วันอังคาร, ตุลาคม 15, 2024
Home > On Globalization > Honor Killing พ่อฆ่าลูกสาวในประเทศเยเมน

Honor Killing พ่อฆ่าลูกสาวในประเทศเยเมน

 
 
เยเมน (Yemen) หรือสาธารณรัฐเยเมน ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง สาธารณรัฐเยเมนมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประเทศ ประเทศนี้มีประชากรอยู่ประมาณ 25 ล้านคน ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นชาวอาหรับ และมีภาษาอารบิกเป็นภาษาราชการ มีศาสนาประจำชาติคือ ศาสนาอิสลามซึ่งมีทั้งนิกายซุหนี่ (Sunni) และชีอะห์ (Shia)
 
อย่างที่ทราบกันว่า ถ้าหากประเทศไหนมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ประเทศนั้นจะประกาศบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนาและจารีตประเพณี (Custom Law) ที่ต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามที่ศาสนาอิสลามกำหนดด้วยเช่นกัน อย่างเช่นเวลาที่ผู้หญิงจะออกจากบ้านต้องแต่งตัวให้ปกปิดมิดชิดทุกส่วนของร่างกาย และต้องมีผ้าคลุมผมด้วยเช่นกัน 
 
ประเทศเยเมนก็เป็นเหมือนประเทศอื่นๆ ที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ คือมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและจารีตประเพณีที่เคร่งครัด แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ผู้คนชาวเยเมนถือฎิบัติกันมาอย่างยาวนานมากกว่าประเทศอื่นๆ คือการให้ลูกสาวแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก ในขณะที่หลายๆ ประเทศเริ่มมีนโยบายต่างๆ ออกมาเพราะไม่ต้องการสนับสนุนเรื่องการแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก แต่สำหรับประเทศเยเมนนั้นผู้คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก แต่ที่แปลกไปจากประเทศอื่นๆ คือ ไม่ได้บังคับให้เด็กแต่งงานกับผู้ชายที่มีอายุมากกว่าเหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่บังคับให้เด็กผู้หญิงและผู้ชายที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันแต่งงานกันเอง
 
ตามเมืองต่างๆ ในเขตชนบทของประเทศเยเมนยังมีกฎที่ปฎิบัติกันมายาวนานและยังใช้อยู่ในทุกวันนี้คือ การที่พ่อบังคับให้ลูกสาวแต่งงานตั้งแต่ยังเป็นเด็กมากๆ เช่นต้องแต่งงานตั้งแต่อายุได้ 8 ปี องค์กร Human Right Watch ได้ออกมากล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในปี 2542 ประเทศเยเมนได้มีการยกเลิกการกำหนดอายุขั้นต่ำของการแต่งงานที่ว่า เด็กจะต้องมีอายุอย่างน้อย 15 ปี จึงจะสามารถแต่งงานได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่รวมถึงพรรคอนุรักษนิยมต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า เด็กควรจะแต่งงานได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี จึงมีการเปลี่ยนกฎหมายใหม่ว่า เด็กจะต้องมีอายุอย่างน้อย 9 ปี จึงจะสามารถแต่งงานได้
 
นอกจากนี้ผู้คนชาวเยเมนยังปฏิบัติตัวตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด โดยให้เด็กส่วนใหญ่แต่งงานตั้งแต่พวกเธออายุได้ 9 ปี ซึ่งในบางครั้งเด็กๆ เหล่านี้อาจจะยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามหลักของศาสนาอิสลามก่อนที่จะมีงานแต่งงานเกิดขึ้น ซึ่งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเป็นจำนวนมากในประเทศเยเมน
 
อย่างเช่นเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 15 ปี ได้ถูกพ่อของเธอเผาเธอทั้งเป็น เพราะเธอได้ทำผิดกฎข้อบังคับ ด้วยการพูดคุยทางโทรศัพท์กับคู่หมั้นของเธอก่อนที่จะแต่งงานกัน แล้วพ่อของเธอจับได้ว่าเธอประพฤติตัวไม่เหมาะสมตามหลักศาสนาอิสลาม จึงลงโทษเธอด้วยการเผาเธอทั้งเป็น
 
จริงอยู่ ตามกฎหมายของศาสนาอิสลามผู้หญิงและผู้ชายไม่ควรจะพบปะหรือพูดคุยกันก่อนที่จะแต่งงานกัน แต่ผู้เป็นพ่อก็ไม่ควรลงโทษเธอหนักขนาดที่ต้องเผาเธอทั้งเป็น ถึงแม้ว่าคนเป็นพ่อจะมีสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายที่จะลงโทษลูกสาวอย่างไรก็ได้
 
ในประเทศเยเมนนั้น การที่พ่อลงโทษลูกสาวที่ทำผิดด้วยการตีหรือทำร้ายร่างกายนั้นไม่ถือว่าเป็นการผิดกฎหมายแต่อย่างไร เพราะถือว่าเป็นสิทธิ์ของคนเป็นพ่อที่จะลงโทษลูกสาวอย่างไรก็ได้เมื่อพวกเธอทำผิด 
 
แต่การลงโทษเมื่อลูกสาวทำผิดด้วยการเผาเธอทั้งเป็นนั้นถือว่าผิดกฎหมาย เพราะเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุที่จำเป็น และเหตุการณ์ที่พ่อลงโทษลูกสาวหรือภรรยาจนถึงแก่ชีวิตนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก หากแต่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนเหมือนกับว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมของประเทศเยเมนก็ว่าได้
 
ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Honor killing ในการอธิบายสถานการณ์ที่คนในบ้านไม่ว่าจะเป็นลูกชาย ลูกสาวหรือภรรยาถูกฆ่าตายเพราะทำให้ครอบครัวเกิดความอับอายในสังคมจากการประพฤติตัวไม่เหมาะสมตามหลักของศาสนาอิสลาม
 
องค์การยูนิเซฟ หรือองค์การพิทักษ์สิทธิเด็ก (United Nations Children’s Fund หรือที่เรียกย่อๆว่า UNICEF) ได้เผยแพร่เอกสารเมื่อปี 2542ว่า ในปี 2540 มีการเกิด honor killing ประมาณ 400 ครั้งจากที่มีการรายงานเข้ามา นี่ยังไม่นับรวมการเกิด honor killing ที่ไม่มีการรายงานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรู้ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว เวลาที่มีการเกิด honor killing ขึ้นมานั้นมักจะไม่มีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและไม่มีการสืบสวนสอบสวนใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้เหตุการณ์หลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้นไม่สามารถนำตัวผู้ที่ทำผิดมารับโทษได้
 
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า การเกิด honor killing นั้น ยังเกิดขึ้นมากมายหลายครั้งในประเทศเยเมนและอาจจะเกิดที่อื่นๆ ในโลกด้วยก็เป็นได้ แต่ยังโชคดีที่ครั้งนี้มีการแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดี จึงทำให้ตำรวจสามารถจับกุมพ่อของเด็กผู้หญิงคนนี้ที่มีอายุ 35 ปีได้ และยังโชคดีที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการเผาลูกสาวทั้งเป็นนี้ตามสื่อต่างๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทำให้ผู้คนจากทั่วโลกจับตารอคอยว่าผู้ที่ทำผิดนี้จะโดนลงโทษสถานใด เพราะโดยปกติแล้วเวลาที่เกิดเหตุการณ์ honor killing ขึ้นในประเทศเยเมนนั้น มักจะไม่มีการนำเสนอในสื่อต่างๆ ภายในประเทศเยเมน ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงการนำเสนอข่าวนี้ในสื่อต่างประเทศเลย เพราะสื่อต่างประเทศแทบจะไม่ได้รับข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ honor killing ในประเทศเยเมนเลย
 
เหตุการณ์ honor killing มักจะเป็นหัวข้อที่ผู้นำรัฐบาลหรือผู้นำประเทศในประเทศที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติมักจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงหรือหาทางแก้ไข จนกระทั่งกลุ่มองค์การสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้รัฐบาลในแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับเรื่อง honor killing และหาทางแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะไม่อย่างนั้นแล้วก็จะมีการเกิด honor killing ในโลกของอิสลามอย่างต่อเนื่องและไม่มีวันสิ้นสุดลงได้
 
นักสิทธิมนุษยชนเด็ก Ahmed Al-Qureshi ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง honor killing ว่า ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะในประเทศเยเมนที่เหตุการณ์ honor killing นั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ไม่มีการแจ้งตำรวจ และผู้ที่ทำความผิดก็ไม่เคยได้รับโทษ Al-Qureshi จึงอยากให้รัฐบาลออกมาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
 
แต่หลายๆ ประเทศก็ยังไม่ได้ออกมาหาทางแก้ไขปัญหาเรื่อง honor killing อย่างจริงจัง ดังนั้น ปัญหานี้จึงยังมีการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศมุสลิมต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศเยเมน
 
เรื่อง honor killing  เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ จึงมีการนำเรื่องนี้ไปทำละคร ชื่อ Banaz A Love Story ซึ่งได้รับรางวัล Emmy Award ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ของคนทำงานด้านโทรทัศน์ เป็นรางวัลที่มีคุณค่าเทียบเท่ากับ Grammy Award ซึ่งเป็นรางวัลของคนทำงานด้านดนตรี 
 
Banaz A Love Story เป็นเรื่องเกี่ยวกับ honor killing ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นที่นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ เรื่องมีอยู่ว่า Banaz เด็กผู้หญิงวัย 17 ปีถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานกับผู้ชายชาวอิรักที่เพิ่งจะย้ายมาอยู่ประเทศอังกฤษ หลังจากที่แต่งงานกัน Banaz ถูกสามีของเธอทำร้ายร่างกายและถูกข่มขืนมาเป็นเวลา 3 ปี และเมื่อเธอนำเรื่องนี้ไปเล่าให้พ่อแม่ของเธอฟัง พ่อและแม่ของเธอกลับเข้าข้างสามี ทำให้ Banaz ตัดสินใจไปแจ้งตำรวจ แต่ตำรวจไม่เข้าใจว่าเธอต้องการจะพูดอะไร สุดท้ายสามีของเธอตัดสินใจที่จะหย่ากับ Banaz เพราะกลัวเธอจะไปแจ้งตำรวจอีก แล้วเขาอาจจะโดนจับได้
 
หลังจากนั้นวันหนึ่งเธอก็ได้ตกหลุมรักกับผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า Rahmat พวกเขาพยายามที่จะเก็บเรื่องความสัมพันธ์ของพวกเขาไว้เป็นความลับ เพราะตามหลักของศาสนาอิสลามแล้ว ผู้หญิงและผู้ชายไม่สามารถพบปะและพูดคุยกันได้ถ้ายังไม่แต่งงานกัน แต่วันหนึ่งเพื่อนบ้านของ Banaz กลับไปเห็นว่าทั้งสองคนนี้จูบกันอยู่ที่ริมถนน จึงนำเรื่องนี้ไปบอกที่บ้านของ Banaz 
หลังจากนั้นไม่นาน Banaz ก็หายตัวไป Rahmet พยายามที่จะติดต่อ Banaz ให้ได้แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงตัดสินใจไปแจ้งความกับตำรวจ เมื่อตำรวจมาสอบถามเรื่องของ Banaz กับครอบครัว ทุกคนต่างให้คำตอบเหมือนกันว่าไม่เห็น Banaz ด้วยเช่นกัน ทั้งที่จริงๆ แล้ว ญาติๆ ที่เป็นผู้ชายของ Banaz รวมทั้งพ่อของเธอได้ข่มขืนเธอและฆ่าเธอทิ้ง และไม่ยอมบอกความจริงกับตำรวจเพราะเชื่อว่าถ้าเล่าเหตุการณ์เท็จตำรวจก็จะสืบคดีไปผิดทาง และไม่มีใครเอาผิดพวกเขาได้ แต่ท้ายที่สุดตำรวจก็ตามสืบจากข้อมูลต่างๆ และสามารถจับพวกเขาทั้งหมดได้ และทั้งหมดถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต
 
นอกจากเรื่อง Banaz A Love Story แล้วยังมีภาพยนตร์เรื่อง Honor Killing ที่ได้รับรางวัล European Prize ก็ได้กล่าวถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งผู้ร่วมเขียนบทและผู้สร้างภาพยนตร์ต่างมีความเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์ honor killing นั้นยังคงเกิดขึ้นอยู่มากมายในโลกของอิสลาม พวกเขายังเชื่ออีกว่า ทุกๆ ปีจะต้องมีผู้หญิงอย่างน้อย 5,000 คนจากทั่วโลกที่ต้องตายจากเหตุการณ์นี้
 
ประเทศเยเมนเป็นประเทศที่มีการเกิด honor killing มากที่สุดโดยเฉพาะตามเมืองต่างๆ ในชนบท ที่เชื่อว่า ผู้ที่นำความอับอายมาสู่ครอบครัวเพราะประพฤติตัวไม่เหมาะสมนั้นสมควรที่จะตาย เรื่องนี้รัฐบาลประเทศเยเมนควรที่จะหันมาให้ความสนใจอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะแก้ไขโศกนาฏกรรมนี้ อย่างน้อยเมื่อทำผิดหรือประพฤติตัวไม่เหมาะสมก็สามารถลงโทษด้วยวิธีอื่นได้ แต่ไม่ต้องถึงกับฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง