แม้สังคมไทยกำลังจะเดินหน้าสู่สมรภูมิการเลือกตั้งที่ทำให้พื้นที่ข่าวจำนวนหนึ่งถูกจัดสรรให้รายงานความเคลื่อนไหวและเป็นไปทางการเมือง ที่ประกอบส่วนด้วยท่วงทำนองของนักการเมืองที่ต่างพร้อมกระโจนเข้าสู่สนามการแข่งขันทั้งอย่างเปิดเผย โดยมีบางส่วนที่ยังสงวนท่าที
ขณะเดียวกันวิกฤตจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะที่อินโดนีเซียก็ดูจะเป็นกรณีที่น่าสนใจติดตามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และทำให้สังคมไทยต้องหันมาตั้งคำถามถึงขีดความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงและบรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นของหน่วยราชการและกลไกแวดล้อมว่ามีอยู่ในระดับใด มีกุญแจที่จะไขไปสู่การสร้างความมั่นใจให้กับสังคมได้มากน้อยเพียงใดหรือไม่
หากแต่ในภาพรวมระดับนานาชาติ ความเป็นไปของเศรษฐกิจมหภาคกำลังดำเนินไปภายใต้ภาวะสุ่มเสี่ยงจากผลกระทบของสงครามการค้าที่เริ่มขึ้นจากข้อขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งทำให้การลงทุนและกระบวนการผลิตที่จะหนุนนำการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้นอีกด้วย และอาจเป็นปัจจัยกดทับให้ความมุ่งหมายที่จะเร่งฟื้นคืนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเจริญรุดหน้าเป็นไปได้อย่างยากลำบากขึ้น
กรณีของสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ต้องออกมาร้องเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะชะงักงันและซบเซาลงในช่วงเวลานับจากนี้ และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกต้องเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้ง หลังจากที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤต subprime ในปี 2008 หรือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าสนใจติดตามจากคำเตือนของไอเอ็มเอฟในครั้งนี้ อยู่ที่การระบุว่า นอกจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะงักงันแล้ว ยังระบุว่าหากวิกฤตค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ยืดเยื้อและลุกลามต่อไป อาจทำให้ต้องเผชิญกับภาวะกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่มากถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับกระแสเงินไหลออกในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อ 10 ปีก่อน
วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังส่อเค้าจะถาโถมเข้าใส่เศรษฐกิจโลกครั้งใหม่นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากผลของสงครามการค้าแต่เพียงลำพังเท่านั้น หากยังประกอบส่วนด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินหลายสกุล ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดภาระหนี้ต่างประเทศของชาติในตลาดเกิดใหม่อย่างหนักหน่วง
ข้อมูลจากไอเอ็มเอฟ ได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา พบว่ากระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่แล้ว มากถึง 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้ประเทศส่วนใหญ่ดำเนินการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ยากลำบากมากขึ้น เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มเปลี่ยนแปลง และมีปัจจัยเสี่ยงที่ปรากฏเค้าลางมาตั้งแต่ต้นปีกำลังเริ่มส่งผลกระทบต่อภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงและแท้จริงยิ่งขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ได้รับการประเมินว่า นอกจากจะมีแนวโน้มส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเองแล้ว ท่าทีดังกล่าวยังบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความมั่นใจของนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลสร้างความเสียหายให้เกิดเป็นความสูญเสียที่มีผลกระทบกว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก
ข้อเท็จจริงที่สอดรับกับข้อสังเกตดังกล่าว
Economic Crisisวิกฤตเศรษฐกิจ Read More