วันจันทร์, พฤศจิกายน 11, 2024
Home > PR News > สกสว.จับมือ สป.อว.ดูงานวิจัยนิวซีแลนด์ เล็งตั้งมหาวิทยาลัย-พัฒนาสหกรณ์โคนม

สกสว.จับมือ สป.อว.ดูงานวิจัยนิวซีแลนด์ เล็งตั้งมหาวิทยาลัย-พัฒนาสหกรณ์โคนม

สกสว.และสป.อว.นำทีมนักวิจัยไทยสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของนิวซีแลนด์ ด้านอัครราชทูตที่ปรึกษา ณ กรุงเวลลิงตัน แนะต่อยอดใช้ประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อก้าวข้ามปัญหาความเชื่อมั่นงานวิจัยไทยของเอกชน

รศ. ดร.คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ น.ส.วรากรณ์ รุ่งตระการ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) พร้อมคณะนักวิจัยที่ได้รับรางวัล 2019 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award และรางวัล 2019 TRF-OHEC-Scopus Research Award จากการประชุมนักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เดินทางไปร่วมกิจกรรมโครงการสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อสร้างเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพของนักวิจัย ณ ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยได้เรียนรู้การบริหารจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลก ตลอดจนศึกษาความก้าวหน้าในการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ มหาวิทยาลัยแมสเซย์ มหาวิทยาลัยแคนเทอเบอรี่ และ Callaghan Innovation

รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกสว. เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้มุ่งหวังให้นักวิจัยนำมาปรับใช้ในการพัฒนางานวิจัยของตนและของสถาบันได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านวิจัยในระดับที่สูงขึ้นและต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ

ในโอกาสนี้ผู้บริหาร สกสว. สป.อว. และคณะนักวิจัยได้เข้าหารือความร่วมมือด้านวิชาการกับนายพสุศิษฎ์ วงศ์สุรวัฒน์ อัครราชทูตที่ปรึกษา ณ กรุงเวลลิงตัน ซึ่งนายพสุศิษฎ์กล่าวว่า ขณะนี้มีหน่วยงานที่สนับสนุนด้านการวิจัยและมีงานวิจัยค่อนข้างมาก แต่จะทำอย่างไรให้มีการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ออกสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มต้นมองจากปลายทางก่อนว่าต้องการอะไร แล้วค่อยคิดกลับว่าต้องการงานวิจัยอะไรเพื่อตอบโจทย์นั้น ๆ หรือแม้แต่กรณีงานวิจัยพื้นฐานก็จำเป็นต้องการคาดการณ์เป้าหมายตั้งแต่เริ่มต้น และด้วยงบประมาณของประเทศที่จำกัดจึงควรบูรณาการการทำงานให้มากขึ้น ใช้อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ร่วมกัน ทั้งนักวิชาการ มหาวิทยาลัย และผู้ใช้ประโยชน์ควรมีส่วนร่วมในงานวิจัยตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการนำไปใช้ประโยชน์

“ปัญหาหลักอย่างหนึ่งของการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมไทย คือภาคเอกชนของไทยที่มีความพร้อมในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนายังมีค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งยังไม่เชื่อมั่นในงานวิจัยไทยเท่าที่ควร ส่วนใหญ่มักจะซื้อเทคโนโลยีใหม่ จึงเป็นรอยต่อและความท้าทายที่ต้องการการบริหารจัดการเพื่อให้ก้าวข้ามปัญหานี้” นายพสุศิษฎ์ระบุ

ด้านนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล สป.อว. กล่าวว่า นอกจากการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยกับมหาวิทยาลัยในประเทศนิวซีแลนด์ ยังมีการหารือเรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของนิวซีแลนด์ในประเทศไทยและการส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างนักวิจัยของสองประเทศ โดยที่ผ่านมาสถานทูตไทยได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ค่อนข้างมาก เบื้องต้นมีการหารือเรื่องการตั้งมหาวิทยาลัยบ้างแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดในความสามารถด้านเงินทุนและบุคลากร ซึ่งที่ผ่านมา สป.อว.เล็งเห็นถึงประโยชน์ดังกล่าวและได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แล้ว ขณะที่สถานทูตไทยก็ยินดีช่วยติดต่อในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังได้เชิญนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาต่อที่นิวซีแลนด์มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาและวิจัยในนิวซีแลนด์ด้วยซึ่งให้ความสำคัญกับการวิจัยมาก นักศึกษาจะต้องทำข้อเสนอโครงการวิจัยตั้งแต่ระดับปริญญาตรี รวมถึงมีโครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัย และทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เช่น เวียดนาม เป็นต้น

ทั้งนี้ จุดแข็งหนึ่งของนิวซีแลนด์คือการผลิตเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์นมคุณภาพสูงจึงได้หารือความเป็นไปได้ของไทยให้มีการพัฒนาวัวนม สายพันธุ์ทนร้อน รวมถึงการเพิ่มผลผลิตน้ำนมต่อตัวและมีคุณภาพเทียบเท่ากับนิวซีแลนด์ โดยที่ผ่านมาสถานทูตได้เล็งเห็นศักยภาพนี้และพยายามเชิญชวนให้สหกรณ์โคนมไทยมาสร้างความร่วมมือกับบริษัทในนิวซีแลนด์เพื่อพัฒนาพันธุกรรมวัวทนร้อน แต่ยังไม่มีผู้แสดงความสนใจอย่างชัดเจน สกสว.จึงมีความสนใจที่จะส่งเสริมและประสานงานต่อในส่วนนี้ ทั้งในเชิงเทคโนโลยีรวมถึงเชิงเศรษฐศาสตร์และการตลาดด้วย

สถานทูตไทย ณ กรุงเวลลิงตัน

 

รถน้ำหนักเบาจากวัสดุคอมโพสิต

 

เครื่องศึกษาการเลี้ยวเบนของอิเล็กตรอน ม.แคนเทอเบอรี่

ใส่ความเห็น