วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > ส่องเทศกาลกินเจ 2561 สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจไทย

ส่องเทศกาลกินเจ 2561 สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจไทย

เทศกาลถือศีลกินเจเวียนมาถึงอีกครั้ง ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่มีความเห็นต่าง โดยฝั่งรัฐบาลมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2561 ส่งสัญญาณดีขึ้น มองเห็นการฟื้นตัว ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่ขยายวงกว้างมากขึ้น

หากจะมองเช่นนั้นคงไม่ผิดนัก เมื่อพิจารณาจากโครงการที่ภาครัฐลงทุนโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน อันจะนำมาซึ่งการลงทุนของภาคเอกชน

ขณะที่ภาคประชาชนกลับเห็นต่างออกไป ซึ่งสะท้อนออกมาทางผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และแม้ว่าตัวเลขความเชื่อมั่นจะลดลงไปเพียงเล็กน้อย แต่นั่นหมายถึงสัญญาณบางอย่างที่ภาครัฐไม่ควรเพิกเฉย

โดยผลสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนกันยายน 2561 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้อำนาจซื้อลดน้อยลง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังมีราคาต่ำ นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดน้อยลง และสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในปัจจุบันชะลอตัวลง และความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลง

โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกันยายน ลดลงจากระดับ 70.2 ในเดือนที่ผ่านมาสู่ระดับ 69.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต (ใน 6 เดือนข้างหน้า) ของเดือนกันยายน 2561 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.3 มาอยู่ที่ระดับ 87.2

แม้ว่าส่วนหนึ่งของปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จะมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ กระนั้นยังมีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นตัวฉุดความเชื่อมั่นและกลายเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย ซึ่งถึงเวลานี้คาดว่าคงต้องใช้เวลาในการเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวอีกพอสมควร

ขณะที่เทศกาลกินเจปี 2561 มีการเปิดเผยตัวเลขเม็ดเงินที่จะสะพัดในช่วงนี้ทั้งจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และศูนย์วิจัยกสิกรไทย

โดยด้านหอการค้าไทยเปิดเผยว่า เทศกาลกินเจปีนี้ น่าจะมีเงินสะพัดมูลค่า 4.6 หมื่นล้านบาท นับเป็นมูลค่าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการสำรวจค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของค่าอาหาร ค่าเดินทางไปทำบุญในต่างจังหวัด และค่าที่พัก

กระนั้นก็เป็นการขยายตัวในอัตราที่ต่ำสุดในรอบการสำรวจระยะเวลา 11 ปี โดยมีการขยายตัวเพียง 1.9 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้หอการค้ายังทำการสำรวจจำนวนผู้ที่ตั้งใจจะกินเจปีนี้พบว่ามีเพียง 33.8 เปอร์เซ็นต์ และผู้ที่จะไม่กินเจในปีนี้สูงถึง 66.2 เปอร์เซ็นต์

ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจ เฉพาะในกรุงเทพฯ ว่า จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 4,650 ล้านบาท ซึ่งขยายตัว 3.3 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยค่าใช้จ่ายในการกินเจประมาณ 315 บาทต่อคนต่อวัน

แม้ว่าในช่วงเทศกาลกินเจจะมีเม็ดเงินสะพัดจำนวนมหาศาล และจากการสำรวจของหอการค้าที่บอกว่า เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบหลายปี น่าจะเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนสถานการณ์จริงของเศรษฐกิจไทยได้ดีโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง 2561

จากปัญหาหลายด้านที่ประเดประดังถาโถมเข้ามาพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวที่ลดทอนความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และผลกระทบจากสงครามการค้า

ทั้งสองกรณีอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายอ่อนแรงลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นเพราะการท่องเที่ยว และการส่งออกถือได้ว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญคอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินไปข้างหน้าได้

แม้หลายฝ่ายจะมองว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวแม้จะประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้แต่ยังไม่น่ากังวล เพราะก่อนหน้าเป็นช่วง Low Season การลดจำนวนนักท่องเที่ยวจึงไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด และนักท่องเที่ยวจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกครั้งในช่วง High Season ที่จะถึง

กระนั้นก็ยังไม่ควรนิ่งนอนใจ เมื่อญี่ปุ่นกลายเป็นเป้าหมายอันดับ 1 สำหรับนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันชาติจีน 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา และยังพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังญี่ปุ่นเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายระลอก

ซึ่งหนังสือพิมพ์ หวนฉิวสือเป้า ของจีน เปิดเผยว่า ชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในเทศกาลวันชาติของจีน โดยสร้างสถิติมากกว่า 7 ล้านคน ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวชาวจีน ขณะที่ไทยถูกเลื่อนลงไปอยู่อันดับที่ 2

สาเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนเป้าหมายไปประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น นอกเหนือไปจากสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและสวยงาม ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ ถึงตอนนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงพยายามแก้ปัญหาเพื่อเรียกความมั่นใจจากนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาเยือนไทยอีกครั้ง

ขณะที่การส่งออกของไทยยังคงต้องจับตาสถานการณ์ของสงครามการค้าที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยเพิ่มขึ้น

นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไทยคนปัจจุบันไม่น้อย ว่าช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นปีหน้า ปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยทั้งจากภายในและภายนอก จะถูกแก้เกมอย่างไรเพื่อให้ฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจยังคงขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ

หรือคนที่จะเข้ามาแก้เกมและพลิกฟื้นสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอาจจะเป็นคนที่มาจากการเลือกตั้งในปีหน้าก็สุดที่จะรู้

ใส่ความเห็น