วันจันทร์, มิถุนายน 16, 2025
Home > Cover Story > ผลกระทบสงครามการค้า 2.0 สั่นคลอนเศรษฐกิจไทย

ผลกระทบสงครามการค้า 2.0 สั่นคลอนเศรษฐกิจไทย

นับตั้งแต่การก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ และใช้คำสั่งของฝ่ายบริหาร เปิดฉากสงครามการค้า โดยเริ่มจากสินค้านำเข้าจากจีน หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ สหรัฐฯ เสียดุลการค้ากับจีนราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 ข้อมูลการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 5.85 แสนล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 20.3 ล้านล้านบาท โดยสหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้าจากจีน 4.4 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพียง 1.45 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากทรัมป์ คงพอจะคาดเดาได้ว่า มีความพยายามจากอีกขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่จะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ลง หรือที่เรียกว่า DE-Dollarization บทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญมากมายเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เงินดอลลาร์จะเสื่อมค่า

การตอบโต้กันไปมาระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้ไทยได้อานิสงส์จากความขัดแย้งในบางอุตสาหกรรม เพราะไทยสามารถส่งออกสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้าของทั้งสองประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและสหรัฐฯ นั่นทำให้ภาคส่งออกและการลงทุนของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมไทยบางกลุ่มมีการขยายตัว เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ภาคก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง

แต่หากจะบอกว่า ไทยรอดพ้นจากสงครามการค้าในครั้งนี้คงไม่ถูกนัก เมื่อทุกประเทศจะต้องเจอกับอัตราภาษีพื้นฐานของสหรัฐฯ 10% สำหรับสินค้าที่นำเข้าไปยังสหรัฐฯ และภาษีเพิ่มเติมสำหรับประเทศที่มีกำแพงภาษีสูงต่อสหรัฐฯ หรืออุปสรรคทางการค้าอื่นๆ ที่ทำให้สหรัฐฯ รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เสียดุล ซึ่งไทยถูกกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไปสหรัฐฯ สูงถึง 36% และปรับขึ้นเป็น 37% ในเวลาต่อมา

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า เหตุใดไทยจึงโดนเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 37% มีความเป็นไปได้ว่า เพราะการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ เสียดุลการค้าให้ไทย ข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 พบว่า ไทยอยู่อันดับ 10 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ มีมูลค่าเกินดุลอยู่ที่ 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิมที่เคยอยู่อันดับที่ 12

แต่ต้องบอกว่า สินค้าที่เกินดุลนั้น ได้แก่ อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น ข้อมูลที่น่าสนใจคือ สินค้าบางประเภทที่ส่งเข้าไปสหรัฐฯ นั้น เป็นสินค้าจากบริษัทข้ามชาติที่มาตั้งฐานการผลิตในไทย เพราะสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มีเพียง ข้าว และสินค้าเกษตร

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ด้านภาษีจากสหรัฐฯ ต่อไทยที่ 37% ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยสินค้ากว่า 80 ประเภทที่อยู่ในขอบข่ายของภาษี ได้แก่ สินค้าอะไหล่เครื่องจักร ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ อุปกรณ์กีฬา เคมีภัณฑ์ ผ้าเบรก แม่พิมพ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก อะลูมิเนียม

นี่ยังไม่ได้พูดถึงผลกระทบทางอ้อม ทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น การย้ายฐานการผลิตออกจากไทย การสูญเสียลูกค้าในสหรัฐฯ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำรวจและพบว่า มูลค่าความเสียหายของผู้ประกอบกิจการมีตั้งแต่ระดับหลักล้านถึงพันล้าน

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2568 มีธุรกิจที่ปิดกิจการ 3,107 ราย จากพิษสงครามการค้า เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอดูสถานการณ์การค้าโลก ที่ยังไม่มีทิศทางที่แน่ชัด การชะลอการลงทุนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้  ทว่า ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการกวดขันธุรกิจที่มีความเสี่ยงนอมินี ทุนสีเทา โดยธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร

ขณะนี้ไทยยังมีเวลาต่อลมหายใจ ด้วยการเจรจาต่อรองทางการค้ากับสหรัฐฯ เมื่อทรัมป์ประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีตอบโต้รายประเทศออกไป 90 วัน โดยจะเริ่มมีผลวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 แต่ยังเก็บภาษีขั้นต่ำทุกประเทศเพิ่ม 10%

ในระหว่างรอผลของการเจรจา ภาครัฐไทยอาจจะต้องมองหาตลาดใหม่เพื่อให้สินค้าส่งออกจากไทยลดการพึ่งพาตลาดเดียว.