วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 3, 2024
Home > Cover Story > ปตท. ลุ้นโค้งสุดท้าย ดันขุมทรัพย์ “โออาร์”

ปตท. ลุ้นโค้งสุดท้าย ดันขุมทรัพย์ “โออาร์”

ยุทธศาสตร์การจัดทัพธุรกิจและดันบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลายเป็นแผนยืดเยื้อยาวนาน แม้กระทั่งชื่อยังเปลี่ยนจากยุค “PTTOR” เป็น “OR” และล่าสุดต้องลุ้นเฮือกสุดท้าย เมื่อรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเจ้ากระทรวงพลังงาน ออกมาสั่งการให้ ปตท. ต้องกำหนดนโยบายตอบโจทย์ 3 ข้อของท่านรัฐมนตรีให้ชัดเจนภายในเส้นตายเดือนกันยายนนี้

อย่างไรก็ตาม หากว่ากันตามเนื้อหาโจทย์ 3 ข้อจากที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งนายสนธิรัตน์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หารือร่วมกับนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องต่อกรณี ปตท. ต้องการนำบริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกข้อล้วนเป็นผลพวงจากข้อครหาที่ผ่านๆ มา ในเรื่องผลประโยชน์ของชาติทั้งสิ้น

ข้อแรก โออาร์จะสามารถสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานได้อย่างไร

ข้อ 2 โออาร์จะดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายหลักของรัฐบาลอย่างไร

ข้อ 3 การเข้าตลาดของโออาร์ ต้องสร้างความแข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศ พาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไทยไปเติบโตได้อย่างไร

“นโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้พลังงานสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชนฐานราก จะพบว่าภารกิจล้วนเกี่ยวข้องกับโออาร์ทั้งหมด หากโออาร์จะเข้าตลาด ควรเน้นการสนับสนุนชุมชน ส่วนความต้องการสร้างรายได้ กำไร หัวใจควรไปเน้นต่างประเทศ ไม่ใช่ในประเทศไทย ที่สำคัญ แผนการเข้าตลาดจะขยับเป็นปี 2563 แทน” นายสนธิรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ปตท. เป็นองค์กรธุรกิจที่มีรายได้มูลค่ามหาศาล โดยผลประกอบการครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2562) มีรายได้รวม 1,121,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,437 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1% แม้ตัวเลขกำไรอยู่ที่ 55,250 ล้านบาท ลดลง 14,567 ล้านบาท หรือ 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเฉลี่ยต่ำกว่าปีที่ผ่านมา และค่าการกลั่นลดลงถึง 50% เป็นผลจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา

แต่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังมั่นใจว่า กำไรในปี 2562 จะไม่เลวร้ายเท่ากับปี 2558 อาจต่ำกว่าปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 119,683.94 ล้านบาท เพียงเล็กน้อย

ขณะที่ช่วงที่ผ่านมา ปตท. จัดการทรัพย์สินให้โออาร์เรียบร้อยแล้ว มูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และตั้งความหวังว่า โออาร์จะเป็นแหล่งรายได้ที่มีการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากวางยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจค้าปลีกแบบรอบด้านภายใต้การบริหารงานที่คล่องตัวขึ้นและมีมาร์จิ้นดีกว่าธุรกิจปิโตรเลียมของบริษัทแม่

ถ้าดูโครงสร้างธุรกิจของโออาร์ล่าสุดแบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก เริ่มจากกลุ่มธุรกิจการตลาดค้าปลีกที่มีทั้งธุรกิจสถานีบริการ PTT Station ที่ครอบคลุมอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยและเน้นความเป็นมินิคอมมูนิตี้มอลล์ ภายใต้แนวคิด “ความสุขหลากสไตล์ในที่เดียว” (One Stop Service) โดยเร่งขยายบริการใหม่ๆ และพันธมิตรร้านค้า เช่น บัดเจ็ตโฮเทล บริการฟิตเนส สนามฟุตซอล บริการร้านเสริมสวย ร้านตกแต่งรถยนต์ เชนร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น เอสแอนด์พี แบล็กแคนยอน แมคโดนัลด์ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ชานมไข่มุก ล่าสุด มีร้านอาหารเข้ามาเป็นพันธมิตรมากกว่า 90 แบรนด์ กระจายตามปั๊มสาขาต่างๆ ตามทำเลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

สำหรับการขยายสาขาปั๊มตามแผน 5 ปี จะขยายสถานีครอบคลุมทั่วประเทศมากกว่า 2,000 แห่ง และในตลาดต่างประเทศจะเปิดครบ 500 แห่ง ทั้งใน สปป.ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์

ขณะเดียวกัน โออาร์เดินหน้าธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน เพื่อปลุกปั้นขึ้นสู่ระดับ “เอเชียแบรนด์” โดยปีนี้ตั้งเป้าขยายสาขาในประเทศราว 400 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 2,500 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการขยายผ่านแฟรนไชส์กว่า 80% แบ่งเป็นร้านตั้งในสถานีบริการน้ำมันของ PTT Station จำนวน 1,700 แห่ง และนอกสถานีบริการน้ำมัน 800 แห่ง นอกจากนี้ เพิ่งเปิดตัวต้นแบบร้านแห่งแรกภายใต้ Green Concept ใช้วัสดุรีไซเคิลในการตกแต่งร้าน และนำวัสดุย่อยสลายมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการใช้งานภายในร้าน วางเป้าหมายจะเปิด 5 ร้าน ภายในปีนี้

ปัจจุบัน ธุรกิจคาเฟ่ อเมซอนสร้างรายได้ราว 12,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นร้านกาแฟที่มียอดขายและสาขามากที่สุดในไทย เทียบกับยักษ์ใหญ่ “สตาร์บัคส์” ที่มีแผนเปิดสาขาในปีนี้ครบ 400 แห่ง นอกจากนี้ ยังแตกขยายแบรนด์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ ร้านฟาสต์ฟู้ด ไก่ทอด เท็กซัส ชิคเก้น ร้านแดดดี้โด และฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ

กลุ่มที่ 2 ธุรกิจการตลาดพาณิชย์ (Commercial Marketing) จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้กลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรม บริษัทสายการบิน การเดินเรือขนส่ง เรือประมง หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ลูกค้าก๊าซหุงต้ม และลูกค้ากลุ่มขนส่งและสร้างทาง มีจำนวนลูกค้ากว่า 2,500 ราย รวมถึงลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจน้ำมันทั้งภายในและภายนอกประเทศ

กลุ่มที่ 3 ธุรกิจหล่อลื่น ครอบคลุมทั้งการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่น จาระบี ไขข้น และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ผ่านช่องทาง B2B และ B2C ภายใต้แบรนด์ PTT Lubricants เจาะตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถบรรทุกภาคขนส่ง รถมอเตอร์ไซค์ เรือประมงขนส่ง เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องยนต์ก๊าซ ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่น ร้านค้ารายย่อย สถานีบริการ PTT Station และศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto ทั่วประเทศ และเจาะตลาดต่างประเทศกว่า 40 ประเทศทั่วโลก

กลุ่มที่ 4 ธุรกิจต่างประเทศ ภายใต้บริษัท PTT Philippines Corporation (PTT PC) และ PTT Philippines Trading Corporation (PTT TC) เป็นบริษัทลูก 100% ของโออาร์ นำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยมีถังเก็บน้ำมัน 3 แห่ง ที่ Subic Bay Freeport Zone, Clark Special Economic Zone และบนเกาะเซบู ความจุรวม 230 ล้านลิตร เพื่อขายให้ลูกค้าในกลุ่มอากาศยาน กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มค้าส่ง และสถานีบริการ ปัจจุบันเปิดสถานีบริการบนเกาะลูซอน และเกาะเซบู โดยมีการขยายร้านคาเฟ่อเมซอนทั้งในและนอกสถานีบริการตามไปด้วย เช่น ในเมืองมะนิลาและบริเวณใกล้เคียง

เมื่อเร็วๆ นี้ โออาร์ยังจัดตั้งบริษัท พีทีทีโออาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) และบริษัท พีทีทีโออาร์ อินเตอร์เนชั่น โฮลดิ้งส์ (สิงคโปร์) เพื่อขยายตลาดต่างประเทศ

กลุ่มสุดท้าย ธุรกิจการบริหารและปฏิบัติการคลัง โดยโออาร์บริหารควบคุมดูแลการเก็บสำรอง รับจ่าย บรรจุผลิตภัณฑ์น้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซหุงต้ม (LPG) ของคลังทั่วประเทศ มีคลังสำรองที่เป็นจุดบริการขายน้ำมันและก๊าซหุงต้มกับลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ สถานีเติมน้ำมันอากาศยานในต่างประเทศอีก 3 แห่งที่สนามบินเสียมเรียบและสนามบินโปเชียนตง ในราชอาณาจักรกัมพูชา และสนามบินฮ่องกง ในสาธารณรัฐประชาชนจีน

แน่นอนว่า นับเม็ดเงินทั้ง 5 ธุรกิจหลักแสนล้าน ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างฟันธงว่า “OR” จะขึ้นชั้นหุ้นดาวเด่นและเป็นขุมทรัพย์ต่อยอดให้บริษัทแม่ได้อีกหลายเท่า นั่นยิ่งทำให้ ครม. บิ๊กตู่ 2 ต้องเน้นความโปร่งใส เพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ ไม่ใช่ส่วนตัว แต่เพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น