วันจันทร์, ตุลาคม 7, 2024
Home > Cover Story > บิ๊กตู่ลุยไฟศึกอภิปราย พิษเศรษฐกิจรอบด้าน

บิ๊กตู่ลุยไฟศึกอภิปราย พิษเศรษฐกิจรอบด้าน

19 กรกฎาคมนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะเปิดฉากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้ยุทธการ “เด็ดหัวนายกฯ สอยนั่งร้าน” หวังขยี้แผลเปิดหลักฐานการบริหารประเทศที่ผิดพลาด การทุจริตคอร์รัปชั่น และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ตรงจุด โดยเฉพาะมาตรการบรรเทาค่าครองชีพฝ่าวิกฤตข้าวของแพงและราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มพุ่งยาวถึงสิ้นปี

ยิ่งไปกว่านั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมพิจารณาปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดใหม่ ช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 และมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 90-100 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สูงขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้ค่าไฟฟ้ารวมต้องปรับเพิ่มเกือบ 5 บาทต่อหน่วย เทียบงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม อยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย

ล่าสุด กกพ. พลิกกลยุทธ์ใหม่เปิดช่องทางขอรับฟังความเห็นชาวบ้านผ่านเว็บไซต์ www.erc.or.th ก่อนชี้ขาดขั้นสุดท้ายใน 3 แนวทาง

กรณีแรก เรียกเก็บค่าเอฟที 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นตามการประมาณการต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง 93.43 สตางค์ต่อหน่วย

กรณีที่ 2 เรียกเก็บค่าเอฟที 139.13 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงบวกกับยอดต้นทุนค่าไฟสะสมงวดที่ผ่านมา 83,010 ล้านบาท เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายใน 1 ปี ทยอยปรับ 3 งวด งวดละ 45.70 สตางค์ต่อหน่วย

กรณีที่ 3 เรียกเก็บค่าเอฟที 116.28 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิงและต้นทุนสะสมมาเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายใน 2 ปี ทยอยปรับ 6 งวด งวดละ22.85 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งการพิจารณาต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบค่าใช้จ่ายของประชาชนและความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าในระยะยาว

แน่นอนว่า พิษค่าไฟฟ้าจะเป็นประเด็นร้อนแรงทางเศรษฐกิจที่ฝ่ายค้านสามารถหยิบขึ้นมาปลุกอารมณ์ร่วมกับประชาชน ขย่มคะแนนนิยมของรัฐบาลที่กำลังหล่นวูบลงเรื่อยๆ ไม่นับรวมตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าเงินบาท อัตราเงินเฟ้อพุ่งทะยาน ต้องลุ้นการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวผูกโยงกับยอดผู้ติดเชื้อโควิดที่มีสิทธิ์แพร่กระจายในอัตราเร่งหรือไม่

สำหรับ 11 รัฐมนตรีที่โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. พาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. สาธารณสุข พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช. คลัง นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช. มหาดไทย และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว. แรงงาน

ขณะเดียวกัน หากดูผลโพลล่าสุดของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศคิดอย่างไรกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จำนวน 1,021 คน เมื่อวันที่ 4-7 ก.ค. 2565 ส่วนใหญ่อยากให้อภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นผลงานการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุด 75.67%

อันดับ 2 สาเหตุของสินค้าแพง การควบคุมราคาสินค้า 73.49%

อันดับ 3 การทุจริต คอร์รัปชั่น เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง 70.71%

อันดับ 4 การแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน 64.45%

อันดับ 5 การใช้งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง อนุมัติโครงการต่างๆ 60.58%

นอกจากนี้ เมื่อย้อนกลับไปดู “นิด้าโพล” สำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 2/2565 ระหว่างวันที่ 20-23 มิ.ย. 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค รวม 2,500 หน่วยตัวอย่าง ปรากฏว่า บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว แต่เป็นทายาทสาวตระกูลชินวัตร น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร ด้วยเหตุผลต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรคทำได้จริง และชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ติดชาร์จอันดับ 4 ตามหลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

ด้านพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย อยู่ที่ 36.36% อันดับ 2 ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย 18.68% อันดับ 3 พรรคก้าวไกล 17.88% และอันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ อยู่ที่ 7%

แม้นายกฯ พยายามงัดกลยุทธ์ใหม่นำเสนอไอเดียเชิงสร้างสรรค์ “กลยุทธ์ 3 แกนสร้างอนาคต” ยืนยันว่า ประเทศกำลังกลับเข้าสู่การใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงปกติ แต่ภัยเศรษฐกิจจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นปัญหาใหญ่ จึงเสนอกลยุทธ์แก้ปัญหาปากท้องและความยากจนผ่านกลยุทธ์ 3 แกนหลัก

แกนที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางรถไฟ รถไฟความเร็วสูง ถนน สนามบิน และท่าเรือ ที่รัฐบาลในอดีตหลายรัฐบาลวางแผนโครงการสวยหรู แต่ปล่อยขึ้นหิ้ง ไม่ถูกทำให้เกิดขึ้นจริง แต่รัฐบาลชุดนี้จะทำให้โครงการนับร้อยเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง

แกนที่ 2 จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก ผ่านการช่วยเหลือผู้ผลิตยานยนต์ระดับโลกในการขยายการลงทุนและธุรกิจในไทย ซึ่งมีผู้สนใจแล้วหลายราย และให้คนไทยได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในราคาถูกลง

แกนที่ 3 การพลิกโฉมภาคการธนาคารเพื่อให้ลูกค้ารายเล็กและประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงเงินกู้ของธนาคารได้มากขึ้น และนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ในการทำงานของธนาคาร

ทว่า ไอเดียเหล่านั้นกลับไม่สามารถปลุกกระแสและถูกฝ่ายค้านตอกย้ำกระแสต่อต้านมากขึ้น โดยหยิบยกทั้งผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและการเลือกตั้งซ่อม จ. ลำปาง เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา เมื่อประชาชนแลนด์สไลด์เลือกตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้าน

อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กระแสความนิยมในเวลานี้สะท้อนความล้มเหลวแทบทุกมิติของรัฐบาล แม้แต่พรรคที่เคยสนับสนุน เคยทำงานในรัฐบาล รู้ดีว่า 8 ปีที่ผ่านมารัฐบาลทำประเทศหนี้ล้น ประชาชนหนี้ท่วม ประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาส ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยเห็นสัญญาณลบนี้

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จึงไม่ใช่การอภิปรายตามประเพณี ตามเทศกาล ไม่ใช่การอภิปรายเพื่อล้มพล.อ.ประยุทธ์ หรือให้พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทน แต่เป็นการทำหน้าที่สะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในวิกฤตเศรษฐกิจสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วทุกหย่อมหญ้า”

ดังนั้น แม้รัฐบาลสามารถสอบผ่านในแง่คะแนนโหวต แต่ถือเป็นงานหนักในการปลุกกระแสความนิยม ซึ่งไม่มีอะไรช่วยได้นอกจากการทำผลงานแก้วิกฤตให้เห็นชัดเจนที่สุด.

ใส่ความเห็น