ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ภารกิจหลักหลังเลือกตั้ง?
แม้ว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 จะประกาศใช้และทำให้กรณีว่าด้วยเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งที่เคยคลุมเครือมาก่อนหน้านี้ มีความชัดเจนมากขึ้น หากแต่ในอีกด้านหนึ่งของสังคมไทย กรณีว่าด้วยทิศทางและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย นับจากนี้จะเป็นอย่างไร ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ยังปราศจากความชัดเจนอยู่ไม่น้อย เพราะในขณะที่ธนาคารโลก ได้ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2562-2563 จะเติบโตในลักษณะชะลอตัว จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือนตุลาคม 2561 ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะเติบโตในอัตราร้อยละ 3.9 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ลงมาเหลือการเติบโตในระดับร้อยละ 3.8 และอาจจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2563 โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะดำเนินไปภายใต้การพึ่งพาการบริโภคจากภายในประเทศ เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของตลาดโลกที่ลดลง หากแต่กลไกภาครัฐกลับแสดงความพึงพอใจกับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกดังกล่าว โดยประเมินว่าการคาดการณ์ของธนาคารโลกสะท้อนความเชื่อมั่นและมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแรง ซึ่งสะท้อนจากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย : ความเหลื่อมล้ำ โอกาส และทุนมนุษย์ โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ถือว่าเติบโตได้ดีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และสิ่งสำคัญที่สุดคือการเติบโตนั้น มาจากอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุนของเอกชน ตลอดจนการลงทุนภาครัฐ ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากข้อมูลของธนาคารโลกอีกด้านหนึ่งอยู่ที่ การระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านซึ่งเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน จะชะลอตัวลงในปี พ.ศ.2562-2563 เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็งเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกสุทธิได้ ซึ่งนโยบายกีดกันการค้าและความผันผวนของตลาดเงินจะส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลาง อีกทั้งจะส่งผลลบต่อกลุ่มคนยากจนที่สุดและกลุ่มเปราะบางในช่วงเวลานี้ โดยผู้กําหนดนโยบายควรใช้ความระมัดระวัง เตรียมความพร้อม และสร้างความยืดหยุ่นไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ประเทศสามารถรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจได้ ภายใต้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงเช่นนี้
Read More