วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > On Globalization > โอกินาวา

โอกินาวา

 
แม้ว่าญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่มีรากทางวัฒนธรรมเข้มแข็งและเด่นชัด แต่คงไม่มีดินแดนของญี่ปุ่นส่วนใดที่จะให้ความรู้สึกแปลกแตกต่างออกไปจากความเป็นญี่ปุ่นได้มากเท่ากับหมู่เกาะทางตอนใต้ ที่ชื่อ โอกินาวา เป็นแน่
 
เพราะด้วยระยะทางที่ไกลโพ้นออกไปจากผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ของญี่ปุ่น และประวัติศาสตร์ความเป็นมาในอดีตของหมู่เกาะกว่า 100 เกาะที่ทอดตัวยาวรวมระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตรแห่งนี้ และทำให้การไปเยือนโอกินาวาในความรู้สึกของคนญี่ปุ่นกลายประหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศเลยทีเดียว
 
เรียกได้ว่าเป็นต่างประเทศเสียยิ่งกว่าการเดินทางไปเที่ยวเกาหลี หรือเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยซ้ำ
 
แม้ความเป็นมาของโอกินาวาอาจสืบย้อนกลับไปได้ไกลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 แต่โอกินาวาเพิ่งถูกผนวกรวมเข้ามามีสถานะที่เป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นอย่างจริงจังก็เมื่อสมัยเมจิ (1868-1912) โดยได้รับการสถาปนาให้เป็นจังหวัดโอกินาวา เมื่อปี 1879 หรือเมื่อร้อยกว่าปีมานี้เอง หลังจากดินแดนแห่งนี้ถูกช่วงชิงสิทธิในการถือครองทั้งจากจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น มาเนิ่นนาน
 
ความสำคัญของโอกินาวาปรากฏให้เห็นเด่นชัดในช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อหมู่เกาะน้อยใหญ่ของโอกินาวากลายเป็นสมรภูมิการรบพุ่งระหว่างกองกำลังของสหรัฐอเมริกาและกองทัพของจักรพรรดิญี่ปุ่น ที่ดุเดือดและเข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่งของประวัติศาสตร์สงคราม
 
ความปราชัยของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้โอกินาวาต้องตกอยู่ภายใต้การครอบครองของสหรัฐอเมริกานานกว่า 27 ปี และทำให้โอกินาวากลายเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐอเมริกา ในการก่อสงครามทั้งในคาบสมุทรเกาหลี (1950-1953) หรือแม้กระทั่งในสงครามเวียดนาม (1965-1972) ด้วย
 
และแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมอบคืนอำนาจอธิปไตยของโอกินาวาให้กลับคืนสู่ญี่ปุ่นในปี 1972 แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังคงฐานทัพอยู่ในโอกินาวา 
 
แต่ประวัติการณ์ของโอกินาวา ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องของสงครามนะคะ
 
เพราะด้วยเหตุของทำเลที่ตั้งทำให้โอกินาวามีสถานะเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมหลากหลายไล่เรียงตั้งแต่พ่อค้าจากแผ่นดินใหญ่ของจีนไปจนจรดผู้คนจากหมู่เกาะทะเลใต้ รวมถึงชาวมาเลย์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และแน่นอนว่าต้องมีไทยด้วย
 
มรดกทางวัฒนธรรมที่โอกินาวาได้รับจากการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ไม่ได้ทำให้โอกินาวาสูญเสียเอกลักษณ์ดั้งเดิมแต่อย่างใด หากแต่กลายเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเสริมต่อเติมให้เกิดสิ่งใหม่ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมแบบโอกินาวาขึ้นมาเองอีกต่างหาก
 
ความใกล้ชิดระหว่างโอกินาวากับจีนส่งผลให้วัฒนธรรมของโอกินาวามีกลิ่นอายความเป็นจีนแทรกอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดนตรี เครื่องเคลือบ หรือแม้แต่คาราเต้ (Karate) ที่แปลว่ามือเปล่า ซึ่งเชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลจากการต่อสู้แบบกังฟูของจีน ก่อนที่จะได้รับการดัดแปลงและพัฒนาขึ้นในห้วงเวลาที่โอกินาวามีกฎหมายห้ามพกพาอาวุธทุกชนิดในช่วงปี 1429 โดยทุกวันนี้คาราเต้กลายเป็นวัฒนธรรมของโอกินาวาที่ถูกส่งออกไปสร้างชื่อเสียงอยู่ทั่วทุกมุมโลก
 
หรือในกรณีของเหล้าอาวาโมริ (Awamori) ที่ผลิตด้วยกรรมวิธีที่เชื่อว่าชาวโอกินาวาได้รับการถ่ายทอดเทคนิคและภูมิปัญญาจากการต้มเหล้าในประเทศไทย นับตั้งแต่มีการติดต่อค้าขายกันตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา และริวกิว เมื่อกว่า 500 ปีที่แล้ว โดยการผลิตเหล้าอาวาโมรินี้ ผลิตโดยใช้ข้าวเมล็ดยาวอินดิคา (Indica) ที่นำเข้าจากไทย นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งแตกต่างจากการผลิตเหล้าสาเกที่นิยมใช้ข้าวเมล็ดสั้น แจปอนนิคา (Japonica) ที่นิยมใช้ผลิตเหล้าในแหล่งอื่นๆ ของญี่ปุ่น จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะและเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างชื่อให้กับโอกินาวาในปัจจุบัน
 
คิดแล้วก็น่าเสียดายนะคะที่ประเทศไทยของเราเอง ซึ่งเป็นประหนึ่งต้นทางของเหล้าอาวาโมรินี้ไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในด้านนี้ ไม่อย่างนั้นเราคงมีไทยอาวาโมริออกสู่ตลาดโลกไปนานแล้ว
 
จุดเด่นของชาวโอกินาวาเมื่อเทียบกับชาวญี่ปุ่นอื่นๆ โดยเฉพาะในเมืองหลวง กรุงโตเกียว เห็นจะเป็นเรื่องสุขภาพนี่ล่ะค่ะ เพราะแม้ชาวโอกินาวาจะได้ชื่อว่าดื่มจัด แต่ชาวโอกินาวากลับมีชีวิตเฉลี่ยยืนยาวกว่าคนญี่ปุ่นในถิ่นอื่น โดยมีอัตราผู้มีอายุเกิน 100 ปีสูงถึง 34.7 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก
 
มูลเหตุสำคัญที่จะช่วยอธิบายความมีอายุยืนของชาวโอกินาวา ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่เร่งรีบหากแต่ชวนให้รื่นรมย์ของโอกินาวา ทำให้ชาวโอกินาวาไม่เคร่งเครียดเหมือนชาวญี่ปุ่นส่วนอื่น ประกอบกับอาหารการกินของชาวโอกินาวาที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งปัจจุบัน Okinawa Diet หรืออาหารแบบโอกินาวาถูกนำไปขยายให้กลายเป็นโปรแกรมลดน้ำหนักและดูแลทรวดทรงให้ดูดีอีกด้วยนะคะ