วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 10, 2024
Home > Cover Story > เซ็นกรุ๊ป รีแบรนด์ “อากะ” ดันเรือธงยึดบุฟเฟต์ญี่ปุ่น

เซ็นกรุ๊ป รีแบรนด์ “อากะ” ดันเรือธงยึดบุฟเฟต์ญี่ปุ่น

23 เมษายนนี้ เซ็นกรุ๊ป (ZEN) ได้ฤกษ์เปิดตัวแฟลกชิปสโตร์ “อากะ (AKA)” ที่ยกเครื่องปรับลุคใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ตัวโลโก้ บรรยากาศร้านไปจนถึงรายละเอียดเมนู โดยตั้งเป้าลุยสงครามบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียมและผลักดันรายได้ครั้งใหญ่

แน่นอนว่า ภายใต้กลยุทธ์ตลาด การหมายมั่นปั้นแบรนด์อากะให้เป็นเรือธงในปี 2567 มยุรี จิตรกร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะแม่ทัพ Marketing รุ่นใหม่ คาดหวังคะแนนเต็มสิบ ตอกย้ำความเป็น No.1 Yakiniku หลังลุยเสริมจุดขายเด็ดๆ ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา

โจทย์ข้อใหญ่ คือ การขยายฐานลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่กลุ่ม Family โดยเพิ่มความทันสมัยให้แบรนด์และอัด Activity ต่อเนื่อง เช่น ก่อนหน้านี้งัดแคมเปญบ้าพลัง AKA Champion ปิ้งจุกสุขทั่วไทย เดินสายท้าเซียนบุฟเฟต์ทั่วไทย มาร่วมชิงเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลแห่งชัยชนะกับการเป็นสุดยอดนักกินจุ AKA Champion ประจำปี 2567 คนแรกของประเทศไทย แถมรางวัลกินฟรี Premium Buffet ตลอดปี

ปรากฏว่า การแข่งขันดึงดูดสายกินจุ คนกินดุ กว่า 300 คนทั่วประเทศ สร้าง Brand Awareness เพิ่มยอดขายทั่วประเทศได้กว่า 14% และกวาดมูลค่า Earn Media หลังจบแคมเปญถึง 40ล้านบาท

สำหรับ AKA Flagshipstore ลุคใหม่ ประเดิมแห่งแรกที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ เน้นบริการบุฟเฟต์เป็นหลัก ราคาเริ่มต้น 459 บาท มี Buffet Station ทั้งข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น โอเด้ง และบิงซู เมนูเนื้อวัว ซีฟู้ด ผักสด และ Ramen Station ซึ่งทำสดใหม่ ซดได้ไม่หยุด โดยปรับเมนูให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่และเพิ่มเซกเมนต์หลากหลายขึ้น โดยวางแผนทยอยปรับสาขาต่างๆ จนครบทุกแห่ง

ทั้งนี้ การรีแบรนด์ “อากะ” เป็นยุทธศาสตร์ต่อเนื่องจากการยกเครื่อง “เซ็น เรสเตอร์รอง (ZEN)” ช่วงหลังสถานการณ์โควิด ซึ่ง ZEN เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2534 ในรูปแบบ A la carte จับกลุ่มครอบครัว แต่ปรับเปลี่ยนเพิ่มบริการบุฟเฟต์ในปี 2564 หลังประกาศคลายล็อกดาวน์ เพราะบริษัทศึกษาข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคต่างโหยหาการรับประทานบุฟเฟต์ ความคุ้มค่า เมนูอาหารหลากหลาย โดยนำร่อง 16 สาขาแรก ราคาเริ่มต้น 599 บาท และสามารถขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ ช่วงอายุ 26-45 ปี กำลังซื้อค่อนข้างสูง แตกต่างจากกลุ่มลูกค้าเดิม จนสร้างรายได้เติบโตขึ้นกว่า 23%

ปี 2565 เซ็นกรุ๊ปใช้กลยุทธ์การทำการตลาดใหม่ Revamp Menu ปรับ Mood & Tone เมนูใหม่ทั้งหมด เพิ่มความพรีเมียม จากเดิม 80 เมนู เป็น 130 เมนู โดยเฉพาะเมนูแซลมอนกว่า 20 เมนู ทั้งชาชิมิ ซูชิ และเนื้อ สั่งได้ไม่อั้น พร้อมวาไรตี้เมนูเย็น เมนูร้อน ของทอด เปิดให้บริการในรูปแบบบุฟเฟต์ รวม 29 สาขา ปรากฏว่า ขยายฐานลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 120% สร้างรายได้การเติบโต 41% ก่อนขยายเพิ่มสาขาใหม่อีก 7 แห่งในปี 2566  รวม 55 สาขา และเป็นสาขาที่ให้บริการบุฟเฟต์ 37 สาขา

มยุรีกล่าวว่า ความสำเร็จของ เซ็น เรสเตอร์รอง หลังเปิดให้บริการในรูปแบบบุฟเฟต์มาตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมาสามารถขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม GEN Y–GEN Z ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้นกว่า 200% แสดงถึงความแข็งแรงของแบรนด์ในตลาดบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น และการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกปี ทั้งยอดขายและการเพิ่มจำนวนสาขาที่ให้บริการบุฟเฟต์ได้มากขึ้นในทุกปี

นอกจากนั้น ในแง่ภาพรวมรายได้ของเซ็นกรุ๊ปเมื่อปี 2566 อยู่ที่ 3,945 ล้านบาท เติบโตขึ้น 16% จากปี 2565 โดยในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร มีทั้งแบรนด์ญี่ปุ่นและแบรน์อาหารไทย-อีสาน

กลุ่มแบรนด์ญี่ปุ่นมี 6 แบรนด์ ได้แก่ เซ็น เรสเตอร์รอง (ZEN) จำนวนสาขา 55 แห่ง อากะ 56 แห่ง ออน เดอะ เทเบิ้ล (On the Table) ร้านอาหารสไตล์โตเกียวคาเฟ่แนวโฮมเมด มีสาขารวม 38 แห่ง ส่วนแบรนด์ “ดินส์ (Din’s)” ซึ่งเป็นร้านอาหารนีโอไต้หวัน สไตล์จีนดั้งเดิมผสมผสานแรงบันดาลใจจากประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดเปิดให้บริการ 2 สาขา ขณะที่เทสซึ (Tetsu) และซิว คาร์นิวอล (Cyu Carnival) ร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียม มีสาขารวม 4 แห่ง

ส่วนกลุ่มแบรนด์อาหารไทยอีสาน ซึ่งเน้นขยายสาขารูปแบบแฟรนไชส์ ได้แก่ ร้านสตรีทฟู้ด “เขียง” ล่าสุดมีสาขารวม 58 แห่ง เป็นสาขาแฟรนไชส์ 47 แห่ง ตำมั่ว 91 แห่ง เป็นสาขาแฟรนไชส์ 79 แห่ง ลาวญวน 34 แห่ง เป็นสาขาแฟรนไชส์ 25 แห่ง และร้านเฝออีก 3 แห่ง เป็นสาขาแฟรนไชส์ทั้งหมด

หากเทียบสัดส่วนรายได้ปี 2566 กับปี 2565 พบว่า แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น เรสเตอร์รอง ยังสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทในสัดส่วนมากสุด 38% เท่าปีก่อนหน้า และออน เดอะ เทเบิ้ล มีสัดส่วน 17% เท่ากับปีก่อนหน้าเช่นกัน มีอากะเพียงแบรนด์เดียวที่สามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก 33% เป็น 35% ในปี 2566

ด้านกลุ่มแบรนด์ไทย-อีสาน รวมกันมีสัดส่วนรายได้ 6% ลดลงจากปี 2565 อยู่ที่ 7%

ปีที่ผ่านมายังถือเป็นปีที่มีการขยายสาขาทุกแบรนด์ 57 สาขา โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 มีการเร่งเปิดสาขารับเทศกาลต่างๆ 24 สาขา แยกเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น 15 สาขา ได้แก่ อากะ 5 สาขา เซ็น เรสเตอร์รอง 5 สาขา ออน เดอะ เทเบิ้ล 4 สาขา และดินส์ 1 สาขา ขณะที่แบรนด์ไทย-อีสาน เปิดใหม่เพียง 9 สาขา ได้แก่ ตํามั่ว  2 แห่ง เดอ ตํามั่ว 1 สาขา ลาวญวน 5 สาขา และเขียง 1 สาขา

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ถ้าเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้ระหว่างแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นกับแบรนด์ร้านอาหารไทยของเซ็นกรุ๊ปในฐานะหนึ่งผู้นำตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น จะเห็นชัดเจนว่า Japanese Food ยังได้รับความนิยมสูงมากในประเทศไทยและลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) พบว่า ปี 2566  ประเทศไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และกำลังมาแรงเติบโตสวนกระแส “หม่าล่า” ด้วย

ข้อมูลล่าสุดของเจโทรระบุว่า จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 5,751 ร้าน เพิ่มขึ้น 8% หรือ 426 แห่ง แบ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ เปิดเพิ่มขึ้น 5 เท่า เขตปริมณฑล 2.2 เท่า และพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า

ร้านอาหารญี่ปุ่นที่เปิดเพิ่มมากที่สุด 5 ประเภท ได้แก่ ร้านราเมน ร้านสุกี้ยากี้ ร้านชาบู ร้านอิซากายะ ร้านยากินิกุ หรือปิ้งย่าง ส่วนร้านซูชิที่มีจำนวนร้านมากที่สุดในไทยช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา มีการปิดตัวมากกว่าจำนวนร้านเปิดใหม่ สาเหตุจากการแข่งขันสูงมาก ต้นทุนวัตถุดิบ และสภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังแย่บวกกับค่าแรงปรับตัวสูงขึ้น

ดังนั้น แม้ประเทศไทยมีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่หากคิดเฉลี่ยต่อจำนวนประชากรแล้ว ยังมีช่องว่างสามารถเติบโตได้อีก บวกกับเทรนด์ความนิยมของผู้คน ซึ่งเซ็นกรุ๊ปน่าจะมองเห็นโอกาสทองนี้เช่นกัน