วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > Cover Story > รัฐบาลใหม่ สังคมไทยคาดหวังอะไร??

รัฐบาลใหม่ สังคมไทยคาดหวังอะไร??

ผลการลงมติเพื่อเลือกสรรผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยในการประชุมร่วมรัฐสภาได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยไม่มีสิ่งใดผิดพลาดไปจากการคาดหมายด้วยคะแนนเสียงทั้งจากสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งและจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ด้วยคะแนนเสียงรวม 500 คะแนน

หากแต่ประเด็นที่น่าจับตามองนับจากนี้ นอกจากจะอยู่ที่การเจรจาตกลงเพื่อจัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นระหว่างพรรคการเมืองแต่ละพรรคว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรแล้ว การผนวกผสานนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองได้เคยนำเสนอระหว่างช่วงเวลาของการหาเสียงเลือกตั้งให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะที่จับต้องได้และมีผลในการผลักดันพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในห้วงเวลาจากนี้ ยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตามไม่น้อยเลย

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยห่างหายจากกระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุล และร่วมแสดงความคิดเห็นในเชิงนโยบายไปโดยปริยาย ซึ่งการเกิดขึ้นของการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตลอดจนถึงการลงมติเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูจะเป็นประหนึ่งบทเริ่มต้นของการกลับเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา ที่ทำให้บุคคลในคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมืองและต่อสังคมหลังจากที่ก่อนหน้านี้มาตรฐานทางจริยธรรมที่เอ่ยอ้างดูจะเป็นเกราะกำบังให้โพ้นไปจากความรับผิดชอบเหล่านี้

ประเด็นปัญหาว่าด้วยเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่และประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ดูจะเป็นสิ่งที่สังคมไทยให้ความสนใจไม่น้อย เพราะด้วยเหตุแห่งข้อเท็จจริงที่ว่าฝ่ายที่ร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภามีคะแนนเสียงไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งหมายความว่าการบริหารราชการแผ่นดิน การผลักดันนโยบายต่างๆ รวมถึงการออกกฎหมาย จะดำเนินไปท่ามกลางความยากลำบากไม่น้อย ขณะที่โอกาสของการเกิดปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจนนำไปสู่การยุบสภาในระยะเวลาอันใกล้ก็ดูจะมีความเป็นไปได้สูง

ความน่ากังวลของการนำพารัฐนาวาในห้วงเวลานับจากนี้ อีกประการหนึ่งยังผูกพันกับข้อเท็จจริงที่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ต่ำสุดในรอบหลายปี ขณะที่ตลอดช่วงเวลา 5 ปี ของรัฐบาล คสช. โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ใหม่ และไม่ได้รับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้มีความสามารถในการแข่งขันมากพอ นอกจากนี้ เหตุของข้อพิพาททางการค้าจีน-สหรัฐฯ กลายเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ เพราะไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวสูงถึงในระดับร้อยละ 70-80 ของ GDP

ภารกิจเร่งด่วนที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการในภาวะชะลอตัวของการส่งออกและท่องเที่ยวในขณะนี้ จึงมุ่งเป้าไปที่การเรียกคืนความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจ นักลงทุนและประชาชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการลงทุนภาคเอกชน และการบริโภค ซึ่งแม้จะดูเป็นกรณีสามัญและไม่น่าจะเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลส่วนใหญ่พึงกระทำ หากแต่ภายใต้สถานการณ์ว่าด้วยการจัดสรรประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลและเสถียรภาพในการร่วมรัฐบาล ดูเหมือนว่ากรณีนี้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายในเชิงนโยบายที่มีผลต่อภาคธุรกิจและการลงทุนไปโดยปริยาย

กรอบโครงความคิดของรัฐบาล คสช. ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พยายามที่จะเอ่ยอ้างผลงานว่าสามารถผลักดันให้ GDP เติบโตได้ในระดับเฉลี่ยที่ร้อยละ 4 แต่หากพิจารณาความเป็นไปของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนกลับพบว่า เวียดนามสามารถผลักดันการเติบโตเฉลี่ยในแต่ละปีได้ในระดับร้อยละ 6.8 ฟิลิปปินส์ เติบโตร้อยละ 6.2 อินโดนีเซียร้อยละ 5.2 ขณะที่มาเลเซียเติบโตในระดับร้อยละ 4.7

ปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่สืบเนื่องมาจากประเด็นการดำรงอยู่ของรัฐบาล คสช. ซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งแม้ว่ารัฐบาล คสช. จะพยายามโหมประโคมโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พร้อมกับระบุว่ามีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนอย่างหนาแน่น

แต่นั่นก็เป็นเพียงการเข้ามาอาศัยไทยเป็นฐานการผลิตและสิทธิพิเศษทางการค้า จากผลของการถูกสกัดกั้นจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยมิได้นำไปสู่การสร้างงานให้คนไทยมากนัก หากแต่ผู้ลงทุนจีนได้นำพนักงานฝ่ายเทคนิคเข้ามาเองและนำเครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เข้ามาประกอบส่วนในการผลิตมากกว่า

ความเป็นไปทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากของไทยเป็นอีกกรณีหนึ่งที่กลายเป็นประเด็นฉุดรั้งให้การบริโภคภายในประเทศอยู่ในภาวะซบเซาและส่งผลให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยไม่สามารถกระเตื้องตัวขึ้นเท่าที่รัฐบาล คสช. ประสงค์จะให้เป็น แม้ว่าจะพยายามผลักดันมาตรการระยะสั้นออกมาเป็นระยะ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนระบบวิธีคิดในการประเมินสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่เบื้องหน้า แม้จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เช่นในปัจจุบันก็ตาม

โดยล่าสุดกระทรวงการคลังเตรียมขยายเวลาจัดทำโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน สำหรับช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 14.5 ล้านคน เป็นกรณีพิเศษออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมโครงการจะสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 ให้ไปสิ้นสุดถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 แทน ภายใต้เหตุผลที่ระบุว่า เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรคนจน และช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในปีนี้ให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 3.5-3.8

ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีดังกล่าวก็คือ วงเงินงบประมาณที่ใช้ กระทรวงการคลังจะหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ และกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อขอให้สำนักงบประมาณจัดหาเงินเข้ามาเติมในกองทุนประชารัฐฯ เพิ่ม เนื่องจากหลังสิ้นเดือนกันยายน 2562 เงินในกองทุนประชารัฐฯ จะเหลือเพียง 1-2 พันล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ โดยกระทรวงการคลังจะเสนอรายละเอียด เหตุผลความจำเป็นของการขยายโครงการให้พิจารณา ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าต้องใช้เงินมากกว่าเดือนละ 4,000 ล้านบาท หรือรวม 3 เดือน 12,000 ล้านบาท ส่วนแหล่งเงินจะต้องรอสำนักงบประมาณพิจารณาในการจัดหามา

ข้อเรียกร้องว่าด้วยการสรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพ ความเข้าใจและน่าเชื่อถือ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีโดยเฉพาะรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจ ดูจะเป็นข้อเรียกร้องที่ห่างไกลไปจากข้อเท็จจริงของสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ที่มีการต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในลักษณะของสัดส่วนจำนวนสมาชิกที่แต่ละพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลพึงมี ขณะที่บุคลากรในคณะรัฐมนตรีชุดก่อนหน้าก็ได้สำแดงผลงานให้สาธารณชนได้ประจักษ์มาตลอดเวลา 5 ปีแล้วว่ามีความสามารถและนำพาเศรษฐกิจไทยให้รุ่งเรืองหรือตกต่ำอย่างไร

สิ่งที่ควรพิจารณามากกว่าการสรรหาบุคคลมาจัดวางในตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวงจึงอยู่ที่การนำเสนอทิศทางและรูปธรรมในเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นจากการระดมแนวความคิดของพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคที่ได้เคยให้สัญญาประชาคมไว้กับประชาชนในช่วงก่อนหน้านี้ ให้ปรากฏผลจริงในทางปฏิบัติ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงมาตรการระยะสั้น แต่ควรเป็นการให้ความสำคัญต่อการวางรากฐานเพื่อการพัฒนากระบวนการทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของการเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินกิจกรรมของกลไกรัฐ และวิสาหกิจของรัฐ รวมถึงการเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยการปฏิรูประบบบำนาญ ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานสำหรับสังคมไทยในอนาคต

ใส่ความเห็น