วันพุธ, ตุลาคม 16, 2024
Home > Cover Story > ตีทะเบียน รื้อภาษี ล้างภาพก๊อบปี้ ก๊อบปี้

ตีทะเบียน รื้อภาษี ล้างภาพก๊อบปี้ ก๊อบปี้

สมาคมแบรนด์เนมมือสอง (Secondhand Brandname Association: S-BA) พยายามเรียกร้องภาครัฐยกเครื่องภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่มแบรนด์เนมมือสอง เพราะถูกมองเป็นของลอกเลียนแบบ ของลักลอบ ต้องถูกจับมาเสียภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งที่แบรนด์เนมมือสองเหล่านี้มาจากการซื้อขายมือหนึ่ง สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนมูลค่ามหาศาล

ขณะเดียวกันตลาดแบรนด์เนมมือสองที่เติบโตก้าวกระโดด มีลูกค้า ทั้งกลุ่มแม่ค้า กลุ่มลูกค้าซื้อใช้เองและกลุ่มลูกค้าซื้อลงทุน มีส่วนให้จำนวนสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรือของก๊อบปี้ลดน้อยลงต่อเนื่อง เพราะตลาด Secondhand Brandname มีสินค้าให้เลือกหลากหลายมากมาย รูปโฉมสวยแทบไม่ต่างกับสินค้าใหม่ ลูกค้าเบื่อสามารถเปลี่ยนมือหาชิ้นใหม่ได้ไม่ยาก และเป็นแบรนด์เนมแท้ 100%

แม้กระทั่งแบรนด์เนมลักลอบหิ้วเข้ามาจากต่างประเทศมีสัดส่วนลดลงเช่นกัน เนื่องจากแม่ค้าเสี่ยงโดนจับและต้องเสียภาษีอัตราสูงมาก 

ส่วนนักชอปไทยหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติหันมาซื้อมือหนึ่งกับช็อปแบรนด์ต่างๆ ในประเทศไทยมากขึ้น หลังบริษัทแม่ของค่ายต่างๆ เข้ามาเปิดแฟล็กชิปสโตร์ในฐานะเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก 

ดูจากสถิติการนำเข้าล่าสุด ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 ของกรมศุลกากร ปรากฏว่า มูลค่าสินค้านำเข้ารวม 6.54 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น  32% โดยสินค้า 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ 8,581 ล้านบาท สัดส่วนลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน 16% รองลงมาเป็นส่วนประกอบยานยนต์ 4,729 ล้านบาท เพิ่ม 6.9% ยารักษาโรค 3,051 ล้านบาท เพิ่ม 12.9% กระเป๋าและของฟุ่มเฟือย 2,221 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% และเครื่องสำอาง 1,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1%

เห็นชัดว่า สินค้าที่สามารถเก็บอากรขาเข้าเพิ่มสูงสุดเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น กระเป๋า สินค้าแบรนด์เนม ซึ่งกรมศุลกากรคาดว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว มีการนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นและการเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ามีการสั่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น 

นอกจากนั้น การติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คร่อมสายพานที่สนามบิน ทำให้ตรวจสแกนสิ่งของ ป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีได้แม่นยำ แม้ยังมีบรรดานักหิ้วเสี่ยงซื้อแบรนด์เนมเข้ามา แต่มักถูกตรวจจับได้เกือบทุกราย

ทั้งนี้ หากดูกฎเกณฑ์การเก็บภาษีกรณีหิ้วสินค้าแบรนด์เนมเข้าประเทศและได้รับการยกเว้นอากร ได้แก่ ของใช้ส่วนตัว มูลค่ารวมทั้งหมดไม่เกิน 20,000 บาท ถ้าเกินกว่านั้นต้องเสียภาษี ได้แก่ นาฬิกาข้อมือ แว่นตา แว่นกันแดด คิดอัตราภาษีศุลกากร  5% กระเป๋าแบรนด์เนม อัตรา 20% เสื้อผ้า หมวก เข็มขัด อัตรา 30% รองเท้า อัตรา 30% ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) อีก 7%

กรณีตัวอย่าง ถ้าเราซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมราคา 150,000 บาท จากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาในประเทศไทย เมื่อของมีราคาเกินกว่า 20,000 บาท ต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม 

ภาษีตัวแรก อากรขาเข้า คิดจากราคาสินค้า (150,000) x อัตราภาษีขาเข้า กระเป๋า 20% เท่ากับ  30,000 บาท

ภาษีตัวที่ 2 ภาษีแวต คิดจากราคาสินค้า + อากรขาเข้า และ x อัตราภาษีแวต 7% เท่ากับ 150,000 + 30,000 แล้ว x 7% หรือต้องเสียภาษีแวต 12,600 บาท

คิดเบ็ดเสร็จรวมภาษีต้องชำระ 30,000 + 12,600 เท่ากับ 42,600 บาท หรือการหิ้วซื้อกระเป๋าใบนั้นต้องเสียเงินเกือบ 2 แสนบาท

ทั้งอัตราภาษีที่สูงและการตรวจจับที่เข้มข้นทำให้กลุ่มแบรนด์เนมลักลอบหิ้วลดน้อยลงเรื่อยๆ บรรดาเศรษฐี หรือนักชอปที่มีกำลังซื้อ เลือกซื้อมือหนึ่งในช็อป ขณะที่แฟนคลับที่มีกำลังซื้อลดลงจากวิกฤตเศรษฐกิจหันมาเล่นสินค้าแบรนด์เนมมือสองมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มใช้เองและลงทุนด้วย

สมาคมแบรนด์เนมมือสองระบุว่า หากรัฐไม่อยากให้ประเทศไทยถูกมองเป็นแหล่งสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าก๊อบปี้ ต้องยกเครื่องระบบภาษีใหม่ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้กลุ่มแบรนด์เนมมือสองเข้าไปอยู่ในหมวดสินค้าศิลปะ เพื่อกำหนดหมวดสินค้าที่ชัดเจนไม่ต่างกับรถยนต์มือสอง  

แต่ทุกวันนี้ รัฐมองแบรนด์เนมมือสองเป็นสินค้าลักลอบนำเข้าที่ต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งที่ร้านสมาชิกส่วนใหญ่จดทะเบียนเป็นบริษัทและเสียภาษีธุรกิจทุกปี ซึ่งสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือในการตีทะเบียนกระเป๋าทุกใบ แต่เป็นอะไรที่ยังผลักดันไม่ได้ กลายเป็นว่า ต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย อยากซื้อแบรนด์เนมมือสองกลับเรียกสินค้าก๊อบปี้ แต่ไปญี่ปุ่นซื้อแบรนด์เนมมือสองเหมือนกัน มองหาของแท้ ไม่มีของปลอม 

ศุภาณัท จรูญพรภักดี นายกสมาคมฯ ย้ำว่า เราพยายามบอกว่า เมืองไทยไม่มีสินค้าก๊อบปี้ มีแต่แบรนด์เนมมือสอง ถ้าตรงนี้แก้ไขได้จะมีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เมืองไทย ไม่ใช่มองสินค้าแบรนด์เนมเป็นของปลอม

ที่สำคัญ ปัญหาทั้งหมดทำให้เป้าหมายการเป็น Hub Center Secondhand brandname เกิดยากขึ้น ทั้งที่สถานการณ์ต่างๆ ในประเทศไทยมีศักยภาพและสามารถเดินตามรอยประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวนิยมหาซื้อแบรนด์เนมมือสองอย่างมั่นใจว่า ทุกชิ้นเป็นของแท้ เพราะวัฒนธรรมคนญี่ปุ่น เมื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนม กระเป๋า นาฬิกา รองเท้า ไม่ได้ใช้ 5 ปี มาปล่อยขายมือสอง ทางการญี่ปุ่นเก็บภาษีเฉพาะในกลุ่มมือสองถูกต้อง มีบริษัทรายใหญ่มากกว่า 10 กว่าราย เช่น นัมโบยะ ไดโกกุยะ จินโซ่ โคเมเฮียว มีสาขาครอบคลุมภูมิภาคใหญ่ๆ อย่างคันโต คันไซ จูบุ และในเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียว โอซากา 

หากเปรียบเทียบกับประเทศไทยในขณะนี้ คนในวงการต่างคาดการณ์ว่า เราสามารถเป็นฮับเซ็นเตอร์ของสินค้าแบรนด์เนมมือสองได้ ยิ่งปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านหันมาซื้อสินค้ามือสองในประเทศไทยจำนวนมาก เช่น เศรษฐีลาวจากเวียงจันทน์เดินทางมาซื้อแบรนด์เนมมือสองที่อุดรธานี ขอนแก่น รวมถึงนักท่องเที่ยวอินโดนีเซีย เวียดนาม หันมาซื้อในประเทศไทย ไม่ต้องเดินทางไปไกล

บางคนขนดอลลาร์มาซื้อในกรุงเทพฯ เพราะมีร้านค้ามากสุด และเริ่มมีร้านเปิดขายในสถานีรถไฟฟ้าเหมือนในญี่ปุ่น รวมทั้งยักษ์ใหญ่อย่างโคเมเฮียว (Komehyo) ยังเข้ามารุกตลาดไทย ซึ่งล่าสุดขยายสาขารวม 4 แห่งแล้ว 

ดังนั้น ในขณะที่กลุ่มห้างค้าปลีกพยายามผลักดันให้รัฐบาลลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยว จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม รัสเซีย เข้ามาใช้จ่ายมากขึ้น 

ไทยจึงสามารถเป็นฮับเซ็นเตอร์ ทั้งสินค้าแบรนด์เนมมือหนึ่งและมือสอง ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล.