เศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยความผันผวนจากการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ และสงครามการค้าทรัมป์ 2.0 ที่กำลังเขย่าโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ซึ่งประเทศไทยกำลังยืนอยู่บนทางแยกแห่งความท้าทายนี้
IMF ประเมิน GDP ประเทศไทยของปีนี้ว่าจะเติบโตที่ 1.8% ส่วน World Bank ประเมินไว้ที่ 1.6% ในขณะที่หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยเองก็มีการประเมินตัวเลขการเติบโตของ GDP ที่แตกต่างกันออกไป มีตั้งแต่ 1.3% ขยับไปเป็น 2% กว่าๆ แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่ถึง 3% ตามเป้าที่วางไว้ นั่นทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลและพยายามหากลไกในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่ม GDP ให้กับประเทศ
กฤษณ์ จันทโนทก ประธานกรรมการอำนวยการ สกสว. และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แสดงทัศนะที่น่าสนใจในงานเสวนา “กระตุก GDP ไทยด้วยกองทุน ววน.” ซึ่งจัดโดยสำนักยุทธศาสตร์แผน ติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ไว้ว่า
ที่ผ่านมาประเทศไทยรอดจากวิกฤตหลายๆ ครั้งได้ เพราะอยู่ในจังหวะที่โลกเข้าข้าง ช่วงสงครามเย็นไทยได้แรงหนุนมาจากประเทศมหาอำนาจด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ทำให้สามารถผ่านสถานการณ์มาได้อย่างดี ยุคปี 1980 ไทยได้รับอานิสงส์การลงทุนจากญี่ปุ่นทำให้อุตสาหกรรมไทยเติบโต หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยได้อานิสงส์จากแรงงานที่มีต้นทุนไม่สูงและโลกเปิดการค้าเสรี แต่มาถึงวันนี้มีคำถามว่าโอกาสเหล่านั้นยังมีอยู่หรือไม่ เมื่อเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ในขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจแบบเดิมเริ่มอ่อนกำลัง
“เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถฟื้นกลับมาในระดับก่อนโควิดได้ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 4 ปี ตั้งแต่ปี 2021-2024 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยเพียง 2.1% ซึ่งต่ำที่สุดในอาเซียน อันนี้ถือเป็นสัญญาณว่าเครื่องยนต์เดิมทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภค กำลังอ่อนแรง ขณะเดียวกันเรายังเผชิญกับข้อจำกัดเชิงโครงสร้างอย่างมากมาย หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 88% ของ GDP ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ สัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่สูงยังเสี่ยงต่อสงครามทางการค้า จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มมีความน่ากังวล FDI ที่ไหลไปอยู่ประเทศอื่นที่มีระบบนวัตกรรมที่ครบถ้วนและครบวงจรกว่าเราเริ่มเห็นชัด นี่ยังไม่รวมเรื่องภาษีทรัมป์ 2.0 ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้อยู่ ประเทศไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โอกาสที่จะมี GDP เติบโตเกิน 2% ไม่ใช่เรื่องง่าย”
โดยกฤษณ์มองว่า วันนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมารอให้เครื่องยนต์เก่ากลับมาฟื้นตัว แต่เป็นเวลาที่ต้องกล้าสร้างเครื่องยนต์ใหม่ให้กับประเทศ ซึ่งระบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีคือคำตอบ และถึงเวลาแล้วที่ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ จะไม่เป็นเพียงกลไกสนับสนุนที่อยู่เบื้องหลัง แต่ต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการเปิดพื้นที่และสร้างอนาคตใหม่ให้กับประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่างานวิจัยคือกลไกสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม แต่ดังที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยมีงานวิจัยอยู่เป็นจำนวนมากและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2023 มีบทความวิชาการตีพิมพ์มากกว่า 15,000 ชิ้น เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขนี้สะท้อนศักยภาพของนักวิจัยไทยได้อย่างดี แต่ในอีกด้านหนึ่งไทยกลับมีสิทธิบัตรเพียง 11 ฉบับต่อประชากร 1 ล้านคน และมีเพียง 12% ของธุรกิจไทยที่สามารถนำนวัตกรรมไปพัฒนาเป็นสินค้าและบริการได้จริง สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ประเทศไทยขาดไม่ใช่ความรู้หรือแรงบันดาลใจ แต่คือ ‘ระบบเชื่อมต่อ’ ที่เปลี่ยนงานวิจัยให้กลายเป็นนวัตกรรมเชิงเศรษฐกิจที่ใช้ได้จริง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องแก้กันต่อไป
“เราต้องกล้าสร้างเครื่องยนต์ใหม่ให้กับประเทศ นั่นคือนวัตกรรมและเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรมต้องลงทุนกับงานวิจัย คุณภาพทุนมนุษย์และสถาบัน แต่ความท้าทายคือต้องทำให้งานวิจัยเกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ไทยเรามีงานวิจัยจำนวนมาก แต่ยังขาดการเชื่อมโยงเพื่อต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ในต่างประเทศมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่แปลงงานวิจัยให้เป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง ดูแลตั้งแต่สิทธิบัตร ออกใบอนุญาต ไปจนถึงการปั้นสตาร์ทอัป ถามว่าไทยมีไหม ก็ต้องตอบว่าเรามีรูปแบบนี้เหมือนกัน แต่มันยังไม่เชื่อมโยง จะทำยังไงให้ครบวงจรจริงๆ และต่อยอดไปสู่ทุกภาคส่วนได้ เพราะถ้าไม่ทำ งานวิจัยก็ยังเป็นงานวิจัยที่วางอยู่บนหิ้ง แต่ไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง ถึงเวลาที่ต้องคิดแบบธุรกิจ เริ่มเล็ก ทดลองไว ล้มไว ปรับไว และขยายในสิ่งที่ทำต่อได้ เพราะเทคโนโลยีไม่ใช่แค่เครื่องมือ แต่คือสนามแข่งขันที่ไม่รอใคร”
ทั้งนี้ กฤษณ์มองว่า อุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพในการนำนวัตกรรมมาต่อยอดและสามารถแข่งขันได้ ยังคงเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสุขภาพ, อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ที่สำคัญคือต้องเร่งสร้างระบบเชื่อมต่อจากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริงให้ได้
ในขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัทและกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มองว่า ปัญหาของเมืองไทยคือ 1. บุญเก่าของประเทศกำลังจะหมด อุตสาหกรรมที่เคยเก่งกำลังตกยุค 2. ไทยกำลังจะถูกเพื่อนๆ แซง และทิ้งไว้ข้างหลัง และ 3. โลกกำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนใหญ่ ถ้าไม่ปรับตัว ไทยจะเสื่อมถอยในอัตราเร่ง
“สิ่งที่ทุกคนหนักใจคือ เราพยายามมาหลายปีแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถทะลุเพดานขึ้นไปอีกขั้นได้ ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางที่ติดหล่มมาหลายสิบปี ปัญหาของเมืองไทยคือ บุญเก่าของเรากำลังหมด อุตสาหกรรมที่เคยเก่งกำลังตกยุค ตั้งแต่รถยนต์สันดาป อิเล็กทรอนิกส์ยุคเก่า ฮาร์ดดิสก์ โรงงานเหล็กไม่กำไร บางแห่งเริ่มเป็น NPL โรงงานปิโตรเลียมเริ่มมีปัญหาเรื่องคาร์บอนและตกเทรนด์ หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมอาหารก็เริ่มมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาดิสรัปต์ ทุกอย่างที่ทำให้ประเทศไทยมายืนตรงนี้ได้ กำลังจะจากเราไป ไม่เพียงเท่านั้น ไทยยังโดนเพื่อนบ้านแซงและทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามที่กำลังเร่งเครื่องแซงหน้าเรา ในขณะที่เทคโนโลยีก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถ้าเราไม่เปลี่ยนก็ตกยุค”
โดย ดร.กอบศักดิ์แนะนำว่า สิ่งที่ไทยต้องทำท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ “ลอกคราบ-ปลดล็อก-สร้างบุญใหม่” และเห็นพ้องต้องกันว่า “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” คือหัวหอกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
“ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทั้งเรื่องเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การค้าโลก สิ่งที่เรามีวันนี้ หรือเคยเป็นจุดแข็งของประเทศไทย มันอาจจะไม่ใช่จุดแข็งอีกต่อไป โรงงานที่เรามีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มันตกยุคไปแล้ว ทำยังไงถึงจะเปลี่ยนให้เป็นโรงงานยุคใหม่ ต้องลอกคราบให้ทันสมัย เพื่อได้ไปต่อ การผลิตแบบเดิมๆ โรงงานแบบเก่าๆ มันจบแล้ว เทคโนโลยีและ AI กำลังเข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง ถ้าไม่สนใจ เราตกยุคแน่ ทำยังไงให้องค์กร บริษัท เข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่นี้ได้”
นอกจากนั้น ยังต้องปลดล็อกประเทศด้วยการพัฒนานวัตกรรม คน และสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อเป็นการสร้าง “บุญใหม่” ซึ่ง ดร.กอบศักดิ์มองว่าบุญใหม่ที่ว่านั้นคือการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานและกลไกสำคัญในการสร้างการเติบโตของ GDP ให้ประเทศไทยในอนาคต แต่แน่นอนว่าการก้าวไปสู่เทคโนโลยีอีกขั้นหนึ่งอาจไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเราเองเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยตัวช่วยจากต่างชาติผ่านการลงทุนต่างๆ ที่จะเข้ามาพร้อมเม็ดเงินและองค์ความรู้
“โชคดีที่วันนี้กำลังมีคลื่นการลงทุนโลกรอบใหม่กำลังไหลมาที่อาเซียนด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 17% ของเงินลงทุนโลก การลงทุนครั้งนี้มาจากทุกประเทศ เมื่อโรงงานเหล่านี้สร้างเสร็จจะเปลี่ยนอาเซียนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเขามาทั้งเงินและเทคโนโลยีที่เราสามารถเรียนรู้และนำมาพัฒนาต่อยอดได้ อีกทั้งยังเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่ไทยจะสร้างเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ให้กับประเทศ แต่ถ้าเราไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนมาได้ในรอบนี้ แล้วเงินไหลไปเวียดนาม อินโดนีเซีย เราจะลำบากอย่างยิ่ง เพราะเงินเหล่านั้นจะเป็นยุทโธปกรณ์ทางเศรษฐกิจที่จะมาถล่มประเทศไทยต่อไป”
“สิ่งที่ไทยต้องทำคือต้องก้าวข้ามข้อจำกัดด้วยทักษะของคน สร้างบุคลากรรองรับห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมใหม่ เช่น พลังงานสะอาด สตาร์ทอัปและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต นโยบายสำคัญของการเปลี่ยนผ่านอยู่ที่การเปิดประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับอนาคต ปฏิรูปกฎระเบียบและระบบราชการเพื่อเพิ่มโอกาสในการช่วงชิงการลงทุน ลงทุนในระบบโลจิสติกส์และสาธารณูปโภค ปรับปรุงกฎหมายธุรกิจให้เป็นสากลในระยะยาว และเร่งขยายเขตการค้าเสรีเพื่อเปิดตลาดใหม่และลดการพึ่งพาตลาดเดิม นี่คือโอกาสของไทยในรอบ 20 ปี เราต้องไม่พลาด”
แน่นอนว่า นี่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของไทยในการเดินหน้าปลดล็อกศักยภาพและสร้างเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้กับประเทศ เพราะถ้าพลาดคลื่นการลงทุนลูกใหญ่นี้ไป เราอาจต้องรอไปอีกนาน.