วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > Cover Story > จากชุมชนสู่การท่องเที่ยว วิถีคนลุ่มน้ำและเมืองชายแดนไทย-มาเลย์

จากชุมชนสู่การท่องเที่ยว วิถีคนลุ่มน้ำและเมืองชายแดนไทย-มาเลย์

 
 
เพราะการท่องเที่ยวเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งกระตุ้นการใช้จ่ายภายในและดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ การให้ความสำคัญในการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างความแข็งแกร่งให้กับการท่องเที่ยวจึงเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญ
 
ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิต คือทรัพยากรสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้ดำเนินการผ่านสำนักประสานงานโครงการวิจัยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวภายใต้อัตลักษณ์และวิถีท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบ” และ “การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และ 4 รัฐ ของประเทศมาเลเซีย (กลันตัน เปรัค เคดาห์ เปอร์ลิส) ภายใต้มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่อาเซียน” เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพและเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวระหว่างพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเชื่อมต่อไปยังเมืองชายแดนไทย-มาเลเซีย พร้อมผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
 
จากการวิจัยพบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่ครอบคลุมจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วิถีโหนด-นา-เล” วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่ผูกพันกับการทำตาลโตนด การทำนา และการประมง ซึ่งถือเป็น 3 อาชีพหลักของคนในพื้นที่ 
 
ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา นับเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกตาลโตนดมากที่สุดในประเทศไทย ผู้คนในท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์จากตาลโตนดจนกลายเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่น่าสนใจ 
 
“ศูนย์เรียนรู้วิถีโหนด-นา-เล” ต.ท่าหิน คือการรวมกลุ่มของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ ต่อยอด และเผยแพร่วิถีดั้งเดิมทั้ง 3 ด้าน ทั้งการทำตาลโตนด ทำนา และประมง ผู้มาเยือนจะได้เรียนรู้วิธีการปีนตาล การนำส่วนต่างๆ ของต้นโตนดมาใช้ประโยชน์ ทำขนมจากลูกตาล  น้ำตาลแว่น รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น สบู่ แชมพู โลชั่น ที่ได้จากตาลโตนดซึ่งถือเป็นการต่อยอดที่สำคัญ 
 
ในส่วนของวิถีการทำนา ชุมชนได้จัดกิจกรรมพร้อมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการทำนาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม อีกทั้งยังได้ฟื้นฟู “ประเพณีรับเทียมดา” หรือ ประเพณีรับเทวดา ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทยพุทธในภาคใต้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อันเกิดจากความเชื่อที่ว่าเทวดาคือผู้กำหนดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดในธรรมชาติ และทุกหมู่บ้านมีเทวดาปกปักรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุข การทำประเพณีรับเทียมดาจะทำปีละหนึ่งครั้ง ถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อเทวดาองค์เก่าที่ได้ปกปักรักษาผู้คนในหมู่บ้านมาครบหนึ่งปี พร้อมกับต้อนรับเทวดาองค์ใหม่
 
อีกหนึ่งวิถีการดำรงชีพของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คือการทำประมงทะเลสาบ ซึ่งยังคงทำการประมงแบบดั้งเดิม รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง และที่น่าสนใจคือ โฮมสเตย์ ที่มีไว้บริการนักท่องเที่ยวพร้อมกิจกรรมที่ยึดโยงอยู่กับวิถีและประเพณีของชุมชน ที่ผ่านมากลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา และผู้ที่สนใจในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เมื่อมีการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการท้องถิ่น จึงได้มีการเสริมความแข็งแกร่งและพัฒนาสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
 
มีการประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยวของศูนย์เรียนรู้ให้เป็นที่รู้จัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการนำเส้นทางการท่องเที่ยวดังกล่าวไปเสนอในงาน World Travel Market (WTM) งานแสดงสินค้าท่องเที่ยวระดับโลกที่จะจัดขึ้นที่อังกฤษ ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายนนี้ หวังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนและเป็นการเปิดตลาดใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นหมุดหมายที่ดีของการท่องเที่ยววิถีชุมชน
 
อีกหนึ่งการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของชุมชนที่น่าสนใจและน่าจะเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นได้ คือ “ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน” แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมที่ชุมชนนำเอาทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ตัวเองมีอยู่มาพัฒนาบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และไม่ทำลายวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ มี “ตลาดริมน้ำคลองแดน” หรือ ตลาดสามคลอง สองเมือง เป็นตัวชูโรง โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.สงขลา เชื่อมต่อกับ จ.นครศรีธรรมราช เป็นจุดบรรจบของลำคลองสามสาย อันได้แก่ คลองระโนด คลองชะอวด และคลองปากพนัง ตลาดริมน้ำที่รายล้อมด้วยบ้านไม้แบบพื้นถิ่นภาคใต้ ร้านอาหารพื้นบ้าน และความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม
 
ภายในชุมชนมีโฮมสเตย์ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสธรรมชาติและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชาวพุทธของคนในชุมชนด้วยเช่นกัน มีสถานที่สำคัญ อาทิ วัดคลองแดน วัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2430 หอฉันที่สร้างด้วยไม้อายุร่วม 100 ปี พระพุทธรูปทองคำที่เป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน
 
การบริหารงานของชุมชนวิถีพุทธคลองแดนมีรูปแบบเหมือนบริษัท โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ชุมชนคือบริษัทแม่ ในแต่ละหน่วยของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้า หรือผู้ให้บริการที่พัก เปรียบประหนึ่งบริษัทลูก แต่ละหน่วยบริหารจัดการภายใต้กฎกติการ่วมกัน กำไรที่ได้ส่วนหนึ่งคืนกลับสู่ชุมชน เพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชนต่อไป ซึ่งการท่องเที่ยววิถีชุมชนนี้นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์วิถีดั้งเดิมของชุมชนให้คงอยู่ พร้อมเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและทำให้ชุมชนแข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย
 
จากชุมชนวิถีพุทธคลองแดน ข้ามด่านปาดังเบซาร์ และเดินทางต่อไปยังรัฐเปอร์ลิส (Perlis) ประเทศมาเลเซีย เพียงแค่ 40 กิโลเมตรจากด่าน คือที่ตั้งของ “ชุมชนพญากูริง” (Home-stay Kampong Paya Guring) โฮมสเตย์ต้นแบบของมาเลเซีย ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 20 ปี ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล
 
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนโฮมสเตย์ชุมชนพญากูริงจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวมุสลิม เรียนรู้การทำนา กรีดยาง การทำอาหาร อีกทั้งชุมชนยังรับจัดการงานแต่งงานแบบพื้นเมืองดั้งเดิมให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย จุดเด่นของชุมชนพญากูริง คือการเดินทางสะดวก เพราะอยู่ไม่ไกลจากด่านปาดังเบซาร์และใกล้ถนนหลัก มีท่าเรือที่สามารถเดินทางต่อไปยังเกาะลังกาวี และรถไฟรางคู่สู่กรุงกัวลาลัมเปอร์ได้เช่นเดียวกัน
 
ซึ่งฝั่งไทยและมาเลเซียตั้งเป้าร่วมกันในการสร้างเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างไทยและมาเลเซีย โดยมีจุดแวะพักที่ชุมชนวิถีพุทธคลองแดนและชุมชนพญากูริง ก่อนเดินทางต่อไปยังปีนัง มะละกา หรือกัวลาลัมเปอร์ตามที่นักท่องเที่ยวสนใจ
 
แม้ว่าประเทศไทยและมาเลเซียจะมีชายแดนติดกัน อีกทั้งยังมีลักษณะภูมิประเทศ วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกตามด่านชายแดนต่างๆ ปีละไม่น้อย แต่ที่ผ่านมาในด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนทั้งสองประเทศกลับขาดการเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน แม้ว่าจะมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่คล้ายคลึงกันก็ตาม
 
การได้ทำงานสอดประสาน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ระหว่างกัน จะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของสองประเทศเข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างมาตรฐานและความแข็งแกร่งให้กับการท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย