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่ติดกับนวนครอย่างนิคมอุตสาหกรรมเอ็มเอ็มซี ซึ่งเป็นแหล่งโรงงานผลิตอาหารจำนวนมาก รวมถึงโรงงานผลิตเครื่องแกงของบลูเอเลเฟ่น (Blue Elephant) แบรนด์อาหารไทยที่ส่งไปจำหน่ายทั่วโลก แม้ตัวนิคมจะรอดพ้นจากน้ำท่วมเพราะเป็นนิคมที่มีพื้นที่สูงกว่านิคมอุตสาห-กรรมนวนครที่สร้างมาก่อนถึง 2 เมตร แต่ก็ต้องได้รับผลกระทบไม่ต่างกันเท่าไรนัก

“ตอนนั้นเรามีแผนรับมือเผื่อน้ำท่วม มีแผนอพยพ เริ่มทำสต็อกสินค้า และร่วมกับโครงการบล็อกน้ำเพื่อป้องกันกรณีน้ำท่วม ไม่ให้เข้าถึงตัวโรงงาน แต่พอน้ำท่วมถึงโรงงานจะรอดแต่เราก็เข้า ออกไม่ได้อยู่ดี ต้องมีเรือรับส่งพนักงานแต่ซัปพลายที่จะใช้ในการผลิตก็ไม่สามารถส่งมาได้ สรุปแล้วเราต้องหยุดการผลิตไปประมาณเดือนครึ่ง” สุกิจ งามพาณิชย์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัทบลูเอเลเฟ่นท์กรุงเทพ จำกัด และบริษัท บลูสไปซ์ จำกัด เล่า

ยอดขายผลิตภัณฑ์ของบลูเอเลเฟ่นจากปี 2553 อยู่ที่ 60 ล้านบาทต้นๆ จึงขยับเพิ่มขึ้นมาได้แค่ 65 ล้านบาทเท่านั้นในปี 2554 และตั้งเป้าว่าปีนี้บริษัทน่าจะทำยอดขายให้เติบโตกลับมาในระดับที่ตั้งเป้าไว้ที่ 70-75 ล้านบาท แม้ว่าอาจจะต้องเจอกับ ภาวะน้ำท่วมเหมือนปีที่แล้วก็ตาม

“ปีนี้เรามีแผนสำรองไว้หลายชั้น สมมุติถ้าน้ำท่วมถึงขั้นทำอะไรไม่ได้เลย ก็จะผลิตสินค้าสต็อกไว้ให้พอขายอย่างน้อย 1 เดือน มากกว่านี้คงไม่ได้เพราะอายุสินค้าสั้น แต่ถ้าท่วมมากสัก 2 เดือน ก็เล็งทำเลโรงงานที่จะเช่าผลิตสินค้าไว้แล้วในย่านอื่น เช่น ชลบุรี สมุทรปราการ รวมถึงจังหวัดใกล้ๆ อย่างอยุธยาในจุดที่น้ำไม่ท่วมที่ให้เราย้ายจากตรงนี้ได้เร็วที่สุด โดยสามารถย้ายเครื่องจักรเพื่อไปเริ่มการผลิตในที่ใหม่ได้ภายใน 15 วัน”

ส่วนของพนักงานที่จะย้ายตามบริษัทก็สามารถจัดบริการรถรับส่งและที่พักให้เช่นกัน เพราะพนักงานถือเป็นส่วนสำคัญ โดยปัจจุบันทั้งโรงงานมีพนักงานราว 60 ชีวิต สำหรับผลิตสินค้าตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ซึ่งยังสามารถรับเพิ่มเมื่อมีการขยาย การผลิตในอนาคต

กรณีถ้ามีแนวโน้มจะท่วมทุกปี สุกิจบอกว่าบลูเอเลเฟ่นคงต้องย้ายโรงงานไปทำเลอื่นเลย แต่ ณ ตอนนี้เขาเชื่อว่าคงไม่ถึงขั้นต้องย้ายฐานการผลิตแต่อย่างใด

บทสรุปจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ของไทยเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากความเสียหายที่มองไม่เห็นอีกมาก นอกจากความเสียหายทางกายภาพที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าของพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม หลายโรงงานแม้จะเอาตัวรอดแต่ก็ไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบซัปพลายเชนได้ บางแห่งก็ต้องหยุดการผลิตไปโดยปริยายเช่นกัน บางแห่งมีวัตถุดิบสต็อกไว้เพียงพอแต่ก็ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ตามปกติ

เหตุการณ์นี้ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ให้กับธุรกิจไทยที่อาจ จะไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า ภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมที่ค่อยๆ เอ่อล้นมานั้น จะสร้างผลกระทบให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักนาน ถ้าไม่มีเงินทุนสำรองมากพอ ผลที่ร้ายแรงที่สุดอาจจะทำให้บางธุรกิจต้องล้มหายไป ถ้าจะให้ดี กว่านั้นสิ่งที่ธุรกิจไม่ควรประมาทอีกต่อไปคือควรมีแผนสำรองกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้ธุรกิจชะงักไว้

หากย้อนดูเหตุการณ์สำคัญๆ ระดับโลก ที่ส่งผลต่อธุรกิจ กรณีถล่มอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก เมื่อปี 2544 (2001) หรือเหตุการณ์ 911 แม้จะเป็นเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เกิดผลกระทบและสะเทือนขวัญไปทั่วโลก แต่ธุรกิจต่างๆ ในนิวยอร์กที่หยุดชะงักไปก็สามารถกลับมาให้บริการตามปกติได้หลังจากวันเกิดเหตุเพียง 3 วันเท่านั้น

แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อต้นปี 2554 ก่อนน้ำท่วมในไทย แม้จะมีปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ต้องปิดเดินเครื่อง แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็สามารถใช้แผนสำรองโดยส่งไฟจากโรงไฟฟ้าอื่นเข้ามาแทนพร้อมกับออกนโยบายให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟอย่างเคร่งครัด และที่น่าอัศจรรย์ที่สุดคือรถไฟฟ้าของญี่ปุ่น JR Railways สามารถกลับมาให้บริการได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว

“ผลกระทบจากน้ำท่วมในไทยทำให้เราพบว่าการเสียโรงงานหนึ่งที่กรุงเทพฯ ก็กระทบไปถึงโรงงานที่ญี่ปุ่นด้วย” ศ.ดร. โตชิโอะ โอบิ (Professor Dr.Toshio Obi) จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าว

ดร.โตชิโอะเป็นประธานของ International Academy of CIO ที่เดินทางเข้ามากล่าวปาฐกถาให้นักธุรกิจไทยฟังเมื่อเร็วๆ นี้ ในงานสัมมนา Thailand ICT Excellence Awarda 2011-2012 ของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย โดยหวังว่าบทเรียน ล่าสุดจากสึนามิที่ญี่ปุ่น และน้ำท่วมในไทยเมื่อปีที่แล้ว จะทำให้หลายฝ่ายตระหนักเพื่อวางแผนรับมือให้ธุรกิจสามารถเดินได้อย่างต่อเนื่องแม้ในภาวะวิกฤติให้ดีขึ้น หรือที่เรียกว่ามี Business Continuity Plan (บีซีพี)

“ตอน 911 บางบริษัทสามารถทำธุรกิจต่อได้หลังจากเหตุการณ์แค่ 1 วัน รถไฟในญี่ปุ่น (JR Railways) ก็สามารถกลับมาให้บริการตามปกติได้อย่างน่าอัศจรรย์ ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นเราพบว่าประมาณ 70% ของบริษัทที่มีการเซตอัพบีซีพีสามารถฟื้นบริษัทได้ใน 3 เดือน ถือว่าเร็วมากจากผลเสียหายที่เกิดขึ้น มีเพียง 6.5% เท่านั้นที่ยังไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ ตอนนี้ธุรกิจในญี่ปุ่นมีความตระหนักเรื่องบีซีพีสูงถึง 61.2% เพราะทุกคนรู้ว่าควรจะมีบีซีพีธุรกิจก็มีโอกาสอยู่รอด นี่คือความจริง”

ผลกระทบจากน้ำท่วมโรงงานไทยต่อธุรกิจในญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเกิดเพราะห่วงโซ่อุปทานบางช่วงถูกตัดขาด ทำให้สินค้าที่รอการผลิต หรือประกอบให้สมบูรณ์เพื่อส่งออกสู่ตลาดไม่สามารถ ดำเนินการได้ และทำให้วงจรการผลิตสินค้าหลายชนิดต้องชะงักไปโดยปริยาย เช่น สินค้าประเภทรถยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งกรณีรถยนต์ทำให้ยอดขายรถในตลาดหลายประเทศต้องหยุดชะงัก ขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ในตลาดโลกปรับตัวขึ้นทันที เมื่อมีการประเมินว่าอุปกรณ์บางชิ้นจะขาดตลาดเพราะโรงงานที่ถูกน้ำท่วมในไทยจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกว่าจะกลับมาผลิตสินค้าป้อนตลาดได้ดังเดิม

กรณีของฮะจิบังราเมน แม้จะดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเองในไทยภายใต้ลิขสิทธิ์จากบริษัทแม่ในญี่ปุ่น แต่ความที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่อันดับสองรองจากประเทศต้นกำเนิด ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ที่หายไปเกือบครึ่งหนึ่ง แม้ว่านโยบายการจ้างพนักงานของร้านจะมีสัดส่วนของพนักงานพาร์ทไทม์จำนวนมาก แต่ก็ยังมีพนักงานประจำที่บริษัทต้องดูแลแม้ในช่วงที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้  

ที่ผ่านมาประเทศไทยก็เคยเจอเหตุการณ์พิบัติภัยธรรมชาติ ถี่ขึ้น ทั้งดินถล่ม น้ำหลากในหลายพื้นที่ แม้แต่การเกิดสึนามิซึ่งคนไทยและธุรกิจไทยไม่เคยเจอมาก่อนในปี 2547 ภัยพิบัติเหล่านี้ ไม่เพียงให้บทเรียนกับคนไทยแต่เป็นสถานการณ์ที่ทำให้บรรดาธุรกิจต่างๆ ได้เรียนรู้เพื่อหาวิธีรับมือ เพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติ ใกล้ตัวและเสี่ยงต่อธุรกิจมากขึ้นและเกิดขึ้นถี่กว่าเดิม ยิ่งเมื่อบวกเข้ากับภัยที่มนุษย์สร้างขึ้นซ้ำเติมตัวเองด้วยแล้ว ก็เรียกได้ว่าภัยพิบัติมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

บทสรุปจากการชะงักงันของธุรกิจจากเหตุการณ์หลากรูปแบบที่เกิดขึ้น จึงไม่ต่างจากสัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่เตือนให้ทุกธุรกิจต้องตระหนักอย่างจริงจังแล้วว่า ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจต่างๆ จะต้องเริ่มต้นสร้างเกราะป้องกันให้กับธุรกิจ ด้วยการจำลองหรือมองปัญหาและวิธีการแก้ไขล่วงหน้า เพื่อคิดกลยุทธ์และแผนสำรอง ฉุกเฉินที่จะทำให้ธุรกิจเดินได้อย่างต่อเนื่องเมื่อเผชิญปัญหาต่างๆ เพื่อไม่ต้องให้ธุรกิจหยุดชะงักยาวนานหรือแม้แต่ชั่วระยะสั้นๆ ดังเช่นผลกระทบหลายระดับต่อหลายธุรกิจจากเหตุการณ์น้ำท่วม 2554 ที่ผ่านมา