วันพุธ, ตุลาคม 16, 2024
Home > Life > “นักคิด” ของโอกุสต์ โรแดง

“นักคิด” ของโอกุสต์ โรแดง

 
Column: From Paris
 
 
ในบรรดาประติมากรฝรั่งเศส ที่ดังที่สุดเห็นจะเป็นโอกุสต์ โรแดง (Auguste Rodin) เห็นครั้งแรกในพิพิธภัณฑ์แห่งออร์เซย์ (Musée d’Orsay) ลักษณะบึกบึนบ้าง อ่อนช้อยบ้าง มีหลายขนาดด้วยกัน หากที่ได้ชมจนอิ่มตาอิ่มใจก็ที่พิพิธภัณฑ์โรแดง (Musée Rodin) ซึ่งนอกจากคอลเลกชั่นถาวรแล้ว ยังมีนิทรรศการจรอีกด้วย ในสวนสวยตั้งผลงานของโอกุสต์ โรแดง เป็นระยะๆ
 
รูปปั้นในสวนโดดเด่นไม่แพ้ที่แสดงในอาคาร อาจจะสวยกว่าเสียอีก เพราะเป็นผลงานเด่นๆ ของประติมากรผู้นี้ เพียงเข้าไปในบริเวณ ชายผู้หนึ่งนั่งอยู่บนแท่นสูง เท้าศอกขวาบนตัก และมือยันคางไว้ มีลักษณะครุ่นคิด ชายผู้นี้เต็มไปด้วยมัดกล้าม ทำด้วยบรอนซ์ แรกทีเดียวมีชื่อว่า กวี–Le poète โอกุสต์ โรแดง ปั้นให้อยู่ในท่ากำลังคิดถึงบทกวี หากในภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น นักคิด–Le penseur แล้วแต่จะจินตนาการว่ากำลังคิดถึงอะไร
 
Le penseur เป็นประติมากรรมที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) สั่งทำเพื่อตั้งไว้หน้าประตูของพิพิธภัณฑ์อารต์เดโก (Musée des arts décoratifs) และประตูพิพิธภัณฑ์ใหม่แห่งนี้ก็สั่งให้โอกุสต์ โรแดงทำเช่นกัน ชื่อ La porte de l’Enfer–ประตูนรก ซึ่งเท้าความถึงหนังสือของดันเต (Dante) นักเขียนชาวอิตาลี เรื่อง La divine comédie โอกุสต์ โรแดงทำ La porte de l’Enfer ไม่เสร็จ ก็เสียชีวิตเสียก่อน ในสวนของพิพิธภัณฑ์โรแดงนำ La porte de l’Enfer มาติดตั้งให้ชมด้วย สวยวิจิตรทีเดียว
 
แรกทีเดียว Le penseur จะหมายถึงดันเต และจะตั้งหน้าประตู La porte de l’Enfer ทว่า Le penseur ไม่ได้ออกมาอย่างที่คิดกันไว้ กล่าวคืออยู่บนประตู La porte de l’Enfer เหนือบรรดามนุษย์ที่ถูกพิพากษา และครุ่นคิดถึงชะตากรรมของคนเหล่านี้ รูปปั้น Le penseur ชิ้นแรกจึงส่งไปที่โคเปนเฮเกนในปี 1888 ตั้งอยู่ในสวนของ NY Carlsberg Gmyptotek มีขนาด 71.5 เซนติเมตร ชาวฝรั่งเศสได้เห็น Le penseur เมื่อโอกุสต์ โรแดงนำออกแสดงในนิทรรศการศิลป์ในปี 1904 ครั้งนั้นนิตยสาร Les arts de la vie รณรงค์สนับสนุนให้เมืองปารีสมีรูปปั้นบรอนซ์ของโอกุสต์ โรแดง ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการปั้นรูปนักเขียน ออนอเร เดอ บัลซัก (Honoré de Balzac) ได้บูดเบี้ยวพิกลพิการ ด้วยเหตุนี้ในปี 1906 เทศบาลกรุงปารีสจึงได้รับมอบรูปปั้นชื่อ Le penseur ของโอกุสต์ โรแดง และนำไปตั้งหน้าปองเตอง (Panthéon) ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองและสังคมในยุคนั้น ต่อมาในปี 1922 จึงย้าย Le penseur ไปยังโอเตล บิรง (Hôtel Biron) ซึ่งเป็นบ้านและสตูดิโอของโอกุสต์ โรแดง และเป็นพิพิธภัณฑ์โรแดงตั้งแต่ปี 1919
 
ตลอดชีวิต โอกุสต์ โรแดง ผลิต Le penseur โดยหลอมที่ Fonderie Rudier เขาเสียชีวิตในปี 1917 ผลงานของเขายังเป็นที่ต้องการของตลาด จึงเป็นช่องทางให้มีผู้ทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กี แอง (Guy Hain) ซึ่งผลิตรูปปั้นปลอมของโอกุสต์ โรแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Le penseur, Balzac, Baisers และ Eternels printemps นับหลายร้อยชิ้น ตำรวจยึด “งานศิลป์” เหล่านี้ได้ในโกดังซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงหลอมของเขา หลังจากคดีนี้แล้ว พิพิธภัณฑ์โรแดงได้รับ “งานศิลป์” ซึ่งกี แอง เป็นผู้ผลิตเอง และผลิตในนามของโรงหลอมรูดีเอร์ (Fonderie Rudier) เป็นจำนวนมาก
 
กี แองต้องคำพิพากษาจำคุก 4 ปี และปรับ 200,000 ฟรังก์ เขาเคยถูกพิพากษาล้มละลาย และยังเป็นจำเลยในคดีอื่นๆอีก เขาอุทธรณ์พร้อมกับกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียวที่สามารถแยกแยะรูปปั้นของโอกุสต์ โรแดง ว่าจริงหรือปลอม แค่นี้ก็สามารถเขย่าวงการศิลป์ได้ ด้วยว่าในทศวรรษ 1990 ตลาดงานศิลป์เฟื่องฟู ผลงานแต่ละชิ้นต้องได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับโลก หากจะแน่ใจได้แค่ไหนว่าเชี่ยวชาญด้านรูปปั้นของโอกุสต์ โรแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Le penseur ซึ่งราคาขายในปัจจุบันสูงถึงหลายสิบล้านยูโร
 
เนื่องจากโอกุสต์ โรแดงใช้บริการโรงหลอม กี แองผลิตรูปปั้นปลอมจากการทำพิมพ์แบบจากรูปปั้นของจริงของโอกุสต์ โรแดงบ้าง จากการนำแบบพิมพ์เก่าจาก Fonderie Rudier ของประติมากรผู้นี้มาหล่อใหม่บ้าง จึงยากที่จะบอกว่าไม่ใช่ของจริง แถมยังใช้ลายเซ็นปลอมของจอร์จส์ รูดีเอร์ (Georges Rudier) เจ้าของ Fonderie Rudier นอกจากนั้นยังใช้ชื่ออเล็กซิส รูดีเอร์ (Alexis Rudier) ซึ่งเป็นลุงทวดของจอร์จส์ รูดีเอร์ อีกด้วย ทำให้ดูขลังดี
 
Le penseur ฉบับดั้งเดิมขนาด 71.5 เซนติเมตร มีทั้งหมด 33 ชิ้นด้วยกัน ขนาด 189 เซนติเมตรมี 18 ชิ้น และขนาดเล็ก 28 เซนติเมตรมี 32ชิ้น ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเยอรมนียึดครองฝรั่งเศส ตลาดงานศิลป์ดำเนินไปด้วยดี ด้วยว่าโอกุสต์ โรแดงเป็นประติมากรที่ต้องใจฮิตเลอร์ (Hitler) อาร์โน เบรเกอร์ (Arno Breker) ได้สั่ง La porte de l’Enfer สำหรับสาธารณรัฐไรช์ที่ 3 เมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้สงคราม La porte de l’Enfer ถูกยึด ต่อมา Kuntshaus ของเมืองซูริก (Zurich) ซื้อผลงานชิ้นนี้ไป ในปี 1945 พิพิธภัณฑ์โรแดงจึงจำกัดการหลอม La porte de l’Enfer เพื่อให้ผลงานชิ้นนี้ดูมีค่า
 
อาร์เจนตินามีรูปปั้น Le penseur ด้วย เป็นรูปที่โอกุสต์ โรแดง หลอมเอง จึงเป็นของจริงแน่แท้ ปัญหาเกิดว่าพวกวัยรุ่นนำสีต่างๆไปพ่น นายกเทศมนตรีกรุงบัวโนสไอเรส (Buenos Aires) สั่งให้นำน้ำมาฉีดเพื่อล้างสีออก บังเอิญผู้รักงานศิลป์เห็นว่าเป็นความหวังดีเกินไป เพราะการนำน้ำที่ฉีดแรงอาจทำให้ผิวของรูปปั้นเสียหายได้ และน้ำอาจซึมเข้าไปได้ด้วย จึงเสนอให้รัฐเชิญอองต็วน อามาร์เกร์ (Antoine Amarguer) ผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสมา “รักษาอาการป่วย” ของ Le penseur ผู้เชี่ยวชาญคนนี้เคยทำการขัดสีฉวีวรรณ Le penseur ของพิพิธภัณฑ์โรแดงเมื่อปี 2000 มาแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 1982 ผลงานของโอกุสต์ โรแดง ถือเป็นของสาธารณะ ผู้ใดจะผลิตก็ได้ แต่ต้องประทับตรา reproduction–การทำขึ้นใหม่ จึงมีรูปปั้นของโอกุสต์ โรแดง ที่มาจากประเทศอื่นๆ ด้วย