วันเสาร์, ตุลาคม 5, 2024
Home > Cover Story > โอฬาร จันทร์ภู่ มองธุรกิจรับสร้างบ้านปี 67 ท้าทายบนความผันผวน

โอฬาร จันทร์ภู่ มองธุรกิจรับสร้างบ้านปี 67 ท้าทายบนความผันผวน

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่ลดลง ส่งผลเป็นระลอกคลื่นไปยังธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่แม้จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายที่ยังมีกำลังซื้อ และไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ

ตลาดรับสร้างบ้านเป็นอีกหนึ่งตลาดที่พบกับภาวะชะลอตัว ทั้งในด้านปริมาณและมูลค่าตลาดที่ปรับตัวลดลงไปในทิศทางเดียวกัน ในปี 2565 ขนาดของตลาดรับสร้างบ้านมีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท และปี 2566 มีการปรับตัวลดลงเหลือ 1.8 หมื่นล้านบาท หรือลดลงเฉลี่ย 18% พื้นที่ที่มีการชะลอตัวมากที่สุดได้แก่ กรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคอีสาน

โอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association: HBA) เปิดเผยภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในครึ่งปีแรกปี 2567 ชะลอตัวลง มียอดเซ็นสัญญาสั่งสร้างบ้าน มูลค่ารวมลดลงอยู่ที่ 4,505 ล้านบาท หรือประมาณ 15% ในทุกระดับราคา เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2566 ที่มียอดเซ็นสัญญาสั่งสร้างบ้าน มูลค่ารวม 5,300 ล้านบาท

สะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถดถอย และเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจ ที่มีหนี้ครัวเรือนสัดส่วนสูงถึง 91% ของจีดีพี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 52.73% ในขณะที่ภาพรวมจีดีพีของไทยโตเพียง 1.5% เท่านั้น ถือเป็นการเติบโตที่น้อยกว่าประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง

“ตัวเลขหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง นำไปสู่ภาวะชะลอการตัดสินใจสร้างบ้านออกไปแบบไม่มีกำหนด จากสถิติข้อมูลที่ผ่านมาของตลาดรับสร้างบ้านพบว่า ช่วงครึ่งหลังของทุกปีจะเป็นช่วงไฮซีซันของตลาดรับสร้างบ้าน จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเร่งทำตลาดและกระตุ้นการตัดสินใจผู้บริโภคสั่งสร้างบ้านเร็วขึ้น เพราะนอกจากจะได้รับทั้งส่วนลดที่บริษัทรับสร้างบ้านนำเสนอราคาพิเศษแล้ว ยังได้รับสินเชื่อสร้างบ้านในอัตราดอกเบี้ยลดเพิ่ม”

คำถามที่น่าสนใจคือ ปัจจัยอะไรที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตลาดรับสร้างบ้านในช่วงปลายปีให้กลับมาคึกคักได้  นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านมองว่า “ผู้บริโภคใช้เวลาในการหาข้อมูล พิจารณาแบบบ้านที่ต้องการ รวมถึงข่าวสารในเรื่องดอกเบี้ย ที่ผ่านมาคนมีเงินไม่ค่อยนำเงินออกมาใช้จ่ายเท่าที่ควร เรามองว่าปลายปีจะเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจรับสร้างบ้าน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจัดงานของสมาคมคืองานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2024 ซึ่งภายในงานจะเป็นการรวบรวมโปรโมชันทั้งจากบริษัทรับสร้างบ้านและธนาคาร เพื่อจูงใจลูกค้า เราจะเห็นว่าในช่วงปลายปีจะมีเงินสะพัดในธุรกิจรับสร้างบ้านเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นของปี”

นอกจากนี้ หากดูจากตัวเลขมูลค่าการก่อสร้างบ้านในครึ่งแรกของปี 2567 โดยแบ่งตามระดับราคาบ้าน มูลค่าบ้าน 5.01-10 ล้านบาท อยู่ที่ 20% มูลค่าบ้าน 10.01-20 ล้านบาท อยู่ที่ 25% และมูลค่าบ้าน 20 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ที่ 33% ซึ่งสูงและใกล้เคียงปี 2566 ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนภาพการขยายตัวของผู้บริโภคระดับกลางถึงระดับสูง ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ

“ลูกค้าที่ปลูกบ้านในกลุ่มราคา 5-10 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการกู้กับธนาคาร ขณะที่บ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ลูกค้าใช้เงินสด นี่เป็นการยืนยันว่าตลาดบ้านระดับกลางถึงระดับบน หรือบ้านในกลุ่มลักชัวรี ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ”

ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับเทรนด์ของทิศทางตลาดอสังหาฯ ในปัจจุบันที่ผู้บริโภคในกลุ่มบ้านหรู ลักชัวรี มีอัตราการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ทั้งธุรกิจบ้านจัดสรร หรือธุรกิจรับสร้างบ้าน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เบนเข็มและหันไปพัฒนาโครงการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มนี้มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง รวมถึงนโยบายสำคัญของภาครัฐอย่างการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ เป็นเรื่องที่อาจส่งผลต่อธุรกิจอสังหาฯ ทว่า โอฬาร จันทร์ภู่ ยังหวังว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีคนใกล้ชิดคร่ำหวอดในธุรกิจอสังหาฯ จะเข้าใจและมีแนวทางการบริหารงานที่ส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาฯ

“ความท้าทายของธุรกิจรับสร้างบ้านคือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งธุรกิจไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพียงแต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาทางปรับไม่ให้ค่าแรงส่งผลต่อราคาต้นทุนของการสร้างบ้าน ขณะที่นโยบายด้านอสังหาฯ จากภาครัฐเราหวังว่าจะสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้”

“ผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านส่วนหนึ่งก็คงหวังว่า การจัดงาน รับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2024 จะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อ และเร่งให้เกิดการตัดสินใจของผู้บริโภคได้” โอฬาร จันทร์ภู่ ทิ้งท้าย.