วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > On Globalization > พฤกษาแห่งท้องนภา

พฤกษาแห่งท้องนภา

 
วันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ถือเป็นวันพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบสองปี ที่ Tokyo Skytree ได้เปิดให้ผู้คนทั่วไปได้เยี่ยมชม และทำให้สัญลักษณ์ของเมืองภายใต้ชื่อ Tokyo Tower ที่ยืนยาวมานานกว่าครึ่งศตวรรษ และถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเกือบทุกรายต้องไม่พลาดเมื่อมีโอกาสไปเยือนกรุงโตเกียว กำลังจะเหลือเพียงรอยอดีตแห่งความรุ่งเรืองให้กล่าวขานเสียแล้ว
 
เพราะการมาถึงของหอคอยสูงแห่งใหม่ ที่แทงยอดเบียดแทรกขึ้นสู่ท้องฟ้า มาเป็นประหนึ่งสัญลักษณ์แห่งความเจริญก้าวหน้าทางวิศวกรรมและสืบทอดบทบาทเดิมของ Tokyo Tower ในนาม Tokyo Skytree แห่งนี้ได้ก้าวขึ้นมาแทนที่ความจำเริญครั้งเก่าอย่างสมบูรณ์
 
โครงการก่อสร้างหอคอยสูงแห่งใหม่ในกรุงโตเกียวนี้ ไม่ใช่โครงการที่เพิ่งเริ่มคิดดำเนินการนะคะ หากแต่เป็นโครงการที่ผ่านกระบวนการถกแถลงในวงกว้างมายาวนานหลายปี ทั้งในเรื่องของการออกแบบรูปลักษณ์ของตัวหอคอย การหาทำเลที่ตั้ง หรือแม้กระทั่งชื่อหอคอยสูงแห่งใหม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรดี ก่อนที่จะได้บทสรุปที่ชื่อ Tokyo Skytree หรือพฤกษาแห่งท้องนภานี่ล่ะคะ
 
ความคิดที่จะก่อสร้างหอคอยสูงแห่งใหม่ในกรุงโตเกียวนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้รากฐาน แต่เป็นผลมาจากการที่ญี่ปุ่นมีนโยบายจะปรับเปลี่ยนให้การแพร่ภาพสัญญาณวิทยุโทรทัศน์จากระบบ analog ไปสู่การส่งสัญญาณแบบ digital ในอนาคต
 
กรณีที่ว่านี้ ทำให้บทบาทของ Tokyo Tower แห่งเดิม ซึ่งเป็นที่ติดตั้งจานรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ และรายได้ที่ประมาณกันว่ามีจำนวนมหาศาลกว่า 2.7 พันล้านเยนต่อปี ได้รับผลกระเทือนทันที
 
เพราะด้วยความสูง 333 เมตรของ Tokyo Tower แห่งเดิม อาจทำให้หอคอยแห่งนี้ได้รับการบันทึกว่าเป็นประดิษฐกรรมที่ก้าวล้ำของยุค แต่นั่นก็เป็นอดีตเมื่อกว่า 50-60 ปีที่แล้ว ขณะที่ความสูงที่เคยเป็นสิ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับ Tokyo Tower ก็เสื่อมถอยลงเป็นลำดับ เมื่ออาคารสูงแห่งใหม่ๆ ในกรุงโตเกียวก็ผุดพรายขึ้นประหนึ่งดอกเห็ดในฤดูฝน
 
ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ อาคารสูงแห่งใหม่เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการส่งผ่านคลื่นสัญญาณภาพและเสียงไปโดยปริยาย ซึ่งกรณีดังกล่าวส่งผลให้นับตั้งแต่ปี 2003 สถานี NHK ผู้เช่า Tokyo Tower รายใหญ่ประกาศเข้าร่วมกับผู้ประกอบการวิทยุโทรทัศน์อีก 6 แห่ง เพื่อมองหาสถานที่ในการรับส่งสัญญาณภาพและเสียงแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง
 
ข้อเสนอในการส่งมอบพื้นที่ รวมถึงแผนการสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจากเขตและพื้นที่ต่างๆ รอบกรุงโตเกียว ถูกส่งเข้ามาเพื่อการพิจารณาอย่างต่อเนื่องรวมกว่า 15 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ Ikebukuro Ueno และ Adachi ที่พยายามเสนอตัวเข้ามา โดยมีโครงการ Taito World Tower ในเขต Taito และ Sumida Tower ในเขต Sumida ซึ่งเป็นเขตที่อยู่ติดกับริมฝั่งแม่น้ำ Sumida เป็น 2 ตัวเลือกหลัก ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก
 
ความน่าสนใจของทั้ง Taito และ Sumida อยู่ที่การเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะย่าน Asakusa ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัด Senso-ji ที่มีชื่อเสียงจากโคมไฟขนาดใหญ่อยู่ที่ประตูทางเข้า Kaminarimon เป็นองค์ประกอบรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะขยายตัวในอนาคตได้อย่างลงตัว
 
ในที่สุดโครงการหอคอยสูงแห่งใหม่ในพื้นที่เขต Sumida ตามเค้าโครงซึ่งมีความสูงรวม 634 เมตร ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ก่อสร้างหอคอยสูงแห่งใหม่แทน Tokyo Tower พร้อมกับความพยายามที่จะเรียกขานหอคอยสูงแห่งใหม่นี้ในฐานะ New Tokyo Tower ก่อนที่จะมาสรุปจบลงตรงที่ชื่อ Tokyo Skytree บนฝั่งแม่น้ำ Sumida ซึ่งเริ่มลงมือก่อสร้างอย่างจริงจังเมื่อกลางปี 2008 เป็นต้นมา
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของการเลือกพื้นที่ในเขต Sumida ใกล้กับสถานีรถไฟ Oshiage เป็นสถานที่ก่อสร้างหอคอยแห่งกรุงโตเกียวแห่งใหม่ ก็คือ Tobu Railway ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟเอกชนที่มีโครงข่ายเส้นทางรถไฟยาวเป็นอันดับสองของประเทศรองจาก Kinki Nippon Railway (ไม่นับรวมกรณีของ Japan Railway: JR) และครอบครองสัมปทานในเส้นทางสายท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะเส้นทาง Asukusa-Nikko พยายามที่จะผลักดันให้มีการสร้างหอคอยแห่งกรุงโตเกียวแห่งใหม่ขึ้นในพื้นที่ที่ Tobu ครอบครองอยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเสนอให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่ประมาณว่าจะสูงถึง 5 หมื่นล้านเยนอีกด้วย
 
ความคาดหวังซึ่งกลายเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของ Tobu Railway อยู่ที่ความเชื่อที่ว่ากรณีดังกล่าวจะช่วยให้มีผู้โดยสารเดินทางสัญจรในเส้นทางรถไฟของบริษัทให้กลับมามีความคึกคักตื่นตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันจะช่วยให้มูลค่าของที่ดินโดยรอบที่ Tobu ถือครองอยู่ให้กลับมามีความน่าสนใจอีกครั้ง ไม่นับรวมการประเมินถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะมีมากถึงปีละ 3 ล้านคน ที่กลายเป็นปัจจัยบ่งชี้ที่สำคัญสำหรับการอยู่รอดของโครงการแห่งนี้
 
Tokyo Skytree ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2012และจะเปิดให้สาธารณชนได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 พฤษภาคม2012 ซึ่งด้วยระดับความสูง 634 เมตรดังกล่าว นอกจากจะเป็นสิ่งปลูกสร้างโดยฝีมือมนุษย์ที่สูงที่สุดของญี่ปุ่นแล้ว หอคอยสูงแห่งนี้จะกลายเป็น free-standing tower ที่สูงที่สุดของโลกแทนที่ CN Tower แห่ง Toronto ที่มีความสูง 553 เมตรไปโดยปริยาย
 
พฤกษาแห่งท้องนภา จะผลิดอกออกผล เป็นที่น่าชื่นชมอย่างยาวนานออกไปกี่ปีนับจากนี้ หรือจะถูกสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ขึ้นมาเบียดบังความโดดเด่นหรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไปนะคะ