แก้วสารพัดนึกชื่อ EEC และคาถาเสื่อมมนต์ไทยแลนด์ 4.0
หากตั้งประเด็นคำถามว่ารัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายเศรษฐกิจ หรือจัดวางน้ำหนักในการพัฒนาประเทศไว้ที่เรื่องใด เชื่อว่า โครงการเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) คงเป็นโครงการที่ผุดขึ้นในกระแสสำนึกอย่างทันที ด้วยเหตุที่สื่อประชาสัมพันธ์ภาครัฐต่างโหมประโคมโครงการที่ว่านี้ อย่างต่อเนื่องและเป็นประหนึ่งโครงการแห่งความหวังว่าจะช่วยฉุดลากเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลานับจากนี้ให้หลุดพ้นจากหุบเหวของความตกต่ำที่ต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเสียที แม้ว่าในความเป็นจริงโครงการที่ว่านี้ไม่ได้มีอะไรใหม่มากไปกว่าการพัฒนาพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง ซึ่งในด้านหนึ่งก็คือ การสานต่อและเติมเต็มโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ดำเนินมาเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ให้มีความสดใหม่เพิ่มขึ้นและขยับให้ EEC เป็นประหนึ่งข้อต่อเชื่อมที่จะทำให้โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเสร็จสมบูรณ์เต็มตามเป้าประสงค์ ภายใต้แผนการพัฒนา EEC รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดวางแผนงานเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ไว้ 8 แผนงาน ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือสัตหีบและบริการลอจิสติกส์ต่อเนื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ การพัฒนาศูนย์กลางการเงิน การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี การพัฒนาเมืองใหม่ ฉะเชิงเทรา-พัทยา-ระยอง และที่ดูจะให้ความสำคัญมากก็คือ การประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศโดยรวม โดยก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 จำนวน 212
Read More