วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > ภิพัชรา แก้วจินดา ดันแบรนด์แฟชั่น PIPATCHARA จากพลังชุมชน

ภิพัชรา แก้วจินดา ดันแบรนด์แฟชั่น PIPATCHARA จากพลังชุมชน

ภิพัชรา แก้วจินดา ใช้เวลากว่า 5 ปี เปลี่ยน Passion ผลักดันแบรนด์แฟชั่นเครื่องหนังแบรนด์ PIPATCHARA ที่ไม่ใช่แค่ดีไซน์ แต่ตั้งเป้าหมายเป็น Fashion for Community สร้างพลังชุมชนจนต่อยอดสู่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด เธอจับมือกับค่าย สิงห์ คอร์เปอเรชั่น เปิดตัว INFINITUDE WHITE BALANCE ภายใต้แนวคิดการรีไซเคิลแบบไม่สิ้นสุด ผ่านกระบวนการ redone, re-produce และ recycle จาก “ขยะกำพร้า” หรือขยะที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการรวบรวม คัดแยกใดๆ เลย เป็นขยะที่ไม่มีใครเอา ไม่คุ้มกับการรีไซเคิล ไม่มีคนรับซื้อจนนับวันมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ฝาขวดน้ำสีขาว สีฟ้า ฉลากดีไซน์ Toy Story กล่องใส่อาหารต่างๆ

“เรานำขยะกำพร้าพวกนี้มาเข้ากระบวนการและปั๊มขึ้นรูปเป็นรูปทรงธรรมชาติจากท้องทะเลอย่างปะการัง  หิน เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและเพิ่มลูกปัดให้มีความสนุกสนานมากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นยังเป็นงานฝีมือจากคนในชุมชน เพราะอยากสนับสนุนให้คนในชุมชนมีรายได้และเติบโตไปด้วยกัน”

ภิพัชรา แก้วจินดา หรือคุณเพชร ผู้อำนวยการสร้างสรรค์แบรนด์ PIPATCHARA กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงจุดเริ่มต้นมาจากความชอบส่วนตัว เธอจบการศึกษาด้าน Fashion Design จาก Academy of Art University และเป็นนักเรียนทุนที่ École de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne แห่งนครปารีส ประเทศฝรั่งเศส 1 ปี หลังจากนั้น ทำงานที่ฝรั่งเศส 5-6 ปี ด้านแฟชั่นดีไซน์ เคยร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลก ทั้ง Givenchy และ Chloé จนรู้ตัวว่าเป็นคนที่ชอบเกี่ยวกับเครื่องหนัง โดยเฉพาะกระเป๋า

จนมีวันหนึ่ง ทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา พี่สาว ถือกระเป๋ามาคราเม่ (Macrame) ใบใหญ่กลับมาที่บ้าน ซึ่งจุดไฟจินตนาการลุกโชนขึ้นมาทันที อยากลองเอาการถักครามาเม่ ซึ่งเป็นงานศิลปะที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอาหรับ รูปแบบการถักเชือกเส้นยาวให้เกิดลวดลายต่างๆ มาผสมผสานกับเครื่องหนังที่อยากทำ พร้อมๆ กับแนวคิดการสร้าง Fashion for Community

“เราอยากให้ทุกชิ้นงานมีส่วนร่วมกับ Community ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้เครดิตกับพี่สาว เขาเข้าไปในชุมชนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน สอนการถักมาคราเม่และกลายเป็นคอลเลกชั่นแรกที่มีชุมชนร่วมผลิตชิ้นงานด้วยกัน 8 คน และเป็นจุดเริ่มต้นของ PIPATCHARA ตั้งแต่ปี 2561 ด้วย”

จากวันนั้น ภิพัชราใช้วิธีนำเสนอแนวคิดและการดีไซน์ผ่านป๊อปอัปสโตร์ โดยปักหมุดสาขาแรกในโครงการเดอะคอมมอนส์ (The COMMONS) ทองหล่อ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีไลฟ์สไตล์เฉพาะ ก่อนขยายสาขาไปศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน และเซ็นทรัลชิดลม

หลังเปิดป๊อปอัปสโตร์ในเมืองไทย แบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักและทำการตลาดได้ เธอยังเดินหน้ารุกสร้างแบรนด์ในต่างประเทศ เข้าไปเปิดป๊อปอัปสโตร์หลายๆ แห่งในประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น ย่านชิบูย่า ชินจูกุ อิเซตัน รวมถึงตะลุยไปไกลถึงนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงฮอลิเดย์ซีซั่น

กระทั่งปี 2566  เป็นปีแรกที่เซ็นสัญญาเปิดสาขารูปแบบแฟลกชิปสโตร์ในห้างเอ็มสเฟียร์ (EMSPHERE) และล่าสุดจับมือกับค่ายสิงห์ เปิดตัว “INFINITUDE WHITE BALANCE COLLECTION” ผลงานสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและใช้สีขาวเป็นเครื่องหมายของทุกชีวิต

“จุดเริ่มต้น อย่างที่บอก เราอยากเป็นแฟชั่นฟอร์คอมมูนิตี้ ไอเดียแรกที่ทั้งสองคนพี่น้องอยากทำ คือ สร้างแบรนด์ตัวนี้ ไม่ใช่แค่แบรนด์แฟชั่น อยากให้เป็นแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและต่อยอดการขยายชุมชน ให้ชาวบ้านดูว่า การถักไม่ใช่อย่างเดียวที่เขาทำได้ ให้ความรู้เขา ให้ความสุข ให้สิ่งใหม่ๆ ให้เขาได้รู้ว่าการร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับแบรนด์แฟชั่น PIPATCHARA ไม่ได้ยากขนาดนั้น”

ทั้งนี้ การทำงานกับชุมชนตั้งแต่คอลเลกชั่นแรกจนถึงคอลเลกชั่นล่าสุด ภิพัชราย้ำเสมอถึงการคืนสู่สังคม ไม่ใช่แค่สร้างรายได้เสริมให้ชุมชน การถักเป็นการฝึกสมาธิ พัฒนาฝีมือ ทั้งที่บ้านเกิดที่จังหวัดเชียงราย และขยายไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน พูดคุยกับครูบนดอย ให้ความรู้เรื่องศิลปะและงานฝีมือ ซึ่งพบว่าชาวบ้านสามารถทำงานหัตถกรรมมีคุณภาพระดับส่งออกได้

ส่วนความร่วมมือกับค่ายสิงห์ไม่ใช่ครั้งแรก ซึ่งบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ทำประโยชน์กับชุมชนในโครงการสิงห์อาสาและมีเป้าหมายตรงกัน เรื่องการให้การศึกษา ให้ความรู้ และเริ่มอีกก้าวหนึ่งด้านโปรดักส์ดีไซน์ โดยก่อนหน้านี้เปิดตัวกระเป๋ารุ่น Limited Edition ภายใต้ชื่อ “Transformation” ผลิตจากเนื้อผ้าที่ทอขึ้นจากขวดพลาสติก PET รีไซเคิล 100% และรายได้จากการจำหน่ายกระเป๋าไปต่อยอดผลิตกระเป๋านักเรียนส่งให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลผ่านเครือข่ายสิงห์อาสา ที่กระจายอยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

คุณเพชรย้ำทิ้งท้ายกับ “ผู้จัดการ 360องศา” ว่า  ปี 2567 เตรียมโปรเจกต์ Collaboration การทำซีเอสอาร์ เพื่อให้ความรู้หรือเข้าไปในชุมชนต่างๆ ร่วมกับแบรนด์อื่นๆ อีก เน้นเป้าหมายร่วมกัน ถ้ามีสิ่งที่คิดร่วมกัน ตรงกัน เราสามารถมาเป็นคอมมูนิตี้เดียวกันได้.

Macrame ศิลปะเก่าแก่ยุคบาบิโลน

มาคราเม่ หรือ Macrame จากภาษากรีกโบราณ หมายถึง การมัดหรือถักเชือกให้เกิดลวดลาย เป็นงานศิลปะการถักเชือกเส้นยาวให้เกิดลวดลายต่างๆ ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกโดยอาศัยแพตเทิร์นพื้นฐานง่ายๆ สามารถเลือกใช้วัสดุได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เชือกร่ม เชือกหนัง เชือกเทียน เส้นพลาสติก ไหมญี่ปุ่น และยังประยุกต์ลวดลายและต่อยอดเป็นงานคราฟต์ได้มากมาย

เรื่องราวและประวัติของมาคราเม่เริ่มในช่วงศตวรรษที่ 13 มีการสันนิษฐานว่า มาคราเม่ มาจากคำว่า Migramah ในภาษาอาหรับ หมายถึง พู่ หรือการถักลายขอบ

สมัยก่อนมีการใช้มาคราเม่ เพื่อประดับตกแต่งบนหลังอูฐและม้าในทะเลทรายทางตอนเหนือของแอฟริกา และนำมาประดับตกแต่งงานประติมากรรมต่างๆ ของชาวบาบิโลน แอสซีเรีย

เมื่อยิปซีถูกรวมอาณานิคม วัฒนธรรมมาคราเม่เริ่มไหลเข้าสู่ทวีปยุโรป มีการประยุกต์เป็นของสวยงาม พอเข้ามาทางอเมริกา มาคราเม่กลายเป็นของตกแต่งบ้านและแฟชั่น ในอิตาลีดัดแปลงเป็นลูกไม้ ส่วนจีนทำเป็นชายเสื้อจักรพรรดิ

สำหรับประเทศไทยเริ่มรู้จักกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการสืบทอดพัฒนาลวดลายกันมาเรื่อย ๆ จนถึงในทุกวันนี้.