วันศุกร์, มีนาคม 21, 2025
Home > Cover Story > Exclusive Talk: ไขความลับอายุยืน 100 ปี กับ Dan Buettner ผู้ก่อตั้งแนวคิด Blue Zones

Exclusive Talk: ไขความลับอายุยืน 100 ปี กับ Dan Buettner ผู้ก่อตั้งแนวคิด Blue Zones

การมีชีวิตยืนยาวแบบมีสุขภาพดีย่อมเป็นสิ่งที่ใครหลายคนหมายปอง แต่คำถามคือวิถีปฏิบัติเช่นไรที่จะนำไปสู่การมีชีวิตยืนยาวแบบมีสุขภาพดีแบบที่ทุกคนต้องการ

ที่ผ่านมามีหลากหลายทฤษฎีและวิธีการที่มุ่งสู่การมีชีวิตยืนยาว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “Blue Zones” ทฤษฎีที่มาจากการสำรวจพื้นที่ที่ประชากรมีอายุยืนยาวแบบมีสุขภาพดี 5 พื้นที่ในโลก โดยมีนักสำรวจชื่อดังอย่าง Mr. Dan Buettner (แดน บิวต์เนอร์) เป็นผู้ก่อตั้ง

“ผู้จัดการ 360 องศา” มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษกับ แดน บิวต์เนอร์ ในคราวที่ แอมเวย์ ประเทศไทย เชิญเขามาแชร์ประสบการณ์และองค์ความรู้การมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพดีในแบบ Blue Zones ให้กับชาวไทย ในการประชุมใหญ่ประจำปีที่ผ่านมา

แดน บิวต์เนอร์ เป็นนักสำรวจ นักเขียน และช่างภาพของ National Geographic อีกทั้งยังเป็นผู้ดำเนินรายการและโปรดิวเซอร์ร่วมของรายการ “อยู่ถึง 100: ความลับของบลูโซน” (Live to 100: Secrets of the Blue Zones) ทางเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งได้รับรางวัลเอ็มมี่ถึง 3 รางวัล นอกจากนี้ บิวต์เนอร์ยังเป็นนักเขียนที่เคยมีผลงานติดอันดับหนังสือขายดีที่สุดของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ถึง 5 ครั้ง อีกทั้งยังเป็น

ที่สำคัญ บิวต์เนอร์คือผู้ค้นพบพื้นที่ 5 แห่งทั่วโลกที่เรียกว่า “Blue Zones” พื้นที่ที่ผู้คนมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพแข็งแรงที่สุด ซึ่งมีอายุเฉลี่ยประมาณ 90-100 ปี โดยมีวิถีชีวิตที่สนับสนุนความยั่งยืนของสุขภาพและอายุขัยเป็นปัจจัยสำคัญ โดย 5 พื้นที่ใน Blue Zones ประกอบด้วย โอกินาวา (ญี่ปุ่น), ซาร์ติเนีย (อิตาลี), อิคาเรีย (กรีซ), โลมา ลินดา (สหรัฐอเมริกา) และ นิโคยา (คอสตาริกา) และเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่มีชื่อเสียงของโลก

การค้นพบ Blue Zones

Blue Zones มีที่มาจากการตั้งข้อสังเกตของบิวต์เนอร์ในงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษากลุ่มประชากรที่มีอายุยืนทั่วโลกของ Gianni Pes และ Michel Poulain ซึ่งได้จุดประกายให้เขาอยากรู้เคล็ดลับการมีอายุยืน นั่นจึงทำให้บิวต์เนอร์เริ่มโครงการออกเดินทางไปสำรวจวิถีชีวิตของคนในพื้นที่เหล่านั้นในปี 2004 หลังจากการสำรวจที่โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2000 และใช้เวลาตลอด 25 ปี ในการศึกษาเรื่องดังกล่าว

“เราค้นพบว่าคนที่อาศัยอยู่ที่โอกินาวามีอายุยืนยาวแบบมีสุขภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่มีอายุยืนเกินร้อยปีรวมตัวกันอยู่ที่นั่น ซึ่งมากกว่าคนอเมริกาถึง 30 เท่า ซึ่งนั่นเป็นการจุดประกายให้ผมเข้าไปศึกษาปัจจัยแห่งการมีอายุยืนอย่างจริงจัง”

“หลายคนสงสัยว่าคนโอกินาวามียีนหรือดีเอ็นเอพิเศษหรือไม่ที่ทำให้พวกเขาอายุยืน คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’ การมีอายุยืนยาว มีเพียงแค่ 15% เท่านั้นที่เป็นผลมาจากยีน อีก 15% มาจากสาธารณสุข การแพทย์ และวิวัฒนาการต่างๆ แต่อีก 70% มาจากปัจจัยอื่น”

ปัจจุบันค่าเฉลี่ยอายุขัยของคนบนโลกนั้นไม่ถึง 100 ปี ต่อให้คุณทำทุกอย่างในชีวิตถูกต้องทั้งหมด ดูแลตัวเองอย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม โดยค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 95 ปี ในขณะประเทศไทยอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 77 ปี ในขณะที่โอกินาวา ผู้หญิงมีอายุยืนยาวมากที่สุด แต่ในซาร์ดิเนียผุ้ชายกลับมีอายุยืนมากกว่า ส่วนประชากรในนิโคยาอายุยืนแบบไม่มีโรคหรือโรคคนแก่น้อย

จากโอกินาวา บิวต์เนอร์ใช้เวลากว่า 3 ปี ทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เพื่อค้นหาว่าปัจจัยที่จะทำให้คนในพื้นที่เหล่านั้นอายุยืนยาวแบบมีสุขภาพดี ไม่มีโรคใดๆ ซึ่งเขาค้นพบว่า พื้นที่เหล่านั้นล้วนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่ส่งเสริมการมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวที่คล้ายคลึงกัน เช่น การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการมีความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคม

คนอายุยืน 100 ปีเขากินอะไร?

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง จากการศึกษาวิถีชีวิตของคนใน Blue Zones พบว่า แต่ละพื้นที่มีเคล็ดลับในการกินอาหารที่ต่างกัน

“เรื่องอาหารสำคัญมาก คนใน Blue Zones ไม่ใช่คนร่ำรวย ชีวิตพวกเขาธรรมดามาก บางครั้งออกไปทางยากจนเสียด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ทำให้เขาอายุยืนคืออาหารที่เขากินสะสมมาตลอดอายุเขา”

เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น: กินให้อิ่มแค่ 80%

ชาวโอกินาวาส่วนใหญ่จะกินอาหารให้รู้สึกอิ่มแค่ 80% โดยจะเน้นไปที่อาหารจำพวกผัก ปลา และอาหารทะเล รวมถึงอาหารที่ทำมาจากถั่วเหลือง เช่น ซอสถั่วเหลือง ซุปมิโซะ เต้าหู้ เต้าเจี้ยว และถั่วหมัก อีกทั้งยังดื่มน้ำต่อวันมากกว่า 2 ลิตร

อิคาเรีย ประเทศกรีซ: ดื่มนมแพะ ชา ไวน์

โดยทั่วไปชาวอิคาเรียนมักกินพืชประเภทฟักและผักใบเขียวที่ปลูกเองตามบ้านเรือน เน้นดื่มนมแพะมากกว่านมวัว ดื่มชา และไวน์สูตรเฉพาะที่อิคาเรีย เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะชอบกินน้ำผึ้งครั้งละ 1 ช้อน ในช่วงตอนเช้าและตอนเย็น

คาบสมุทรนิโคยา ประเทศคอสตาริกา: ไม่กินอาหารแปรรูป

คนในพื้นที่คาบสมุทรนิโคยานิยมกินข้าวโพดและถั่ว ไม่นิยมกินอาหารแปรรูป จำกัดการกินอาหารมื้อเย็นในปริมาณน้อย โดยเป็นนวัตกรรมการกินที่มาจากชนเผ่าตั้งแต่สมัยโบราณ ดื่มน้ำในปริมาณมาก ซึ่งน้ำในแถบนิโคยามีแคลเซียมสูงจึงช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยที่มาจากกระดูกได้

โลมา ลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา: กินถั่ววันละ 1 กำมือ

ชาวโลมา ลินดา มีวิถีชีวิตแบบชาวเมือง แต่กินเนื้อหมูและเนื้อวัวเฉลี่ยไม่เกินเดือนละ 2 ครั้ง หรือบางครั้งก็ไม่กินเลย มักกินอาหารที่มาจากพืช โปรตีนถั่ว ถั่วเปลือกแข็ง อย่าง วอลนัท อัลมอนด์ วันละ 1 กำมือ ไม่กินอาหารที่มีรสเค็มและรสหวานจัดเกินไป

ซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี: เน้นปลาและผัก

ชาวซาร์ดิเนียเป็นชาวเกาะที่กินอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน เลือกกินเนื้อสัตว์ที่ไม่มีขา เน้นเนื้อปลา หรือกินสัตว์ที่มีขาน้อยที่สุด เช่น สัตว์ปีก เพราะมีความเชื่อว่าการกินเนื้อหมูและเนื้อวัวจะทำให้มีสารพิษเข้าไปในร่างกายได้ เน้นการปรุงอาหารโดยใช้น้ำมันมะกอกและน้ำมันจากถั่วเปลือกแข็งที่มีวิตามินอีสูง มีไขมันอิ่มตัว ที่ช่วยให้ระดับคลอเลสเตอร์รอลลดลง ดื่มไวน์ Cannonau ที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์มากกว่าไวน์อื่นๆ ในมื้อเย็น โดยปริมาณที่ดื่มต่อวัน ผู้ชายจะดื่มไม่เกิน 2 แก้ว ผู้หญิงไม่เกิน 1 แก้ว รวมถึงใช้เวลากินข้าวมื้อละประมาณ 30 นาที เพื่อความไม่เร่งรีบและมีความสุขกับการกินมากที่สุด

“คนใน Blue Zones บริโภคเนื้อสัตว์และของหวานเช่นกัน แต่ตัวเลขน่าสนใจ โดยพบว่า พวกเขาบริโภคเนื้อสัตว์ต่อปีเพียง 10 กิโลกรัม ในขณะที่คนอเมริกันบริโภคเนื้อสัตว์ต่อปีอยู่ที่ 100 กิโลกรัม ส่วนของหวาน คนใน Blue Zones กินแค่ 25% เขายัง enjoy กับอาหาร แต่จะกินเฉพาะในเทศกาลพิเศษ อย่าง วันเกิด งานแต่ง งานเลี้ยง เป็นส่วนใหญ่ อีกสิ่งที่สำคัญคือ พวกเขามักการกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว กินไป คุยไป ค่อยๆ กิน ค่อยๆ ย่อย ซึ่งส่งผลดี”

คนใน Blue Zones ไม่ต้องเข้ายิม

การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่ Blue Zones ได้เผยให้เห็นว่า คนในพื้นที่เหล่านี้มักมีวิถีชีวิตที่กระตือรือร้น และเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ โดยพวกเขามักทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงานในชีวิตประจำวัน เช่น ผู้สูงอายุชาวโอกินาวาขยับร่างกายด้วยการทำสวนพืชผักสมุนไพร ชาวซาร์ดิเนีย และชาวโลมา ลินดา ชอบเดินออกกำลังกายมากกว่านั่งรถ ผู้สูงอายุชาวนิโคยามักเดินจ่ายตลาด ผ่าฟืน และทำงานบ้านในทุกวัน

“ใน Blue Zones ไม่มียิม ไม่มีฟิตเนส ไม่มีสตูดิโอโยคะหรือพิลาทิส คนใน Blue Zones ไม่ต้องเข้ายิมและที่สำคัญเขาไม่มีโรคเบาหวานเกิดขึ้น ถ้ามีก็เพียง 2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับในอเมริกาที่อยู่ที่ 42% การออกกำลังกายในยิม ฟิตเนส ถือเป็นความล้มเหลวก็ว่าได้ เพราะเราเสียเงินจำนวนไม่น้อยสมัครค่าสมาชิกฟิตเนส แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ไป แต่คนที่ Blue Zones ไม่ต้องใช้ เพราะทุกกิจกรรมของเขา เช่น ไปทำงาน ไปส่งลูกตอนเช้า ซื้อของ ทำนู่นทำนี่ ทุกอย่าง on foot เดินไปอย่างเดียว เป็นการเดินโดยที่เขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาจะต้องเดิน ออกกำลังกายโดยที่ไม่จำเป็นต้องบอกตัวเองว่าต้องขยับ”

“นอกจากเดินแล้ว ใน Blue Zones ทุกคนมีสวน ทำสวน ทำกับข้าว ทำงานบ้าน ทำขนมปัง ด้วยมือของตัวเองทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนพลังงานที่ใช้อาจจะได้มากกว่าการไปยิมเสียด้วยซ้ำ”

ออกไปรับแดดบ้าง

คนใน Blue Zone มักใช้เวลาในช่วงกลางวันอยู่กลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอ พวกเขามักได้รับแสงแดดที่เพียงพอซึ่งช่วยในการผลิตวิตามินดี และส่งเสริมสุขภาพโดยรวม การสัมผัสแสงแดดในระดับที่เหมาะสม เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้คนในพื้นที่เหล่านี้มีสุขภาพดี และอายุยืนยาว

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ Dr.Greg Plotnikoff ที่ทำงานร่วมกับบิวต์เนอร์บอกว่า แสงแดดช่วยให้ร่างกายผลิตวิตามินดี ซึ่งมีประโยชน์ในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยควบคุมการเติบโตของเซลล์ หากขาดวิตามินดี อาจส่งผลให้กระดูกและฟันไม่แข็งแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เสี่ยงต่อการหกล้ม และกระดูกหัก โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่เมื่อกระดูกสะโพกหักจะยิ่งทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายหลายชนิด เช่น มะเร็ง ความดันเลือดสูง เบาหวาน และโรคภูมิคุ้มกันผิด

นอนเป็นเวลา

คนในพื้นที่ Blue Zones พบว่า มีการนอนหลับที่มีคุณภาพและเพียงพอ เพราะพวกเขามักมีตารางเวลานอนที่สม่ำเสมอ และให้ความสำคัญกับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ การนอนหลับที่มีคุณภาพ หมายถึงการเข้านอนตามตารางเวลาที่เหมาะสม เช่น ก่อน 4 ทุ่ม หรือไม่เกินเที่ยงคืน โดยไม่ตื่นกลางดึก และไม่ใช้ยานอนหลับ การหยุดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน 60-90 นาที และหลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนหลังบ่ายสอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมการนอนหลับที่ดี

เลี่ยงแอลกอฮอล์และไม่สูบบุหรี่

พฤติกรรมหลักของคนในพื้นที่ Blue Zones มักมีการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด โดยชาวโลมา ลินดานับถือคริสตจักรเซเวนธ์เดย์แอดเวนทิสต์ (Seventh-day Adventist Church) ที่มีข้อห้ามด้านการกินอาหารที่เคร่งครัด จึงไม่สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ แต่อาจมีบางที่ อย่างอิคาเรีย และซาร์ดิเนีย ที่ดื่มไวน์เล็กน้อยในระหว่างมื้ออาหาร หรือดื่มฉลองกับเพื่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสังคม และช่วยส่งเสริมสุขภาพด้านจิตใจ

เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ สร้างอายุยืนยาว

การใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ Blue Zone มักมีเป้าหมาย และความหมายในชีวิตที่ชัดเจน ซึ่งช่วยให้พวกเขามีแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เช่น ทุกเช้าชาวโอกินาวาจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับหลักการที่เรียกว่าอิคิไกส่วนชาวนิโคยาเรียกว่าปลัน เด ปีดาหรือเป้าหมายชีวิต ซึ่งช่วยกระตุ้นให้พวกเขามีแรงบันดาลใจ และเป้าหมายของตัวเองตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นเพียงแค่เรื่องธรรมดาแต่มีความหมายของแต่ละคน

ที่โอกินาวามีคำศัพท์นึงที่เรียกว่า ‘อิคิไก’ หรือ เหตุผลของการลืมตาตื่นขึ้นมาในตอนเช้า เป็นจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่ เป็นคำที่ยิ่งใหญ่พอที่จะทำให้เรามีแรงตื่นขึ้นในตอนเช้า เพราะรู้ว่าเรามีหน้าที่ต้องทำอะไร เมื่อเขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านและสังคมที่เขาอยู่ ตื่นมาเขารู้เลยว่าเขามีหน้าที่อะไร ต้องทำอะไรให้ตัวเอง ให้ครอบครัว ให้สังคม ทำให้สมองได้ทำงาน ร่างกายได้เคลื่อนไหว ทุกอย่างไปด้วยกันแบบองค์รวม”

ใช้ชีวิตแบบ Slow Life

การศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์ของชาว Blue Zones เผยให้เห็นว่า คนในพื้นที่เหล่านี้ มักมีการดำเนินชีวิตอย่างช้าๆ และตั้งใจ ให้ความสำคัญในปัจจุบัน ทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และมีสุขภาพดี

การให้ความสำคัญกับการผ่อนคลาย การมีเวลาอยู่กับครอบครัว และเพื่อนๆ หรือการทำกิจกรรม เช่น ผู้สูงอายุในโอกินาวามักละจากงานชั่วครู่ เพื่อมองดูท้องฟ้า ชาวซาร์ดิเนียพื้นที่ที่นิยมเลี้ยงแกะ มักหยุดมองทุ่งหญ้าเขียวขจีจากบนพื้นที่ราบสูง หรือชาวโลมา ลินดา ที่จะใช้ช่วงเวลาสะบาโตหรือช่วงที่พระอาทิตย์ตกดินวันศุกร์ จนถึงช่วงพระอาทิตย์ตกดินในวันเสาร์ เพื่อการพักผ่อนกับครอบครัว ธรรมชาติ และพระเจ้า

มองโลกในแง่ดี คิดบวกเสมอ

การศึกษาพฤติกรรมและความคิดของคนใน Blue Zones เผยให้เห็นว่า พวกเขามีทัศนคติที่เป็นบวกและมองโลกในแง่ดี ซึ่งช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาว และเต็มไปด้วยความสุข ซึ่งการดูแลสุขภาพจิตของพวกเขา รวมถึงการไม่เครียด มีอารมณ์ขัน และการอยู่กับปัจจุบัน

ชาวซาร์ดิเนียเป็นเจ้าแห่งอารมณ์ขัน แม้จะมีปัญหาในชีวิต พวกเขาก็สามารถมองเป็นเรื่องตลก และพบปะสังสรรค์กันในช่วงบ่าย เพื่อหัวเราะกับมุกตลกอยู่เสมอ หรือผู้สูงอายุในโอกินาวา แม้จะมีชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบาก และความทรงจำเลวร้ายจากสงคราม แต่พวกเขามักมีทัศนคติที่จะปล่อยให้อดีตผ่านไป และมีความสุขเรียบง่ายกับปัจจุบันมากกว่า

อยู่ในสังคมที่ไม่ Toxic

พฤติกรรมการเข้าสังคมของคนใน Blue Zones เผยให้เห็นว่า การมีครอบครัว และเพื่อน ที่สามารถพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญของชีวิต พวกเขามักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ที่ช่วยสร้างความสุขและสุขภาพดี เช่น โอกินาวามีประเพณีโมอิหรือการรวมกลุ่มเพื่อพูดคุยและช่วยเหลือกัน ทั้งเรื่องการเงิน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขณะที่ชาวซาร์ดิเนียมีสถาบันครอบครัวที่แข็งแรง อาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ และให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูหลานและเหลน ซึ่งช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตมากขึ้นไปอีก

“loneliness ความเหงาตัวการร้ายของการมีอายุยืน ในอเมริกาบอกว่าถ้าคุณรู้สึกแย่มากๆ แล้วไม่มีเพื่อน 3 คนให้โทรหา อายุขัยของคุณจะหายไป 8 ปี อีกทั้งความเหงายังนำพาบางอย่างที่ไม่ดีเข้ามาสู่ร่างกาย เช่น การสูบบุหรี่ นำไปสู่ชีวิตประจำวันที่ไม่ดี”

“อีกหนึ่งคีย์เวิร์ดที่สำคัญของการมีอายุยืนยาวของคนใน Blue Zones คือ Stay Engaged คือการอยู่ร่วมกันจริงๆ ไม่ใช่แค่การอยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากๆ ในครอบครัว ใน Blue Zones ไม่มีใครโดดเดี่ยวเลย เพราะเขาอยู่ร่วมกันเหมือนเป็นครอบครัวขยาย ตั้งแต่รุ่นย่ายาย ทวด ทำให้ความสัมพันธ์มันแข็งแกร่ง ย่ายายไม่จำเป็นต้องไปอยู่บ้านพักคนชราเลย เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่า ช่วยเลี้ยงหลาน ทำนู่นทำนี่ในบ้าน เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งบ้าน ชุมชน และสังคมที่อยู่ มีงานเทศกาลอะไรพร้อมเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุขนาดไหนก็ตาม ก็พร้อมจะเข้าร่วม ไม่ใช่แค่นอนดูทีวีอยู่ที่บ้าน”

สิงคโปร์ New Blue Zones: อะไรที่ดีต่อสุขภาพ ทำให้สิ่งนั้นถูกและเข้าถึงง่าย

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้คนใน Blue Zones มีช่วงอายุขัยของชีวิตที่มีคุณภาพดียาวนานขึ้นสูงสุดถึง 10 ปี

แต่นอกจาก Blue Zones ดั้งเดิมทั้ง 5 แห่งแล้ว บิวต์เนอร์ยังได้เปิดเผยถึง Blue Zones แห่งใหม่ อย่าง “ประเทศสิงคโปร์” ซึ่งถือเป็นพื้นที่ Blue Zones ที่มนุษย์สร้างขึ้นแห่งแรก ซึ่งยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน

“สิงคโปร์เป็น Blue Zones ใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว คนสิงคโปร์มีอายุยืนยาวและสุขภาพดีเพิ่มขึ้นอีก 10 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการภาครัฐที่เลือกส่งเสริมการมีอายุยืนยาวและสุขภาพดีของประชากรของเขา อะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพเขาทำให้มันแพงและเข้าถึงยาก ทั้งการขึ้นภาษีรถ 300% ภาษีน้ำมัน 10 ดอลลาร์ต่อลิตร ภาษีน้ำตาล และเป็นประเทศแรกทีใช้รูปภาพมะเร็งปอด แผลในปาก ไว้บนซองบุหรี่ ส่วนอะไรที่ส่งเสริมการมีสุขภาพดี เขาทำให้มันเข้าถึงได้ง่าย สะดวก และถูก อย่างขนส่งสาธารณะที่ต้องเร็ว มีประสิทธิภาพ สะอาด ปลอดภัย และไม่มีใครในสิงคโปร์ที่อยู่ไกลจากป้ายรถเมล์หรือสถานีรถไฟเกิน 300 เมตร When you build the street for human, human come, when you build the street for car, car come”

เป็นไปได้ไหมที่กรุงเทพฯ จะเป็น New Blue Zone?

“ถ้าตอบสั้นๆ คือ yes เป็นไปได้ แต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างใหญ่ อาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนในหลายมิติมากๆ คน 10 ล้านคน ในกรุงเทพฯ ต้องตระหนักเรื่องนี้ ทั้งการกิน การออกกำลังกายโดยที่ไม่ต้องฝืน ไม่ได้บังคับตัวเองให้ออกกำลังกาย มีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับทั้งครอบครัวและสังคม และมีเป้าหมายในการตื่นขึ้นมาในทุกเช้า”

ปัจจุบัน บิวต์เนอร์ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถินต่างๆ องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ และบริษัทประกันสุขภาพ เพื่อดำเนินโครงการ Blue Zones ทั้งในชุมชน สถานที่ทำงาน และมหาวิทยาลัย โครงการ Blue Zones เป็นโครงการด้านสุขภาวะโดยนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากพื้นที่ Blue Zones มาประยุกต์ใช้กับชุมชนต่างๆ โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในท้องที่ นโยบายสาธาธารณะ และเครือข่ายทางสังคม โดยปัจจุบันโครงการนี้สามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับชาวอเมริกันกว่า 5 ล้านคน