8 ปีที่แล้ว กลุ่มเซ็นทรัลก่อตั้งโครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ด้านหนึ่งหวังสร้างความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ลงมือทำเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและหาแนวทางการอยู่ร่วมกันกับท้องถิ่น พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบต่อยอดให้จังหวัดรอบข้าง สู่การท่องเที่ยวยั่งยืนที่เน้นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ รับผิดชอบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนไปพร้อมกัน
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง แนวคิด ESG หรือ Environmental, Social, and Governance กลายเป็นเกณฑ์สำคัญวัดผลการดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่แค่ผลกำไร แต่รวมถึงผลกระทบที่ธุรกิจมีต่อโลก สังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเทรนด์ ESG เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เพราะเป็นมุมมองของผู้บริโภครุ่นใหม่เปลี่ยนไปและเลือกที่จะบริโภคสินค้าจากผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจตามแนวคิด ESG
ไม่ใช่แค่แนวคิดเพียงผิวเผิน หรือฉาบฉวย แต่ต้องให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมและธรรมาภิบาล การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และการเพิ่มสัดส่วนของสินค้าที่มีความยั่งยืนมากขึ้น เป็น DNA ขององค์กรและกลายเป็นจุดขายการแข่งขันด้านภาพลักษณ์โดยอัตโนมัติด้วย
นั่นทำให้โปรเจกต์ “เซ็นทรัล ทำ” ต้องเร่งผลักดันการต่อยอดที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลยังคงเดินหน้าโครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ ซึ่งเป็นโครงการด้านความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ของภาคธุรกิจ แต่ทุกโครงการยังเดินหน้า แต่เน้นชุมชนที่มีศักยภาพและมีโอกาสขยายตัว ทั้งในมุมของการสร้างอาชีพ การพัฒนาสังคม และการต่อยอด โดยใช้งบประมาณรวม 30 ล้านบาท ขยายการลงมือทำไปแล้วกว่า 44 จังหวัด และมีจังหวัดที่มีความคืบหน้าแล้ว 80% จำนวน 12 จังหวัด
พิชัยย้ำว่า เซ็นทรัล ทำ มีหัวใจหลัก 6 แนวทาง คือ Community พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน Inclusion ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม Talent พัฒนาศักยภาพที่เป็นเลิศของบุคลากร Circularity ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน Climate ฟื้นฟูสภาพอากาศ และ Nature การอนุรักษ์ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ
ทั้งนี้ หากสำรวจผลงานตลอดเส้นทางกว่า 8 ปี เกิดโครงการมากมาย สามารถสร้างงานและสนับสนุนอาชีพให้คนพิการกว่า 1,100 คน สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 1,700 ล้านบาท ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนมากกว่า 150,000 ราย พัฒนาโรงเรียน 192 แห่ง เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่ากว่า 19,385ไร่ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร 19,254 ตัน ลดปริมาณขยะที่เข้าสู่หลุมฝังกลบกว่า 43,663 ตัน ติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 1,430 สถานที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา 215 แห่ง และผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากถึง 207,176 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (Sustainable Development Goals-SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
ขณะที่ปี 2568 วางเป้าหมายผลักดันจังหวัดต้นแบบ 4 แห่ง ได้แก่ จังหวัดน่าน ในวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย โดยเตรียมเข้าสู่การจดทะเบียนเป็นสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เช่น ฟักทองพันธุ์ไข่เน่า โกโก้ มะม่วงหิมพานต์ ส่งต่อธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล เช่น ท็อปส์
จังหวัดอยุธยากับเกษตรกรบ้านหมู่ใหญ่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา ต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ผลิตเมล่อนภายใต้ชื่อ “Smile Melon” สามารถเปิดช่องทางการขายในตลาดไปยังประเทศสิงคโปร์กว่า 6.2 ตัน สร้างรายได้กว่า 530,400 บาท และมียอดการสั่งต่อเนื่องถึงปี 2568 รวมยอดส่งออกไปสิงคโปร์ 25.2 ตัน รายได้รวม 2 ล้านบาท
จังหวัดเชียงใหม่ในชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ พัฒนา “พื้นที่วิถียั่งยืนแม่ทา” ตั้งแต่ปี 2560 มุ่งสร้างเกษตรอินทรีย์ต้นแบบและเกษตรกรรุ่นใหม่ พัฒนาคุณภาพผลผลิต สนับสนุนการรับซื้อ สร้างแบรนด์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และขยายช่องทางจัดจำหน่าย เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน
จังหวัดชัยภูมิในวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจบ้านเทพพนา อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ 1 ใน 7 ของผู้ปลูกอะโวคาโดพันธุ์แฮสส์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นสายพันธุ์คุณภาพระดับโลก โดยตั้งเป้าผลักดันเกษตรอัจฉริยะแบบยั่งยืน ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ธนาคารน้ำใต้ดิน ใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ และเพาะเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี เพื่อแก้ปัญหาโรคพืชในการปลูกอะโวคาโด โดยปี 2567 สามารถสร้างรายได้แก่สมาชิกวิสาหกิจชุมชน ขยายเครือข่ายผู้ปลูกอะโวคาโดได้ถึง 1,000 ราย และจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยสร้างศูนย์การเรียนรู้รองรับผู้เข้าอบรมและนักท่องเที่ยว
นอกจากนั้น ยังมีการติดตามโครงการไฮไลต์ช่วงปี 2565-2566 ที่น่าสนใจ เช่น ตลาดจริงใจ มาร์เก็ต จ. เชียงใหม่ ในย่าน “จริงใจ เซ็นทรัล เชียงใหม่” ของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2555 รวมพื้นที่ทั้งหมดมากกว่า 28 ไร่ โดยภายในตลาดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ โซนอาหาร (Food) โซนศิลปะและงานออกแบบ (Art & Design) โซนงานฝีมือ (Craft) และยังมีร้าน Tops Green สโตร์สีเขียวแห่งแรก รวมถึงร้าน Good Goods จำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์แบรนด์ไทยที่ผ่านการพัฒนาคุณภาพและออกแบบให้มีความร่วมสมัยที่เน้นสร้างความสุขอย่างยั่งยืนทั้งแก่ผู้คนในชุมชน และนักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถช่วยสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวให้กับเศรษฐกิจไทยได้กว่า 40 ล้านบาทต่อปี
สำหรับตลาดจริงใจ เป็นตลาดปลอดโฟม (No foam 100%) รณรงค์ให้ลูกค้านำกระเป๋าผ้ามาใส่สินค้าเพื่อลดขยะพลาสติก มีจุดตั้งถังขยะแยกประเภทภายในโครงการ เพื่อส่งต่อไปในกระบวนการจัดการขยะที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น ตามเป้าหมายโครงการ Journey to Zero ของกลุ่มเซ็นทรัล
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จ. ตรัง เพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม โดยก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี รวบรวมผ้าทอมือโบราณที่มีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี ลายอัตลักษณ์โบราณ จนถือเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์เชิงวัฒนธรรม ซึ่งทุกๆ เดือนจะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูงานอย่างสม่ำเสมอ
หรือจะเป็นโปรเจกต์ กาแฟรักษาป่า ภูชี้เดือน จ.เชียงราย กาแฟอาราบิก้าออแกนิกบริสุทธิ์จากธรรมชาติ สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ภูชี้เดือนปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกจากเกษตรแบบเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมี มาเป็นการปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าแท้ โดยการคัดต้นพันธุ์แท้ ทริปปิก้า มัลเดอริ่ง จากต่างประเทศ มาปลูกในผืนป่าธรรมชาติบนพื้นที่ภูชี้เดือน เป็นการปลูกกาแฟรักษาป่า.
20 ปี การผลักดัน ESG จุดเริ่มโครงการ Who Cares Wins
แนวคิด ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2004 เมื่อองค์การสหประชาชาติ (UN) ร่วมมือกับองค์กรการลงทุนชั้นนำในโครงการ “Who Cares Wins” ซึ่งมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของการรวมปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในการตัดสินใจลงทุน โครงการนี้สะท้อนให้เห็นว่าการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมสามารถสร้างความยั่งยืนในระยะยาว และช่วยลดความเสี่ยงที่ธุรกิจอาจเผชิญ
ปี ค.ศ. 2015 มีการลงนามข้อตกลง Paris Climate Accord และ Sustainable Development Goals โดย 180 ประเทศ เพื่อกำหนดเป้าหมายการควบคุมภาวะโลกร้อน รวมถึง United Nations ได้พัฒนา Sustainable Development Goals เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ จัดการกับความท้าทายเรื่องความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสันติภาพภายในปี 2030 ซึ่งเป็นการกําหนดกรอบการทํางานที่ผู้นําธุรกิจและนักลงทุนสามารถพูดภาษาเดียวกันและทำงานสู่เป้าหมายร่วมกัน
ในเวลาเดียวกัน UN Principles for Responsible Investment (UNPRI) ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนใช้เกณฑ์ ESG ในการประเมินและเลือกการลงทุน ซึ่งแนวคิดนี้เปลี่ยนวิธีคิดของนักลงทุนทั่วโลก และส่งผลให้ ESG กลายเป็นมาตรฐานสำคัญในวงการธุรกิจและการเงิน
สำหรับ 3 องค์ประกอบของ ESG เริ่มจากด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) เน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมถึงการลดของเสียและมลพิษ ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อมอาจเลือกลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต ใช้วัสดุรีไซเคิล
องค์ประกอบที่ 2 ด้านสังคม (Social) เน้นผลกระทบที่ธุรกิจมีต่อสังคมและผู้คน ครอบคลุมถึงสิทธิมนุษยชน สวัสดิการและความปลอดภัยของพนักงาน การสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และการสนับสนุนชุมชน ตัวอย่างเช่น มีนโยบายต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก
องค์ประกอบที่ 3 ด้านธรรมาภิบาล (Governance) ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจมีการจัดการที่โปร่งใสและยุติธรรม รวมถึงการบริหารงานอย่างมีความโปร่งใส การป้องกันการคอร์รัปชัน การกำหนดโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน และการแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น มีการดำเนินนโยบายต่อต้านการทุจริตอย่างเข้มงวด.