วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > กว่าจะมาเป็น New Landmark

กว่าจะมาเป็น New Landmark

 
ทศ จิราธิวัฒน์ ในสมัยที่ยังเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกลุ่ม CRC เคยบอกไว้ว่า “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี” จะเป็นโครงการที่มีความสำคัญกับกลุ่มเซ็นทรัลอย่างมาก เพราะจะมาต่อยอดภาพลักษณ์ความเป็นห้างไฮเอนด์ให้กับกลุ่มต่อจาก “เซ็นทรัล ชิดลม” ซึ่งวางตำแหน่งเป็น “เรือธง (Flagship)” ห้างหรู ในการใช้เจาะกลุ่มลูกค้าชนชั้น Elite และลูกค้าเกรด A ขึ้นไป
 
นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลในการซื้อที่ดิน 9 ไร่ของสถานทูตอังกฤษ ติดกับเซ็นทรัล ชิดลม เมื่อปี 2549 อันเป็นที่มาของชื่อโครงการ ซึ่งสามารถสื่อถึงความเป็นนานาชาติได้ด้วย โดยราคาที่ดินที่กลุ่มเซ็นทรัลประมูลได้สร้าง talk-of-the-town ในฐานะแชมป์ราคาที่ดินที่แพงที่สุดของเมืองไทยในขณะนั้น ณ สนนราคาราว 9.5 แสนบาทต่อตารางวา
 
โครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี มีจุดเริ่มต้นมาจากการชนะการประมูลที่ดินบริเวณด้านหน้าของสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยของกลุ่มเซ็นทรัล โดยเบื้องต้น กลุ่มเซ็นทรัลมอบหมายให้เซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ 
 
แต่เนื่องจากในขณะนั้นเซ็นทรัลพัฒนาเองมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการหลายโครงการ กลุ่มเซ็นทรัลจึงนำโครงการมาบริหารและพัฒนาด้วยตนเอง โดยจัดตั้ง บริษัท เซ็นทรัล เอ็มบาสซี พลาซา จำกัด สำหรับบริหารศูนย์การค้า และ บริษัท เซ็นทรัล เอ็มบาสซี โฮเต็ล จำกัด สำหรับบริหารโรงแรม โดยความร่วมมือกับกลุ่มโรงแรมไฮแอท ส่วนเซ็นทรัลพัฒนาซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารศูนย์การค้าจะเป็นผู้ช่วยดูแลโครงการ
 
ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ยังได้รับการจัดอันดับจากสื่อมวลชนหลายแขนงว่าเป็นที่ดินที่มีราคาสูงที่สุดในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยเป็นการประมูลราคาที่ดินที่เป็นส่วนหนึ่งของสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมเป็นสวนของพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร)
 
โดยก่อนหน้านี้ทางสถานทูตเองก็ขายที่ดินออกไปหลายส่วนในราคาสูงเช่นกัน อย่างเช่นที่ตั้งของโรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศ ปาร์ค กรุงเทพ โดยสถานทูตชี้แจงว่าต้องการนำไปปรับปรุงอาคารสถานทูตเก่าที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม
 
เดิมเซ็นทรัล เอ็มบาสซีมีแผนเปิดศูนย์การค้าอย่างเป็นทางการในปลายปี พ.ศ. 2556 แต่เนื่องจากความล่าช้าในการก่อสร้าง ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดศูนย์การค้ามาเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แต่หลังจากที่กลุ่ม กปปส. ได้เริ่มปักหลักชุมนุมในพื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานครชั้นใน ทำให้การก่อสร้างโครงการต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 
 
และทำให้เซ็นทรัล เอ็มบาสซีต้องเลื่อนเปิดศูนย์การค้าอีกครั้ง เป็นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 แต่จากสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลต้องเลื่อนการเปิดศูนย์การค้าอีกครั้งนับเป็นครั้งที่ 4 คือภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 
 
ก่อนที่ในที่สุด กลุ่มเซ็นทรัล จะประกาศวันเปิดตัวศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซีอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยในวันดังกล่าวจะมีร้านค้าบางส่วนเปิดทำการ ปัจจุบันส่วนของโรงแรมปาร์คไฮแอท กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2558
 
“นับตั้งแต่ได้ที่ดินผืนนี้มา “ผู้ใหญ่” ของกลุ่มเซ็นทรัลก็มีวิสัยทัศน์จะสร้างโครงการที่เป็น ICONIC และเป็นระดับ World Class ที่จะทำให้เราทุกคนสามารถภาคภูมิใจ ซึ่งวันนี้ อาคารนี้ก็ได้เกิดขึ้นมาแล้ว โดยเฟสแรกซึ่งรวมตัวศูนย์การค้า เราถือว่ามันเป็นความสำเร็จที่เราสามารถพลิกโฉม Luxury Retail ในเมืองไทยได้” ชาติ จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารโครงการ เซ็นทรัล เอ็มบาสซีระบุ
 
เฟสแรกของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ประกอบไปด้วยพื้นที่เช่าสำหรับร้านค้าเกือบ 1 แสน ตร.ม. ประกอบด้วยร้านค้าที่เป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกกว่า 200 ร้านค้า โดยแบ่งเป็นแบรนด์แฟชั่น 70% และร้านอาหาร 30% โดยมีร้านที่เป็นแบรนด์ใหม่ไม่เคยเข้ามาในเมืองไทย 20% และเป็นแบรนด์ที่เคยมาเมืองไทยแต่ทำร้านภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่อีก 15% 
 
สำหรับชาติ นี่นับเป็นเวลากว่า 7 ปีแห่งการรอคอย ตั้งแต่ที่เขาได้เห็นภาพโครงร่างบนแผ่นกระดาษ จนมาถึงเร็ววันนี้ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เฟสแรกจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมอวดโฉมต่อสายตาชาวไทยและชาวโลกใน โดยเขามั่นใจว่า นี่จะเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของไลฟ์สไตล์แห่งการชอปปิ้งระดับ “หรู” กว่าปกติให้กับลูกค้า
 
“โครงการนี้จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเซ็นทรัล ไม่ใช่แค่ “Just Another Shopping mall” หรือ “Just Another Central” แต่โจทย์แรกของเราคือการสร้างสถาปัตยกรรมระดับเวิลด์คลาส และทำในสิ่งที่เซ็นทรัลไม่เคยทำมาก่อน และยังไม่เคยมีที่ไหนทำ ตั้งแต่เห็นบนกระดาษ เราทำมันอย่างเต็มที่ เราอยากให้คนทั่วโลกรู้สึกว่า ตอนนี้ ในเมืองไทยมี Luxury Segment เกิดขึ้นแล้ว ที่นี่จะเติมเต็มและตอบสนองเรื่องไลฟ์สไตล์หรูเลิศได้จริงๆ”
 
แม้ว่าดูเหมือนบรรยากาศบ้านเมืองในห้วงขณะปัจจุบันจะดูไม่เป็นใจนัก แต่สำหรับ “ชาติ” ดูเหมือนเขาจะมั่นใจในความพร้อมอย่างมากสำหรับการเปิดตัวโครงการนี้ให้เป็น Talk-of-the-Town ไปทั่วโลก เพราะนอกจากจะทุ่มงบ 100 ล้านบาทเฉพาะวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายใต้ theme และ concept “I’m Central Embassy” และงบอีก 200 ล้านบาท สำหรับการจัด “ซิกเนเจอร์ อีเวนท์” ในช่วง 7-8 เดือนที่เหลือของปีนี้
 
ความท้าทายที่อยู่เบื้องหน้าของ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี นับจากนี้จึงเป็นเรื่องที่มากกว่ามิติของขีดความสามารถของ “ชาติ” และคณะผู้บริหารของกลุ่มเซ็นทรัล ในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางธุรกิจ หากยังอาจหมายถึงความสามารถในการจัดการกับปัจจัยแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น
 
หวังเพียงแต่ว่า ประวัติศาสตร์บางหน้าของเซ็นทรัลจะไม่เกิดขึ้นซ้ำในห้วงเวลาที่เร็วเกินไปเท่านั้น เพราะ “History repeats itself, first as tragedy, second as farce!!”
 
Relate Story