วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > สวัสดี Moshi Moshi ได้ฤกษ์ติดจรวดขายแฟรนไชส์

สวัสดี Moshi Moshi ได้ฤกษ์ติดจรวดขายแฟรนไชส์

อาณาจักรร้านสินค้าไลฟ์สไตล์แนวใหม่ สีสันน่ารักๆ Moshi Moshi ที่มีสาขาทั่วประเทศไทยมากกว่าร้อยร้าน เริ่มต้นจากร้านกิฟต์ช็อป “พร้อมภัณฑ์” ย่านฝั่งธนบุรีเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน ซึ่ง สง่า บุญสงเคราะห์ ลุยบุกเบิกจนกลายเป็นร้านที่ลูกค้าแถวนั้นรู้จักอย่างดี ก่อนปรับกลยุทธ์เน้นสินค้าที่มีดีไซน์และสินค้านำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อจำหน่ายให้ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และร้านค้าต่างๆ

แน่นอนว่า ฐานลูกค้ากว้างขึ้น ตลาดใหญ่ขึ้นและยอดขายเติบโตมากขึ้น

ปี 2530 นายสง่าขยายธุรกิจ เปิดร้านค้าส่งแบบดั้งเดิมในตลาดสำเพ็ง แต่ใช้วิธีตกแต่งร้านและเพิ่มจำนวนสินค้าเหมือนย่านค้าส่งในประเทศญี่ปุ่น ฉีกแนวคู่แข่งกลายเป็นร้านฮอตฮิตของลูกค้า กระทั่งปี 2543 ตัดสินใจเปิด บริษัท บีกิฟท์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจร้านค้าส่งแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ในตลาดสำเพ็ง

ในช่วงจังหวะที่ตลาดกิฟต์ช็อปและสินค้าไลฟ์สไตล์เติบโตสูงมาก พร้อมๆ กับกลุ่มลูกค้าต่างเรียกหาสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น อชิระ บุญสงเคราะห์ ลูกชายของสง่า มองเห็นโอกาสและแนวทางใหม่ๆ หลังเรียนรู้การทำธุรกิจและสั่งสมประสบการณ์จากผู้เป็นพ่อ

เขาปรึกษาครอบครัวและลงมติร่วมกัน จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัท บี กิฟท์ เป็นบริษัท โมชิ โมชิ เจแปน จำกัด เมื่อปี 2559 โดยครอบครัวเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาท เป็น 10 ล้านบาท และเลือกใช้คำภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า โมชิ (Moshi) ซึ่งแปลว่า “สวัสดี” เปิดร้าน Moshi Moshi สาขาแรกที่ The Platinum Fashion Mall จำหน่ายสินค้าสไตล์ญี่ปุ่น มีจุดขายสำคัญ คือ ราคาประหยัด และขยายเพิ่มอีก 3 แห่งในเวลาต่อมา

ร้าน Moshi Moshi สร้างแรงดึงดูดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น คนทำงาน คนรุ่นใหม่ โดยใช้เวลาเพียงปีเดียว ลุยผุดสาขามากถึง 22 แห่ง และเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 10 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาท

ปี 2561-2563 บริษัทปูพรมต่อเนื่อง ปิดปี 2563 ฝ่ามรสุมโควิดแพร่ระบาด มีสาขารวมทั้งสิ้น 90 แห่ง

ในปีนั้น บริษัทยังแตกไลน์ร้าน GIANT ในห้างแพลตตินั่มแฟชั่นมอลล์ โดยวาง Positioning เป็นร้านค้าปลีกแบบมีส่วนลดและสินค้าทั่วไปที่เน้นการใช้งาน (Function) ในชีวิตประจำวัน กลุ่มเครื่องเขียน กระเป๋า และของใช้ในบ้าน ราคาย่อมเยา ซึ่งต่างจากสินค้าของร้าน Moshi Moshi ที่เน้นการขายสินค้าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ที่หลากหลาย ทันสมัย และมีการออกแบบโดยเฉพาะ (Exclusive) โดยสินค้าของร้าน GIANT ช่วยเติมเต็มช่องว่างในตลาดที่ลูกค้ามองหาสินค้าที่เน้นการใช้งานในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้บริษัทมีแบรนด์สินค้าหลากหลายตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม

นอกจากนั้น เพิ่มจุดขายสินค้าลิขสิทธิ์จาก Disney คาแรกเตอร์ต่างๆ เช่น  Disney’s Mickey & Friends, Disney’s Winnie The Pooh, Pixar’s Monster Inc, Disney’s Tsum Tsum ลิขสิทธิ์ Peanuts Worldwide LLC คาแรกเตอร์ SnoopyTM และ Hello Kitty จาก Sanrio สำหรับคาแรกเตอร์ Hello Kitty

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 บริษัทจดทะเบียนแปรสภาพจากบริษัทจำกัด เป็นบริษัทมหาชนจำกัด และเปลี่ยนชื่อจาก บริษัท โมชิ โมชิ เจแปน จำกัด เป็น บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียน จาก 225 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท และเข้าซื้อขายหุ้น MOSHI ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย First Trading Day ในวันที่ 22 ธันวาคม 2565 มี Market Capitalization ประมาณ 6,300 ล้านบาท

วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีจำนวนสาขาร้าน Moshi ทั้งสิ้น 105 สาขา และร้าน GIANT จำนวน 1 สาขา

เดือนสิงหาคม 2566 บริษัทเปิดตัวร้านแบรนด์ใหม่  “Garlic” คอนเซ็ปต์  Chic n Cool เน้นสินค้าตกแต่งบ้านและไลฟ์สไตล์ รูปแบบ Shop in Shop ตั้งอยู่ภายในร้าน Moshi Moshi โดยนำร่องสาขาแรกในฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

ความแตกต่างระหว่างร้าน Moshi Moshi กับ Garlic คือ Moshi Moshi เน้นสินค้ารูปแบบน่ารัก สีสันสดใส ขณะที่ร้าน Garlic เน้นสินค้าดีไซน์มินิมอล เรียบง่ายดูดี เก๋และเท่ โดยมีสินค้ากลุ่มหลักๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ Diffuser ก้านไม้หอม กลิ่นหวาน กลิ่นดอกไม้ กลิ่นมินต์เย็นผ่อนคลาย กระเป๋าผ้า เป้ กระเป๋าหนัง กระเป๋าถัก เครื่องแต่งกายแฟชั่น หมวก เสื้อยืด ถุงเท้า ของตกแต่งบ้าน โคมไฟ ของตั้งโชว์ เครื่องเขียน พวงกุญแจเก๋ๆ  ขนม เกมต่างๆ

ปัจจุบันบริษัทมีสาขา Moshi Moshi จำนวน 116 สาขา ร้าน GARLIC 1 สาขา ร้าน The OK Station ในตลาดสำเพ็ง เน้นจำหน่ายสินค้ากิฟต์ช็อปและเครื่องเขียนราคาขายส่ง 1 สาขา และร้าน GIANT อีก 1 สาขาในห้างแพลตตินั่มแฟชั่นมอลล์ โดยมีแผนเปิดสาขาทดลอง 2 สาขาในจังหวัดหัวเมืองรอง รูปแบบสแตนด์อะโลน บริเวณแหล่งชุมชน โรงเรียน และศูนย์ราชการ เพื่อศึกษาพฤติกรรมกลุ่มลูกค้า การเลือกซื้อสินค้า รวมทั้งข้อมูลรายได้ต่อสาขา อัตรากำไร มาวิเคราะห์ กำหนดรูปแบบร้านสาขา Franchise ซึ่งจะเปิดตัวในปี 2567

ต้องยอมรับ MOSHI MOSHI มีคู่แข่งสำคัญ คือ MINISO ของนักธุรกิจหนุ่ม Ye Guofu ซึ่งวันนี้กลายเป็นเศรษฐี ผู้ครอบครองทรัพย์สินมูลค่า 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กิจการร้าน MINISO เปิดฉากขึ้นเมื่อปี 2556 และใช้เวลาเพียง 2 ปีเศษๆ มีร้านมากกว่า 1,000 สาขา ใน 60 ประเทศทั่วโลก และทำยอดขายรวมสูงถึง 750 ล้านดอลลาร์ ล่าสุดมีสาขาราว  6,115 แห่ง แบ่งเป็นสาขาในประเทศจีน 3,802 แห่ง และอยู่ในประเทศต่างๆ มากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกอีกราว 2,313 แห่ง

สำหรับ Ye Guofu หรือ Jack Ye เป็นลูกชายคนเล็กของชาวนาในมณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไม่มีทางออกทะเล เขาเติบโตด้วยความอยากรู้อยากเห็นโลกภายนอกประเทศจีน เขามักดูภาพเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง ลอสแองเจลิส นิวยอร์ก และคิดว่า เมื่อโตขึ้นจะออกไปผจญภัยในเมืองใหญ่เหล่านั้น

ปี 2556 เขามีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นกับครอบครัว ได้เห็นร้าน Muji และ Uniqlo ซึ่งได้รับความนิยมมากมายจากเหล่านักชอป เขามองการตกแต่งร้าน เสน่ห์น่าดึงดูดมากจนเกิด Passion อยากเปิดร้านแบบนี้ในประเทศจีนบ้าง

Ye จึงชักชวน Miyake Junya นักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวญี่ปุ่นมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์ เปิด Miniso ร้านแรกในเมืองกวางโจว เน้นจุดขายจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ราคาย่อมเยาสัญชาติจีน ภายใต้โลโก้กระเป๋าชอปปิ้ง “shopping bag, which is simple but fashionable” และโลโก้หน้ายิ้ม  Smile Service ปรากฏว่า ร้าน Miniso ได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวจีนอย่างมาก มีสินค้าของใช้ภายในบ้าน เครื่องสำอาง ของตกแต่งราคาไม่แพง ซึ่งทุกชิ้นมีการออกแบบอย่างทันสมัย เช่น มาสคาร่าราคา 2 ดอลลาร์ หูฟังโทรศัพท์ ราคา 6 ดอลลาร์ จนสามารถขยายสาขาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการขายแฟรนไชส์กับผู้ประกอบการต่างๆ และปีถัดมา รุกเข้าไปเปิดสาขาในญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และขยายไปทั่วโลก

Ye Guofu 

นอกจากนั้น Ye ยังเปิดตัวร้าน Toptoy จำหน่ายของเล่นขนาดเล็ก ตัวการ์ตูนสะสมในเมืองกวางโจว ตามกระแสคลั่งไคล้ blind box toy หรือกล่องสุ่ม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมซื้อของเล่นของคนญี่ปุ่นที่เพิ่มความตื่นเต้นจากการลุ้นสินค้าว่าจะได้ตัวอะไร โดยปัจจุบันเปิดร้านสาขารวม 122 แห่ง

ในวงการต่างวิเคราะห์ความสำเร็จของ MINISO มาจากการใช้จุดแข็งของคาแรกเตอร์ความเป็นญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับเรื่องดีไซน์และไลฟ์สไตล์ จนคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นร้านค้าปลีกญี่ปุ่นและเลือกเปิดบน Shopping Street การใช้ตัวการ์ตูนดิสนีย์กับสินค้าขนาดเล็ก เพื่อสร้างความน่าสนใจ สร้างภาพลักษณ์สินค้าราคาถูกแต่มีดีไซน์ ประมาณ “ถูกกว่าที่คิด” และการใช้กลยุทธ์ราคาเป็นตัวโปรโมต เช่น 69 บาท แต่มีสินค้าราคาสูงกว่านั้นในร้านที่ดึงดูดลูกค้าได้ด้วย

ทั้ง Moshi Moshi และ MINISO ต่างใช้ยุทธวิธีไม่ต่างกัน แม้ Moshi Moshi ใช้เวลาเดินทางนานกว่า แต่แผนเปิดขายแฟรนไชส์ในปี 2567 คือ เกมรุกติดจรวดอีกครั้ง จนน่าสงสัยว่า MINISO ที่แทบไม่จัดงานแถลงออกสื่อในประเทศไทย จะเปิดแผนโต้กลับอย่างไรหรือไม่??.

 อชิระ บุญสงเคราะห์