วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > Cover Story > ศึกโซลาร์รูฟท็อป กลยุทธ์ใหม่ปลุกอสังหาฯ

ศึกโซลาร์รูฟท็อป กลยุทธ์ใหม่ปลุกอสังหาฯ

 
การเดินหน้าโครงการนำร่องระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์สำหรับบ้านและอาคาร หรือ “โซลาร์รูฟท็อปเสรี” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยวางแผนอนุมัติให้ชาวบ้านกว่า 1 ล้านครัวเรือน สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง ด้านหนึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของนโยบายรัฐและปฏิบัติการที่เห็นเป็นรูปธรรม อีกด้านหนึ่งกำลังเปิดเกมใหม่ในการแข่งขัน โดยเฉพาะการประกาศรุกธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์แบบเต็มตัวของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อย่าง “เสนาดีเวลลอปเม้นท์” กลายเป็นเจ้าแรกในตลาดที่เปิดขายบ้านติดโซลาร์รูฟท็อป
 
ที่ผ่านมา ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เน้นการเกาะกระแสสิ่งแวดล้อมไปที่รูปแบบบ้าน เช่น “ศุภาลัย” ออกแบบบ้านเพื่ออนุรักษ์พลังงาน  มีบานหน้าต่างขนาดใหญ่ รับแสงธรรมชาติ และรับลมพัดผ่าน ใช้กระจกอนุรักษ์พลังงาน สุขภัณฑ์รุ่นประหยัดน้ำ และหลอดประหยัดพลังงาน 
 
ส่วน “แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์” ชูคอนเซ็ปต์ “LPN Green” ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ใช้หลอดไฟแอลอีดี จัดสรรพื้นที่จอดรถแบบพิเศษสำหรับรถยนต์ประเภทอีโคคาร์ สร้างสวนขนาดใหญ่กว่า 4 ไร่ นำน้ำทิ้งจากการใช้งานของชุมชนมาบำบัดจนได้มาตรฐานเพื่อนำกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ และลดการพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ ออกแบบโครงการให้ระบายอากาศด้วยระบบธรรมชาติ
 
หรือแม้กระทั่งโครงการกรีนคาแนล (Green Canal) ของบริษัทโมเดิร์นกรีนกรุ๊ป (Modern Green Group) ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประกาศตัวว่าเป็นโครงการที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่เป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้ารองรับสาธารณูปโภคส่วนกลาง ไม่ใช่ “โซลาร์รูฟท็อป” บนหลังคาบ้านแต่ละหลัง
 
ผศ. ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการบริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนวันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตอย่างมาก รวมถึงแนวคิดเรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แต่ปัญหาต้นทุนที่สูงมากต่อหลังเกือบ 1 ล้านบาทในอดีต ทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนและกลุ่มลูกค้าระดับแมสยังไม่มีกำลังซื้อเพียงพอทำให้แนวคิดเรื่องโซลาร์รูฟท็อปไม่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
 
“บริษัทเห็นเทรนด์ที่จะต้องเกิดและมีแนวคิดตั้งแต่ 3 ปีก่อน จึงพยายามศึกษาข้อมูลต่างๆ จนกระทั่งวันนี้ทุกอย่างเริ่มเปิดโอกาส ทั้งต้นทุนการติดตั้ง อุปกรณ์แผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกลงกว่าเดิมถึง 50% และจะลดลงอีก ที่สำคัญคือ แนวคิดของภาครัฐที่จะให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองและขายกลับให้ภาครัฐได้ด้วย ถือเป็นแรงจูงใจชัดเจนมาก” ผศ. ดร.เกษรา กล่าว
 
ทั้งนี้ ตามแผนของกลุ่มเสนาดีเวลลอปเม้นท์ หลังจากลงนามในสัญญาความร่วมมือธุรกิจกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ทั้งสองบริษัทจะตั้งบริษัทร่วมทุน “บี.กริม.เสนา” และตั้งเป้ารุกเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน 2 ส่วน 
 
ส่วนแรก ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์ม ใช้เงินลงทุนก้อนแรกประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 8 เมกะวัตต์ เพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ ซึ่ง บี.กริม.เพาเวอร์ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตและขายไฟฟ้า 10 โรง กำลังการผลิตรวม 1,200 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 8 โรง กำลังการผลิตรวม 2,200 เมกะวัตต์ มีการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม ลาว และพม่า
 
ส่วนที่ 2 การต่อยอดธุรกิจหลัก โดยนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าบ้านและสร้างจุดขายใหม่เหนือคู่แข่ง โดยเฉพาะการที่ลูกบ้านเสนาฯ รสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้า ทั้งใช้เองและขายคืนภาครัฐ  
 
ก่อนหน้านี้ เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ทดลองติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโกดัง “เสนาแวร์เฮาส์” ซึ่งเป็นโกดังให้เช่าจัดอีเวนต์ต่างๆ โดยสามารถผลิตพลังงานได้ไฟฟ้าส่วนหนึ่ง และล่าสุดเตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม เดอะ นิช ไพร์ด เพชรบุรี (The Niche Pride Petchaburi) ริมถนนเพชรบุรี คอนโดมิเนียมสูง 33 ชั้น ระดับ B+ ซึ่งจุดเด่นสำคัญ คือ ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในส่วนกลาง เพื่อเป็นโครงการนำร่องให้ลูกค้าเห็นความเป็นไปได้ของที่อยู่อาศัยที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ก่อนเปิดตัวบ้านติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแห่งแรกในโครงการ เอสวิลล์ รังสิต-ลำลูกกา คลอง 4 ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
 
ขณะเดียวกัน เตรียมขยายเพิ่มอีก 2 โครงการในย่านรามอินทราและศาลายา โดยเน้นบ้านราคาเริ่มต้น 4-5 ล้านบาท เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าและต้นทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
 
ระยะแรก บริษัทเสนาฯ จะยื่นขออนุญาตเพื่อขอเข้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปภาคครัวเรือน จำนวน 70 หลัง ซึ่งกลุ่มลูกค้าสามารถเลือกซื้อบ้านที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเฉพาะผลิตเพื่อใช้ภายในบ้าน หรือบ้านที่ติดตั้งเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ภายในบ้านและขายให้ภาครัฐด้วย โดยประเมินต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหลังไม่สูงมากและไม่มีผลต่อราคาบ้าน 
 
ด้านลูกบ้านสามารถขายไฟฟ้าคืนให้รัฐได้ โดยประเมินรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,000-4,000 บาท  โดยบริษัทจะดำเนินการเรื่องการขายไฟฟ้าให้ภาครัฐ และโอนเงินเข้าบัญชีคืนลูกบ้านทุกเดือน  
 
ผศ. ดร.เกษรากล่าวว่า นอกจากการต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เหตุผลสำคัญอีกข้อ คือ การต่อยอดธุรกิจ Recurring Income หรือธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอให้บริษัท ไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการขายบ้านเพียงอย่างเดียว เพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายต้องพึ่งพิงปัจจัยต่างๆ ทั้งภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ หนี้ครัวเรือนและปัญหาการเมือง 
 
ในขณะที่นโยบายของภาครัฐกำหนดมาตรการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทน จะรับซื้อไฟฟ้าจากภาคครัวเรือนและโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนคิดราคาแบบอัตราพิเศษ ระยะเวลา 25 ปี ซึ่งเท่ากับทั้งลูกบ้านจะมีรายได้จากโซลาร์รูฟท็อปและบริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจโซลาร์ฟาร์มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 
 
ปัจจุบัน โครงสร้างธุรกิจของเสนากรุ๊ปจะแบ่งสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย 92-93% และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า หรือ Recurring Income อีก 7-8%  ทั้งเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โกดังให้เช่า คอมมูนิตี้มอลล์ “เสนาเฟสต์” และสนามกอล์ฟ โดยตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 10% ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากการรุกธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งมีโอกาสขยายเติบโตได้อีกหลายเท่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี)  ที่ภาครัฐกำหนดเป้าหมายการผลิตจากพลังงานทดแทน ทั้งลม น้ำ แสงอาทิตย์ อีกหลายหมื่นเมกะวัตต์ ภายในปี 2564
 
จากการประเมินของดอกเตอร์สาว ค่ายเสนาดีเวลลอปเม้นท์จะมีรายได้จากธุรกิจพลังงานตั้งแต่ปี 2559 อัตรากำไรสูงถึง 20% แต่ทั้งหมดทั้งปวง ความพยายามสูงสุด คือการรุกธุรกิจเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันสู้ทุกวิกฤตได้