แม้ว่าสถานะของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor: EEC จะเป็นประหนึ่งโครงการธงนำในการผลักดันเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. ด้วยหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้หลั่งไหลเข้ามาสร้างงานสร้างเงินให้กับพื้นที่ 3 จังหวัด ทั้งฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ก่อนที่ผลของการพัฒนาจะแผ่ซ่านไปสู่กลไกและองคาพยพอื่นๆ ให้ได้ขับเคลื่อนอีกครั้ง
หากประเมินในมิติที่ว่านี้ โครงการ EEC ก็คงมีสถานะไม่ต่างจากโอสถทิพย์ ที่รัฐบาล คสช. หวังว่าจะช่วยเยียวยาและบำรุงกำลังให้เศรษฐกิจไทยได้กลับฟื้นขึ้นมาลุกยืนอีกครั้ง หลังจากสูญเสียโอกาสไปมากมายทั้งจากวิกฤตการเมือง และความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารงานของกลไกรัฐ
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ โครงการ EEC ที่รัฐไทยกำลังโหมประโคมในฐานะที่เป็นเครื่องมือสร้างความเติบโต (growth engine) ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้ ในด้านหนึ่งเป็นเพียงการต่อยอดและส่วนขยายของโครงการ eastern seaboard ที่เคยหนุนนำพัฒนาการทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเมื่อครั้งอดีต จนเดินทางมาสู่ขีดจำกัดของศักยภาพที่มีจนทำให้ต้องขยายพื้นที่โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีเป็นการย่นย่อระยะเวลา
อย่างไรก็ดี ความเป็นไปของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและการลงทุนใน EEC ได้ก่อให้เกิดความกังวลและความห่วงใยต่อทิศทางการพัฒนาในอนาคตของไทยไม่น้อยเลย โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติและกลุ่มทุนในประเทศ โดยละเลยการกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการขับเคลื่อนประเทศในระยะยาวบนฐานการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยเอง
รัฐบาลไทยพยายามผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ด้วยหวังว่าจะเป็นกลไกในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นกับภาคการผลิตของไทย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่รัฐไทยมุ่งหมายจะให้เกิดและเติบโตขึ้นในพื้นที่
Eastern Economic Corridor (EEC)คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Read More