ค่าครองชีพ-เงินเฟ้อเพิ่ม เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไทยรับศึกรอบด้าน
บทวิเคราะห์และการประเมินจากนักวิทยาศาสตร์ นักไวรัสวิทยา เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า นี่อาจเป็นจุดสิ้นสุดของโรคร้ายและนำไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด ถือเป็นความหวังที่ค่อยๆ เรืองรองของประชากรโลก ที่จะได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ หรือกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามเดิม ทว่า ปัจจุบันดูเหมือนปัญหาใหม่กำลังเริ่มขึ้น โดยเฉพาะคนไทยที่กำลังต้องรับมือกับภาระทางเศรษฐกิจที่ดูจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในสายตาของประชาชนในระดับฐานรากอาจมองว่าสถานการณ์ครั้งนี้เริ่มเข้าขั้นวิกฤต สถานการณ์ข้าวยากหมากแพงที่กำลังเกิดขึ้นในห้วงยามนี้ ดูเหมือนจะเป็นการซ้ำเติมความชอกช้ำที่ยังไม่ทันจางหายไป ให้มีอาการทรุดหนักลงอีก เมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการทยอยขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง เช่นที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันตั้งแต่เริ่มต้นศักราชใหม่คือ ปัญหาเนื้อหมูราคาแพง ชนิดที่ว่าร้านอาหารจำนวนไม่น้อยที่ต้องขอยุติกิจการชั่วคราวเพราะไม่อาจแบกรับต้นทุนจากเนื้อหมูไหว และไม่ต้องการที่จะผลักภาระให้แก่ผู้บริโภคที่อยู่ปลายน้ำได้ ในขณะที่ผู้บริโภคเองมีตัวเลือกที่หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมูได้ นอกจากเนื้อหมูที่ปรับราคาสูงขึ้นแล้ว สินค้าอื่นๆ ต่างทยอยปรับราคาไปแล้วเช่นกัน เช่น ไข่ไก่ น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคแล้ว ประชาชนยังต้องแบกรับค่าสาธารณูปโภคและค่าเดินทางที่ปรับขึ้นมาแล้ว เช่น ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมัน ค่าขนส่งสาธารณะ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 ต่อเดือน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มรายได้อื่น ซึ่งราว 36% มองว่า มีค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีก่อนที่จะมีการปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ขณะที่คนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงจะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบและสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้มากกว่า ทั้งนี้ ค่าครองชีพที่ทยอยปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ในระยะสั้น คนกรุงเทพฯ
Read More