วันอังคาร, ตุลาคม 15, 2024
Home > On Globalization > Be Prepared! จงเตรียมพร้อม!

Be Prepared! จงเตรียมพร้อม!

 
ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจผิด คิดว่าผู้เขียนกำลังจะชวนท่านทั้งหลายไปเคลื่อนไหวอะไรนะคะ
 
เพียงแต่บรรยากาศหลังจากชื่นมื่นระรื่นระเริงนับตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา เชื่อว่าหลายท่านคงต้องใช้เวลาในการปรับตัว กว่าจะนำพาความรู้สึกต่างๆ ในช่วงเทศกาลวันหยุดให้กลับมาเป็นปกติ ก่อนจะเดินหน้าสู่การทำงานอีกครั้ง
 
หรืออาจมีบางท่านเตรียมตัววางแผนที่จะไปพักผ่อนยาวๆ อีกครั้ง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นานนับจากนี้แล้วก็ได้
 
ขณะที่ผู้ที่มีเยาวชนในการดูแล คงต้องเตรียมความพร้อมให้บุตรหลานสำหรับการเริ่มต้นภาคเรียนใหม่ที่กำลังเคลื่อนใกล้เข้ามา และหลายท่านอาจเป็นกังวลอยู่กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบุตรหลาน โดยเฉพาะที่กำลังขยับชั้นเรียนจากประถมเข้าสู่มัธยม หรือจากมัธยมไปสู่ขั้นอุดมศึกษา
 
สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการรณรงค์ส่งเสริมการขายของในห้างสรรพสินค้าน้อยใหญ่ของเมืองไทยช่วงถัดจากนี้ มักจะอยู่ในธีมว่าด้วย สนุกหรรษารับลมร้อน มหาสงกรานต์ ซึ่งเป็นกิจกรรมภาคบันเทิง ก่อนที่จะย้อนกลับมาเข้าสู่ธีมต้อนรับการเปิดภาคเรียน หรือ back to school กันอย่างเอิกเกริก
 
แต่เด็กญี่ปุ่นซึ่งจะกลับเข้าโรงเรียนในช่วงต้นเดือนเมษายนที่กำลังจะมาถึงนี้ มีบรรยากาศการเตรียมตัวก่อนการเปิดภาคเรียนที่ดูจะแตกต่างกับความเป็นไปในบ้านเรา
 
เพราะสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมแห่งการเตรียมตัว และมักจะเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้ากันเป็นปี หรือหากจะเป็นการส่งเสริมการขายทั่วไป ก็มักจะมีการเตรียมตัวกันเป็นฤดูกาล หรืออย่างน้อยก็ 2 เดือนขึ้นไป
 
ตัวอย่างง่ายๆ หนึ่ง ก็คือตั้งแต่ผ่านพ้นการเฉลิมฉลองปีใหม่ ห้างสรรพสินค้าและร้านรวงต่างๆ ก็จะเริ่มประดับและวางสินค้าอันเกี่ยวเนื่องกับวันวาเลนไทน์กันแล้ว
 
และเมื่อถึงวันวาเลนไทน์จริงๆ สินค้าที่วางขายกลับเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอน เครื่องแบบและกระเป๋านักเรียนที่จะต้องใช้ในเดือนเมษายน
 
ปรากฏการณ์เช่นว่านี้ หากหนุ่มสาวคนไหนที่อยู่ในญี่ปุ่น คิดจะหวังน้ำบ่อหน้าในช่วงใกล้ๆ ประมาณว่ารอให้นัดได้ก่อนแล้วค่อยเลือกซื้อของขวัญช่วงใกล้ๆ วัน อาจต้องรอไปถึงปีหน้าเลยก็ได้นะคะ
 
เพราะเมื่อถึงวันแห่งความรักจริงๆ สินค้าก็อาจจะพอมีอยู่บ้าง แต่ก็จะน้อย และมักจะกลายเป็นสินค้าเกรดสอง เกรดสาม ซึ่งสะท้อนมาตรฐานของผู้ซื้อไปในตัว
 
เรื่องชุดนักเรียน และอุปกรณ์การศึกษาของญี่ปุ่นก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน คือ ถ้าเตรียมตัวมาไม่ดี และหวังจะไปซื้อหาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเปิดเรียนเหมือนที่บ้านเราคุ้นเคย อาจพบว่า จะเลือกซื้อหาสินค้าได้ยากขึ้น หรือสินค้าในคุณภาพที่ต้องการไม่มีวางขายเช่นกับในช่วงก่อนหน้านี้สักเดือนสองเดือน
 
ท่านผู้อ่านมีคำถามผุดพรายขึ้นเหมือนผู้เขียนบ้างหรือเปล่า ว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงต้องเตรียมตัวมากขนาดนี้
 
ความเป็นจริงที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ความแตกต่างทางฤดูกาลใน 4 ฤดูต่อปี และการที่คนญี่ปุ่นต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติโดยเฉพาะจากธรรมชาติอยู่เป็นเนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือแม้กระทั่งพายุหิมะ และไต้ฝุ่นน้อยใหญ่ที่มีอยู่ตลอดเวลา
 
การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนฤดูกาลต่างๆ และการเตรียมตัวเพื่อรองรับกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ จึงถูกปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กเล็กๆ ไปถึงผู้ใหญ่มากอาวุโสในสังคม ไล่เรียงไปทุกระดับชั้น
 
โดยเฉพาะการให้ข้อมูลเตือนอุบัติภัย และการซ้อมอพยพหนีภัย เป็นกิจกรรมสำคัญของสังคมญี่ปุ่น ที่ถือปฏิบัติตั้งแต่ระดับโรงเรียนอนุบาล ไปจนถึงหน่วยงานน้อยใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะที่การเตรียมอุปกรณ์ยังชีพเป็นเรื่องราวปกติที่แทบทุกครัวเรือนของญี่ปุ่นจะต้องมี
 
แม้ญี่ปุ่นจะประสบเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมือง Kobe เมื่อปี 1995 หรือที่เรียกกันว่า Great Hanshin Earthquake ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับญี่ปุ่นรวมมูลค่ามากถึงกว่า 10 ล้านล้านเยน และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 6,400 คน หรือเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคม 2011 ที่ได้รับการเรียกขานว่า Great Tohoku Earthquake and Tsunami ซึ่งส่งผลกระทบและความเสียหายขนาดมหึมา
 
แต่หากสังคมญี่ปุ่นไม่ได้เตรียมตัววางโครงสร้างระบบ และการป้องกันอุบัติภัยไว้อย่างที่เป็นอยู่ มูลค่าความเสียหาย และชีวิตผู้คนอาจสูญเสียมากกว่านั้นอีกหลายเท่าก็เป็นได้
 
ฟังดูก็ให้เกิดความรู้สึกว่าที่ผ่านมาคนไทยช่างโชคดีที่ไม่ต้องประสบเหตุเลวร้ายรุนแรงมากนัก แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งก็เลยทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมมาตรการที่เกิดขึ้นหลังเหตุร้ายต่างๆ จึงมีลักษณะเป็นวัวหายแล้วจึงล้อมคอก และยังเป็นไฟไหม้ฟางไปอีกเสียทุกที
 
ไม่นับรวมถึงผักชี ที่ยังครองความนิยมในหมู่คนไทยมาอย่างยาวนานอีกด้วยนะคะ
 
แต่โลกถัดจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากฝีมือของธรรมชาติ หรือผลกระทบต่างๆ จากฝีมือมนุษย์ด้วยกันเอง อาจไม่มีช่องว่างให้เราโชคดีเหมือนที่ผ่านมามากนักก็ได้แล้วกระมัง
 
วิถีปฏิบัติแบบญี่ปุ่นในเรื่องการจับจ่ายซื้อสินค้าเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนผ่านฤดูกาล และเหตุการณ์สำคัญของแต่ละช่วงชีวิตอาจเป็นเพียงภาพสะท้อนการเตรียมตัวและความพร้อมแบบญี่ปุ่น
 
ปัญหาอยู่ที่ว่าสำหรับผู้เขียนและท่านผู้อ่านในสังคมไทย เราจะหาจุดเริ่มต้นในการเตรียมความพร้อมจากที่ไหนและอย่างไรกันดี