วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > 125 ปี เชลล์ จังหวะก้าวสู่ความเป็นหนึ่ง

125 ปี เชลล์ จังหวะก้าวสู่ความเป็นหนึ่ง

ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2435 ที่เชลล์เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในไทย ในครั้งนั้นเรือ เอส เอส มิวเร็กซ์ ซึ่งเป็นเรือบรรทุกน้ำมันเข้าจอดเทียบท่าที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 23 กันยายน ปีนั้น นับเป็นการนำเข้าน้ำมันก๊าดครั้งแรกของไทย แน่นอนว่านับตั้งแต่ปีนั้น ตลาดน้ำมันก๊าดขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

คนไทยจำนวนหนึ่งอาจจะเคยคุ้นชินกับ “ตรามงกุฎ” น้ำมันก๊าดของเชลล์ ซึ่งในขณะนั้นบริษัท เมสเซอร์ส มาร์ควอล์ด แอนด์ โค เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของเชลล์ในประเทศไทย จากนั้น บริษัท เอเชียติก ปิโตรเลียม (สยาม) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัทรอยัลดัทช์/เชลล์ ได้แต่งตั้ง บริษัท บอร์เนียว จำกัด ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของเชลล์ในประเทศไทย

ธุรกิจการนำเข้าน้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซิน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ดำเนินไปได้ด้วยดี กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น เป็นเหตุให้บริษัท เอเชียติก ปิโตรเลียม ต้องปิดกิจการชั่วคราว และภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง เชลล์ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลไทยให้กลับเข้ามาดำเนินกิจการในไทยอีกครั้ง นี่น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะบริษัท เอเชียติก ปิโตรเลียม (สยาม) จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2489 และมีบริษัท เชลล์ โอเวอร์ซีส์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์

125 ปีที่เชลล์ดำเนินกิจการในไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เชลล์ได้รับ ปัจจัยหนึ่งที่เชลล์ยังดำเนินธุรกิจอยู่ได้จวบจนทุกวันนี้ น่าจะมาจากความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์จากผู้บริโภค ผู้ขับขี่ รวมไปถึงพาร์ตเนอร์ที่ยังคงให้ความไว้วางใจที่จะทำธุรกิจร่วมกัน

พัฒนาการของเชลล์ดูจะเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคนทั่วไปอยู่ไม่น้อย และเสียงตอบรับในเรื่องผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีประสิทธิภาพ นั่นอาจจะเป็นเพราะการไม่หยุดที่จะพัฒนาในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งเพื่อตอบสนองแก่ผู้บริโภค รวมไปถึงคู่ค้าสำคัญ

หากพิจารณาจากคำกล่าวของประธานกรรมการบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด อย่าง นายอัษฎา หะรินสุต ที่ว่า “ตลอดระยะเวลา 125 ปีที่เชลล์ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เรามุ่งมั่นนำเสนอนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีน้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพสูงให้แก่ผู้บริโภคชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงาน เชลล์เติมสุขให้ทุกชีวิต เราภูมิใจอย่างมากกับการเปิดตัวน้ำมันเชื้อเพลิงสูตรใหม่ทุกชนิดของเชลล์ เพราะเป็นการนำน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดีที่สุด เท่าที่เชลล์เคยทำการคิดค้นและพัฒนามาให้ผู้บริโภคชาวไทยได้ใช้พร้อมกันกับลูกค้าจากอีก 20 ประเทศทั่วโลกที่เชลล์มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้เช่นเดียวกัน” ดูจะสอดคล้องกับทิศทางนโยบายการบริหารงานของเชลล์มาโดยตลอด

อีกทั้งยังขยายความถึงแนวทางการดำเนินงานอีกว่า “การบริหารงานองค์กรที่มีอายุ 125 ปีในไทยนั้นไม่ง่ายนัก แต่เรามุ่งเน้นที่การพัฒนา 3 ด้าน 1. การพัฒนาบุคลากร คนทำงาน ให้มีความสุขกับการทำงาน 2. แนวทางการพัฒนาพันธมิตร คู่ค้า ให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน 3. คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้เราทำเพื่อหวังให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจสูงสุด”

การเปิดตัวผลิตภัณฑ์น้ำมันสูตรใหม่ที่ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยี “ไดนาเฟล็กซ์” ดูจะเป็นบทพิสูจน์สำคัญของเชลล์ ด้วยงบประมาณที่เชลล์ลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท และการเลือกจับมือกับพันธมิตรที่มีชื่อชั้นระดับโลกอย่าง เฟอร์รารี่ บีเอ็มดับเบิลยู ในการคิดค้น วิจัย และร่วมกันพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงสูตรใหม่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในรอบ 100 ปี ที่เชลล์พัฒนาขึ้นมา

แม้ว่าหลายเสียงของผู้บริโภคจะให้การตอบรับที่ดี และยอมรับว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันของเชลล์มีคุณภาพที่ส่งผลดีต่อรถยนต์ กระนั้นเป้าหมายอีกขั้นของเชลล์ในอนาคตคือ การให้ความสำคัญในธุรกิจ non-oil มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าในปี ค.ศ. 2025 จะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ non-oil เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากจำนวนสถานีบริการน้ำมันที่เชลล์มีในประเทศไทย 517 สถานีบริการ แบ่งเป็นสถานีที่ร่วมลงทุนกับคู่ค้าจำนวน 350 สถานีบริการ และจำนวนที่เหลือเป็นการลงทุนเองของเชลล์ ทั้งนี้ยังมีเป้าหมายระยะใกล้ว่าในแต่ละปีจะต้องเปิดสถานีบริการไม่น้อยกว่า 30 สถานีบริการ โดยในปี 2560 เชลล์มีเป้าหมายที่จะเปิด 41 สถานีบริการ ทั้งนี้ในอนาคตเชลล์มีเป้าหมายที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันให้ครบ 800 สาขา

หมุดหมายดังกล่าวของเชลล์ เหมือนเป็นการบ่งบอกว่าเชลล์นั้นยังคงให้ความสำคัญกับการขยายตัวของสถานีบริการน้ำมันเพื่อหวังช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมัน มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับธุรกิจ non-oil ที่ดูว่าเป้าหมายนั้นจะห่างไกลจากสถานการณ์ปัจจุบันพอสมควร โดยปัจจุบันธุรกิจ non-oil ที่พร้อมให้บริการอยู่ในสถานี คือ ร้านกาแฟเดลี่คาเฟ่ และร้านสะดวกซื้อเชลล์ซีเลค

แม้ว่าค่ายน้ำมันอื่นๆ เริ่มหันมาให้ความสนใจในธุรกิจ non-oil มากขึ้นในสัดส่วนที่ชัดเจน และการแข่งขันในธุรกิจ non-oil ของสถานีบริการน้ำมันค่ายอื่นๆ ที่เริ่มจะดุเดือดมากขึ้น

กระนั้นการที่เชลล์ยังไม่เข้ามาร่วมศึกธุรกิจ non-oil อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากนัก อาจจะเป็นเพราะยังไม่มีความมั่นใจในธุรกิจที่ไม่ถนัด หรือกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาการคัดเลือกพันธมิตร หรืออีกเหตุผลสำคัญที่อาจจะเป็นไปได้ว่า เพราะความมั่นใจในประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ทุ่มทุนหลายหมื่นล้านในการวิจัย

ซึ่ง อรอุทัย ณ เชียงใหม่ กรรมการบริหาร ธุรกิจการตลาดค้าปลีก ประจำประเทศไทย ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เปิดเผยความรู้สึกเมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งว่า “ดิฉันมีความมุ่งมั่นที่จะนำธุรกิจค้าปลีกของเชลล์ ก้าวสู่อันดับหนึ่งในประเทศไทย ทั้งในด้านความชื่นชมจากลูกค้า และส่วนแบ่งการตลาดภายในอนาคตอันใกล้ นอกจากการเติบโตทางธุรกิจแล้ว การส่งเสริมความสามารถของบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้”

และอีกคำกล่าวหนึ่งของอรอุทัย ที่อาจเป็นคำตอบของคำอธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมเชลล์ถึงยังให้ความสำคัญกับธุรกิจ non-oil ไม่มากนักในเวลาอันใกล้นี้ “คุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง คือหัวใจของการทำธุรกิจของเชลล์ เราจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด”

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าก้าวย่างของเชลล์ในอนาคตอันใกล้จะเป็นอย่างไร เมื่อปัจจุบันเชลล์อาจจะเป็นหนึ่งในฐานะผู้นำในการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์น้ำมันที่อุดมไปด้วยคุณภาพ กระนั้นธุรกิจ non-oil ที่หลายค่ายกำลังให้ความสำคัญ เชลล์พร้อมจะเข้าร่วมการแข่งขันที่กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดนี้เมื่อไหร่

ตำแหน่งผู้นำไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะได้มา แต่มันก็ไม่ง่ายเช่นกันที่จะรักษาให้คงอยู่ตลอดไป

ใส่ความเห็น