วันเสาร์, ตุลาคม 5, 2024
Home > Cover Story > แลคตาซอย-โทฟุซัง เมื่อความเก๋าเจอรุ่นใหม่เบียด

แลคตาซอย-โทฟุซัง เมื่อความเก๋าเจอรุ่นใหม่เบียด

Kantar บริษัทด้านข้อมูลการตลาดและการวิเคราะห์ เปิดเผยรายชื่อแบรนด์ที่ได้รับรางวัลจากงาน Thailand Brand Footprint Awards 2024 ซึ่งวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคใน 62 ตลาดทั่วโลก ครอบคลุม 76% ของประชากรโลกและ 86% ของ GDP โลก โดยสำรวจแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) กว่า 590 แบรนด์ และแบรนด์ความงามอีก 400 แบรนด์ในประเทศไทย เพื่อเน้นย้ำแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จสามารถดึงดูดผู้บริโภคในสภาพแวดล้อมที่สินค้ามีราคาสูงขึ้น สร้างความสัมพันธ์ทาง Functional และ Emotional อย่างแข็งแกร่ง ทำให้ตัวเองเป็นที่จดจำและเข้าถึงทุกจุดสัมผัสของผู้บริโภค

ทั้งนี้ กำหนดหน่วยวัด Consumer Reach Points (CRP) แสดงถึงการเลือกซื้อแบรนด์ของผู้บริโภคหนึ่งครั้ง รวมข้อมูลจากประชากร การเข้าถึงและการเลือกของผู้บริโภค แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ Most Chosen Brands หรือแบรนด์ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุด,Top Outstanding Brand แบรนด์ที่มีผลงานยอดเยี่ยมและเติบโตโดดเด่น,Top Outstanding Retailer ผู้ค้าปลีกที่มีผลงานยอดเยี่ยมในตลาด และ Top Outstanding Manufacturer ผู้ผลิตที่มีผลงานยอดเยี่ยมในตลาด

หากเจาะเฉพาะ 2 กลุ่มคือ Most Chosen Brands และ Top Outstanding Brand ซึ่งเกี่ยวข้องกับแบรนด์สินค้า ปรากฏว่า Most Chosen Brands ในกลุ่มอาหาร ได้แก่ มาม่า มีคะแนน 165 ล้าน CRPs กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ เนสกาแฟ145 ล้าน CRPs กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน ได้แก่ คอลเกต 84 ล้าน CRPs กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ได้แก่ ไฮยีน 111 ล้าน CRPs

กลุ่มความงาม ได้แก่ การ์นิเย่ 40 ล้าน CRPs กลุ่มเครื่องสำอาง ได้แก่ เมย์เบลลีน 9 ล้าน CRPs กลุ่มผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ ดัชมิลล์ 139 ล้าน CRPs และกลุ่มเครื่องดื่มแพลนต์เบส ได้แก่ แลคตาซอย 66 ล้าน CRPs

ส่วน Top Outstanding Brands เริ่มจากกลุ่มเครื่องสำอาง ได้แก่ Merrezca ได้ 2 ล้าน CRPs กลุ่มสกินแคร์ ได้แก่ Clear Nose 7 ล้าน CRPs กลุ่มอาหาร ได้แก่ โก๋แก่ 33 ล้าน CRPs กลุ่มข้าว ได้แก่ พนมรุ้ง 5 ล้าน CRPs กลุ่มเครื่องดื่มสปอร์ตและเอเนอร์จี้ ได้แก่ เรดดี้ 7 ล้าน CRPs และกลุ่มเครื่องดื่มแพลนต์เบส ได้แก่ โทฟุซัง 5 ล้าน CRPs

ชีวานนท์ ปิยะพิทักษ์สกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย Kantar, Worldpanel Division กล่าวว่า ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาเน้นความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวมมากขึ้น สะท้อนการเติบโตในกลุ่มเครื่องดื่มสปอร์ตและเอเนอร์จี้ แม้ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มลดลง

ที่สำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มแพลนต์เบสโดดเด่นที่สุด ทั้งในแง่ยอดขายและการเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งมี 2 แบรนด์คว้าคะแนนสูงสุด คือ แลคตาซอยได้คะแนนสูงสุด  Most Chosen Brands ส่วนโทฟุซังได้คะแนนสูงสุด Top Outstanding Brands ทำให้ตลาดเครื่องดื่มแพลนต์เบส โดยเฉพาะสินค้านมถั่วเหลืองมีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างดีมาก

ชีวานนท์กล่าวว่า แลคตาซอยมีจุดแข็งในฐานะที่อยู่ในตลาดมานาน สามารถสร้างฐานตลาดขนาดใหญ่ได้ ขณะที่โทฟุซังเข้าตลาดมาไม่นานมาก ยังมี Brand Size ต่างกันมาก อย่างไรก็ตาม โทฟุซังเติบโตโดดเด่นจากการขยายฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องและทำให้ลูกค้าซื้อถี่มากขึ้นได้

อย่างที่ว่าไว้ แลคตาซอยเริ่มต้นตำนานผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองมานานกว่า 43 ปี และย้อนไปก่อนหน้านั้น วิริยะ จิรพัฒนกุล ผู้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วน เกียงฮั้ว จำกัด บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตน้ำอัดลม รสส้ม และกลิ่นสละ ตราแฮปปี้และดับเบิ้ลแฮปปี้ ส่งขายให้ค่ายทหารญี่ปุ่นและตลาดเยาวราชในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนได้ลิขสิทธิ์ผู้ผลิตน้ำอัดลมต่างประเทศตราคิกคาปู้ จากประเทศแคนาดา รวมทั้งตราคิงคิสและคอสโค จากสหรัฐอเมริกา

เมื่อห้างเกียงฮั้วสร้างโรงงานใหญ่โต เนื้อที่กว่า 200 ไร่ ในจังหวัดปราจีนบุรี จึงขยายไลน์การผลิตนมถั่วเหลืองยูเอชทีแบรนด์ไทยเจ้าแรก “แลคตาซอย” ด้วยระบบยูเอชทีฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ โดยนำน้ำนมถั่วเหลืองดิบผ่านกระบวนการให้ความร้อนสูง 137-140 องศาเซลเซียส เป็นเวลาสั้น ๆ 4-15 วินาที และบรรจุกล่อง เพื่อคงคุณค่าทางสารอาหาร สี กลิ่น และรสชาติไว้ได้นานถึง 10 เดือน ไม่ต้องแช่เย็นหรือเติมสารกันบูด

ในเวลาต่อมา บริษัทยังใช้กลยุทธ์มิวสิกมาร์เก็ตติ้งเปิดสงครามราคา จนกลายเป็นเพลงโฆษณาสุดฮิตของเด็กๆ และกลุ่มลูกค้านานกว่า 40 ปี โดยเฉพาะท่อนฮุค “แลคตาซอย 5 บาท 125 มิลลิลิตร ปริมาณคับกล่อง เต็มที่ ดื่มได้ดื่มดี ดื่มแลคตาซอย 5 บาท…”

ขณะเดียวกัน ภาพรวมตลาดนมถั่วเหลือง มูลค่า 19,000 ล้านบาท แลคตาซอยยึดครองส่วนแบ่ง 56% แซงหน้าไวตามิ้ลค์ และเติบโตต่อเนื่อง 3-5% ทุกปี แม้เจอวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ เฉพาะปี 2566 มียอดขายราว 11,000 ล้านบาท

ด้าน “โทฟุซัง ”เปิดดำเนินการเมื่อปี 2554 โดยนักธุรกิจหนุ่ม สุรนาม พานิชการ ด้วยทุนก้อนแรก 1 ล้านบาท เน้นจุดขายการเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลืองออแกนิกที่เลือกใช้กรรมวิธีคั้นสด 100% แบบดั้งเดิม ผลิตจากถั่วเหลืองคุณภาพ ไม่ตัดแต่งพันธุกรรมและเป็นนมถั่วเหลืองโปรตีนสูงระดับใกล้เคียงกับนมวัวบรรจุกล่อง เพราะเพิ่มปริมาณโปรตีนจากฟองเต้าหู้สด สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ใส่สารกันเสีย ไม่ใส่นมผง ไม่ใส่น้ำมันถั่วเหลือง ไม่เหมือนนมถั่วเหลืองสำเร็จรูป รวมถึงการใช้น้ำเชื่อมธรรมชาติจากกล้วย น้ำตาลอ้อยธรรมชาติ งาขาวและงาดำคั่วบด

ปี 2558 โทฟุซังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดนมถั่วเหลืองพาสเจอร์ไรส์ ส่วนแบ่งตลาดกว่า 50% และปี 2564 เป็นเจ้าตลาด Plant-Based Protein RTD ในปี 2564

ล่าสุด บริษัทตั้งเป้าจะผลักดันยอดขายปีนี้ทะลุหลักพันล้านบาทเป็นปีแรก ย้ำผลลัพธ์จากปรัชญาของโทฟุซังที่ต้องการพัฒนานมถั่วเหลือง เพื่อแก้ Pain Point ของลูกค้าที่ต้องการหาซื้อน้ำเต้าหู้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รสชาติเหมือนน้ำเต้าหู้แท้ๆ และมีอายุสินค้ายืนยาวกว่าน้ำเต้าหู้รถเข็น จนชนะใจลูกค้าได้.

Photo Credit: ภาพจากเว็บไซต์แลคตาซอย