วันศุกร์, มีนาคม 21, 2025
Home > Cover Story > ถอดไอเดียซีอีโอ “โออาร์” ดันเพจ “ต้น ปีกทอง” ย้ำ They grow We grow

ถอดไอเดียซีอีโอ “โออาร์” ดันเพจ “ต้น ปีกทอง” ย้ำ They grow We grow

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ก้าวเข้ามาในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ โดยตั้งเป้าหมายสานต่อวิสัยทัศน์ Empowering All toward Inclusive Growth และที่น่าสนใจ คือ การประกาศเปิดตัว Facebook Fanpage “ต้น ปีกทอง – Tone Peekthong” เป็นอีกช่องทางสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลตามเทรนด์ฮิตๆ ของเหล่าผู้นำในทุกวงการ

แน่นอนว่า หม่อมหลวงปีกทองมีภารกิจสำคัญต้องผลักดันการเติบโตของโออาร์ หลังจากช่วงปี 2567 ผลการดำเนินงานมีรายได้ขายและบริการ 723,958 ล้านบาท ลดลง 45,783 ล้านบาท หรือลดลง 5.9% จากปี 2566 ปัจจัยหลักเพราะปริมาณจำหน่ายน้ำมันลดลงและราคาน้ำมันในตลาดโลกเฉลี่ยปรับลดลง

แม้กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ที่เน้นการเติมเต็มความต้องการของลูกค้าอย่างหลากหลาย ยังเติบโตเพิ่มขึ้น 8.2% ตามการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม โดยปี 2567 Café Amazon มียอดขายรวมสูงถึงกว่า 400 ล้านแก้ว

แต่การปิดกิจการไก่ทอดเท็กซัส ชิคเก้นเมื่อเดือนกันยายน 2567 หลังลุยสมรภูมิการแข่งขันมานานกว่า 9 ปี ย่อมเป็นหนึ่งบทเรียนเรื่องการตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งล่าสุด โออาร์กำลังเจรจาดีลเข้าลงทุนธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ใหม่ มูลค่าลงทุนหลายร้อยล้านบาท ทั้งค่าแฟรนไชส์และการลงทุนปรับปรุงร้าน โดยระบุว่าเป็นเชนร้านอาหารที่ทุกคนรู้จักและเป็นที่ยอมรับ เพื่อทดแทนร้านเท็กซัส ชิคเก้นที่ปิดตัวไปกว่า 90 แห่งและเชื่อมั่นว่าจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการสถานีน้ำมันพีทีทีสเตชั่น

ทั้งนี้ หม่อมหลวงปีกทองได้คาดการณ์ผลการดำเนินงานปี 2568 จะปรับตัวดีขึ้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและโออาร์วางกลยุทธ์เน้นการใช้ Digitalization & Innovation เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยกลุ่มธุรกิจ Mobility ตั้งเป้ารักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจค้าน้ำมันในประเทศไทยและดึงส่วนแบ่งตลาดกลับมาผ่านสถานีบริการพีทีทีสเตชั่น และขยายจากธุรกิจน้ำมันสู่ธุรกิจพลังงานแบบผสมผสาน (New Energy-Based) รองรับพลังงานสะอาดในอนาคต เช่น การสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Station PluZ ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) และพลังงานทางเลือกอื่นๆ

ส่วนกลุ่มธุรกิจ Lifestyle จะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของ Café Amazon และหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ร่วมกับพันธมิตร ทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) และธุรกิจไลฟ์สไตล์อื่นๆ เพื่อสร้างแม็กเน็ตใหม่ๆ รวมถึงการศึกษาธุรกิจ Health & Wellness ที่มีโอกาสเติบโตสูงเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกรูปแบบ

สำหรับกลุ่มธุรกิจ Global สานต่อนโยบายการขยายธุรกิจในประเทศกัมพูชา ในฐานะ Second Home Base เพราะเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีเสถียรภาพทางการเมือง มี Demand สินค้าและบริการของ OR รวมถึงประเทศอื่นๆ  โดยปี 2568 จะใช้งบลงทุนรวม 18,886.9 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจ Mobility จำนวน 7,656.7 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจ Lifestyle จำนวน 7,280.4 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจ Global จำนวน 2,771.8 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจ Innovation & New Business อีก 1,178.0 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้น ซีอีโอใหม่คนนี้ยังพุ่งเป้าเรื่องการปรับแนวความคิดการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการ ‘They grow We grow’ โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นและการสื่อสารที่ใกล้ชิดผ่านโครงการ CEO on tour เพื่อพบปะพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ พนักงาน พันธมิตร นักลงทุน และสื่อมวลชน ซึ่งนั่นทำให้ตัดสินใจเปิด Facebook Fanpage ต้น ปีกทอง-Tone Peekthong เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารให้ทุกฝ่ายเห็นความพยายามด้านบวกของโออาร์

ต้องยอมรับว่า สื่อเฟซบุ๊กยังทรงอิทธิพลมากชนิดที่ซีอีโอบริษัทชั้นนำในต่างประเทศและผู้นำทุกวงการต่างพึ่งพาเป็นช่องทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อย่างในประเทศไทย เช่น นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งถือเป็นหนึ่งนักบริหารที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสื่อสารความเห็นต่างๆ ตั้งแต่ Twitter มาจนถึงเฟซบุ๊กโดยเฉพาะช่วงเข้ามารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยลุยศึกเลือกตั้งและขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นั่นยังกลายเป็นต้นแบบให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินตามกลยุทธ์โซเชียลมีเดีย โพสต์สื่อสารผลงานรัฐบาลทุกวัน ทั้งผ่านเพจ Ing Shinawatra เพจไทยคู่ฟ้า และเพจพรรคเพื่อไทย

ปัจจัยหลักมาจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและผู้ใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งข้อมูลรายงาน Digital 2024 Global Overview ของ We are social พบว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.8% เป็นจำนวน 5,347 ล้านคน และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 84,000 คน เป็น 63.21 ล้านคน หรือ 88% ของประชากร แม้มีอัตราการเติบโตเพียง 0.1% จากปีก่อนหน้า แต่ยังมีคนไทยอีกราว 8.64 ล้านคน หรือ 12% ของประชากรยังไม่ได้ใช้งานอินเทอร์เน็ต

ขณะเดียวกัน คนไทยมีอัตราการมีมือถือเฉลี่ย 136.1% สะท้อนให้เห็นว่า บางคนใช้มือถือหลายเครื่องและใช้เวลาอยู่กับมือถือเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง 38 นาที ติดอันดับสามของโลก รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์เฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง 56 นาที และคนไทยยังใช้เวลาออนไลน์นานมากติดอันดับ 10 ของโลก เฉลี่ยสูงถึงวันละ 7 ชั่วโมง 58 นาที โดย 98.3% เข้าถึงผ่านมือถือ ติดอันดับ 5 ของโลก และใช้เวลาบนมือถือวันละ 5 ชั่วโมง 2 นาที เป็นอันดับ 4 ของโลก

ด้านจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคน หรือ 2.1% คิดเป็น 68.3% ของประชากรทั้งหมด โดย 50.8% เป็นผู้หญิง และ 49.2% เป็นผู้ชาย

We are social ระบุว่า เฟซบุ๊กยังคงเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่ง ทั่วโลกมีผู้ใช้ถึง 49.1 ล้านคน หรือ 68.3% ของประชากร กลุ่มวัยทำงาน อายุ 25-34 ปีใช้งานมากที่สุดส่วนใหญ่ใช้ติดต่อคนรู้จักพูดคุยกับคนรู้ใจเช็กข่าวสารอัปเดตชีวิตประจำวันและเรื่องราวที่น่าสนใจ

หากเจาะสถิติเฉพาะคนไทยใน 10 อันดับโซเชียลมีเดียที่มีการใช้งานมากที่สุด พบว่า Facebook มีอัตราการใช้งานสูงสุด 91.5% ตามด้วย LINE 90.5% Tiktok 83% Facebook Messenger 81.5% Instagram 64.5%  X (Twitters) 49.6% Pinterest 26.7% Telegram 15.6% imessage 12.3% และ Discord 10.8%.