วันจันทร์, มิถุนายน 16, 2025
Home > New&Trend > มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง แถลงปี 2567 ใช้งบฯ กว่า 511 ล้านบาท ช่วยเหลือคน แม้ยอดบริจาคจะลดลงกว่า 2% ตามสภาพเศรษฐกิจ

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง แถลงปี 2567 ใช้งบฯ กว่า 511 ล้านบาท ช่วยเหลือคน แม้ยอดบริจาคจะลดลงกว่า 2% ตามสภาพเศรษฐกิจ

เวลาเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุไม่คาดฝันต่างๆ ชื่อของ “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” มักเป็นชื่อที่ผุดขึ้นมาเป็นชื่อแรกๆ ในฐานะหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือตลอดจนบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น

อย่างที่ทราบกันดี “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” ถือเป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไร ที่มีภารกิจช่วยเหลือผู้คนโดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติหรือศาสนา ภายใต้ปณิธาน “ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต” โดยดำเนินการมาแล้วกว่า 115 ปี มีหน่วยงานในเครืออย่าง โรงพยาบาลหัวเฉียว, คลินิกประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว (คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว) และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

ล่าสุด นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำทีมคณะกรรมการมูลนิธิฯ ออกมาแถลงผลการดำเนินงานประจำปี 2567 เพื่อให้ผู้บริจาคได้ทราบรายละเอียดและเชื่อมั่นว่าเงินที่บริจาคจะถูกนำไปใช้ในการ “ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต” ตามปณิธานของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งทุกบาททุกสตางค์

ปีที่ผ่านมาใช้งบฯ กว่า 511 ล้านบาท ช่วยเหลือคน

นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เผยว่า ในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ใช้งบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนกว่า 511 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2566 ซึ่งใช้งบประมาณราว 501 ล้านบาท โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

ด้านการ “ช่วยชีวิต”

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมี ทีมบรรเทาสาธารณภัยและฌาปนกิจสุสาน และอาสาสมัครฯ ออกปฏิบัติการช่วยเหลือโดยมีการประสานงานทั่วประเทศ และรับแจ้งเหตุผ่าน สายด่วนและแอปพลิเคชัน ป่อเต็กตึ๊ง 1418 ให้การสนับสนุนงานนิติเวช และมีสุสานมูลนิธิฯ ฝากฝังศพไร้ญาติ ที่จังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงให้การสงเคราะห์โลงศพแก่ผู้ยากไร้ ผ่านหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังมีแผนกสาธารณภัย ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ ที่ให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบสาธารณภัยต่างๆ  อาทิ เมื่อปี 2567 ประเทศไทยได้เกิดเหตุมหาอุทกภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิฯ ได้บูรณาการทั้งทีมบรรเทาสาธารณภัย และทีมสาธารณภัย ฝ่ายสังคมสงเคราะห์  ได้บูรณาการความช่วยเหลือครอบคลุมการช่วยชีวิตเมื่อประสบเหตุ และฟื้นฟู เยียวยา

อักทั้งยังมีที่เดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้ เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียแก่หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน รวมงบประมาณในด้านการ “ช่วยชีวิต” เป็นจำนวนเงินกว่า 166 ล้านบาท มีผู้ได้รับการช่วยเหลือ จำนวน 491,905 คน

ด้านการ “รักษาชีวิต”

มูลนิธิฯ มีหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชนให้บริการตรวจรักษาประชาชนทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และถิ่นทุรกันดาร อีกทั้งยังสนับสนุนห้องผ่าตัด อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ขาดแคลน ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโดยร่วมกับหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ โรงพยาบาลหัวเฉียว  คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว รวมงบประมาณด้านนี้กว่า 38.4 ล้านบาท

ด้านการ “สร้างชีวิต”

มูลนิธิฯ จัดโครงการต่างๆ กว่า 10 โครงการ ครอบคลุมด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ และการดำรงชีพ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังขยายขอบข่ายการช่วยเหลือโครงการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของสังคมในปัจจุบัน รวมงบประมาณด้านการสร้างชีวิต และการดำเนินงานอื่นๆ ของมูลนิธิฯ กว่า  278 ล้านบาท มีผู้ได้รับการสงเคราะห์จำนวน 956,645 คน

ด้าน แพทย์หญิงมนนภา ขุนณรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหัวเฉียว  ได้กล่าวถึงรายละเอียดโครงการในด้านช่วยเหลือสังคมรวม 7 โครงการ รวมจำนวนการช่วยเหลือกว่า 29 ล้านบาท โดยในปี 2567 โดยโครงการที่มูลนิธิฯ ได้ให้สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยฟอกไต (กว่า12 ล้านบาท) รถ X-Ray Digital Mobile เพื่อบริการชุมชน ที่มูลนิธิฯ มอบให้กับโรงพยาบาลหัวเฉียวเมื่อปี 2566  โดยในปี 2567 ได้ลงพื้นที่ออกบริการประชาชน ซึ่งมูลนิธิฯ ได้สนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้กว่า 7.4 ล้านบาท และโครงการสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย (กว่า2 ล้านบาท)

นายอรัญ เอี่ยมสุรีย์ ผู้อำนวยการคลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว และคณะกรรมการมูลนิธิฯ เปิดเผยว่า คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว นอกจากจะให้บริการทางการแพทย์แผนจีนครบวงจรในราคาที่เป็นธรรมและไม่แสวงหาผลกำไร ยังเป็นศูนย์กลางการแพทย์แผนจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย มีโครงการเพื่อสังคมที่ดำเนินการหลากหลายมิติ อาทิ โครงการสงเคราะห์ผู้นำครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง โครงการเผยแพร่ความรู้การดูแลสุขภาพแก่ภาคประชาชน การออกหน่วยตรวจรักษาและให้คำปรึกษาทางด้านการแพทย์แผนจีน และร่วมแจกชาสมุนไพรจีน ผลิตภัณฑ์หย่างเซิงเสริมสร้างสุขภาพ ฯลฯ เป็นต้น โดยในปี 2567 ให้บริการรักษา ป้องกัน ส่งเสริม และฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วย รวมกว่า 325,720 ราย

รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรพรรณ  เจนวาณิชยานนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้ขับเคลื่อนพันธกิจตอบโจทย์ “การสร้างชีวิต” ผ่าน 4 มิติเด่นเพื่อสังคม ได้แก่

1. หลักสูตรใหม่ตอบโจทย์สังคม โดยจัดให้มี 3 หลักสูตรใหม่ ได้แก่ 1) หลักสูตรวิทยาการหุ่นยนต์สุขภาพ (Health Robotics) หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 2) หลักสูตรการจัดการธุรกิจการบิน หลักสูตรความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินกุ้ยหลิน สาธารณรัฐประชาชนจีน 3) หลักสูตรการจัดการและบรรเทาสาธารณภัย หลักสูตรความร่วมมือกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งสามารถตอบโจทย์สังคมและโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน 5 ประเทศ กว่า 1,500 คน

2. ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสังคม บ่มเพาะจิตอาสา กว่า 50 รายวิชา ช่วยเหลือชุมชนและทุนการศึกษา กว่า 30 ล้านบาท

3. วิจัยเพื่อพัฒนาสังคม สร้างงานวิจัยโดยใช้ “นวัตกรรม” พัฒนาชุมชนสมุทรปราการ “สร้างสรรค์เศรษฐกิจ รักษ์สิ่งแวดล้อม และดูแลสุขภาพ”

4. การบริการสังคม กว่า 40 โครงการ บริการสังคม ตอกย้ำปณิธาน “การให้”

ไม่เพียงเท่านั้น นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ยังได้เผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกงหยกขาว พุทธสถานประวัติศาสตร์แห่งการรวมพลังศรัทธาของหลวงปู่ไต้ฮง อันเป็นที่ประดิษฐานองค์ไต้ฮงกงหินหยกขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งผลความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2568 โดยรวมแล้วดำเนินการไปกว่า 96.25% ส่วนของโครงสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์ 100 % งานตกแต่งลวดลายประเพณีจีน รวมถึงประติมากรรมจีนต่างๆ ดำเนินการไปแล้วกว่า 90 %  นอกจากนี้  ในส่วนของงานปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ดำเนินไปกว่า 76% และคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้สาธุชนได้เข้ากราบไหว้สักการะภายในปี 2568 โดยมูลนิธิฯ หวังว่าศาลเจ้าไต้ฮงกงหยกขาว จะกลายเป็นศูนย์รวมความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่  พร้อมเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของมูลนิธิฯ ในด้านกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมเพื่อสังคม

ทั้งนี้พบว่ายอดบริจาคของปีที่ผ่านมาลดลงกว่า 2% ตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว