วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 10, 2024
Home > Cover Story > 20 ปี “ม่วนใจ๋ เบลนด์” สัมพันธภาพระหว่างสตาร์บัคส์กับชาวไร่กาแฟ

20 ปี “ม่วนใจ๋ เบลนด์” สัมพันธภาพระหว่างสตาร์บัคส์กับชาวไร่กาแฟ

ถ้าพูดถึง “สตาร์บัคส์” แล้ว ถือเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเชนร้านกาแฟชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาที่มีสาขาและฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นอยู่ทั่วโลก เช่นเดียวกับในเมืองไทยที่สตาร์บัคส์สามารถครองใจผู้บริโภคชาวไทยมายาวนานถึง 25 ปี จนกลายเป็นบ้านหลังที่สาม หรือ Third Place สำหรับใครหลายๆ คน ที่ชื่นชอบทั้งบรรยากาศร้านที่เป็นเอกลักษณ์ บริการ และกาแฟหอมกรุ่นที่มาจากเมล็ดกาแฟที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดีของสตาร์บัคส์

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ม่วนใจ๋ เบลนด์” เมล็ดกาแฟพันธุ์อะราบิก้าที่ปลูกโดยชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของไทย ที่ไม่ได้เป็นเพียงเมล็ดกาแฟที่สร้างความม่วนอ๊กม่วนใจ๋ให้กับคอกาแฟเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของสัมพันธภาพระหว่างสตาร์บัคส์กับชาวไร่กาแฟที่ดำเนินมาถึง 20 ปีเต็มด้วยเช่นกัน

และในโอกาสปีที่ 20 ของม่วนใจ๋ เบลนด์ “ผู้จัดการ 360 องศา” ขอพาไปย้อนเรื่องราวการเดินทางของกาแฟอะราบิก้าพันธุ์ดีจากภาคเหนือของไทยกันอีกครั้ง

เรื่องราวของเมล็ดกาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์ เกิดขึ้นในปี 2545 เมื่อสตาร์บัคส์เล็งเห็นว่าทางภาคเหนือของไทยเป็นแหล่งปลูกกาแฟชั้นดีและอยากทำให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงได้ทำงานร่วมกับทางมูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (Integrated Tribal Development Foundation: ITDF) ที่มี ‘อ.ไมค์ แมนน์’ เป็นผู้อำนวยการโครงการ เพื่อเฟ้นหาเมล็ดกาแฟคุณภาพที่ได้มาตรฐานของสตาร์บัคส์ โดยเริ่มจากการสำรวจทางภาคเหนือของไทยเพื่อหาเมล็ดกาแฟ ก่อนที่จะส่งเมล็ดกาแฟไปทดสอบคุณภาพที่สตาร์บัคส์ในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงตกลงทำสัญญาสั่งซื้อเมล็ดกาแฟเป็นครั้งแรกกับชาวไร่ที่หมู่บ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทำไมสตาร์บัคส์ถึงร่วมมือกับ ITDF เพื่อเฟ้นหาเมล็ดกาแฟพันธุ์ดี

ITDF คือหน่วยงานที่ช่วยพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวเขาในทุกๆ ด้าน โดยให้ความสำคัญกับการมีสุขอนามัยที่ดี ควบคู่ไปกับการอบรมความรู้ให้ชาวเขาหันมาปลูกกาแฟแทนการปลูกฝิ่น เพราะการปลูกกาแฟด้วยวิธีการที่ถูกต้องจะสามารถออกดอกออกผลและสร้างรายได้ให้ชาวไร่ได้นานถึง 60 ปี

ไม่เพียงให้ความรู้ด้านการปลูกกาแฟ แต่ ITDF ยังมีการจัดตั้งสหกรณ์รวมกลุ่มและช่วยหาตลาดในการขายกาแฟให้กับชาวไร่กาแฟอีกด้วย จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เชี่ยวชาญด้านการปลูกกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือของไทย อีกทั้งจุดประสงค์ของสตาร์บัคส์และ ITDF ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือต้องการทำให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักและช่วยให้คุณภาพชีวิตของชาวไร่กาแฟมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นั่นจึงทำให้ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก

เมล็ดกาแฟอะราบิก้าชั้นดีจากภาคเหนือของไทยที่ผ่านการคัดเลือกจาก ITDF ได้ถูกส่งไปคั่วยังโรงคั่วกาแฟของสตาร์บัคส์ในเมืองซีแอตเทิล ผสานเข้ากับเมล็ดกาแฟจากหมู่เกาะในเอเชียแปซิฟิก จนกลายมาเป็น “ม่วนใจ๋ เบลนด์” กาแฟคั่วบรรจุถุงที่ผ่านมาตรฐานการคัดเลือกจากสตาร์บัคส์ เป็นกาแฟที่มีเอกลักษณ์ รสชาติหนักแน่น นุ่มลึก สัมผัสได้ถึงกลิ่นของไอดินและธรรมชาติ

ซึ่งคำว่า “ม่วนใจ๋” เป็นคำเมือง มีความหมายว่า “ความสุขอย่างเต็มเปี่ยม” ซึ่งสื่อได้ทั้งแหล่งที่มาและความรู้สึกขณะดื่มได้ในขณะเดียวกัน โดยเปิดตัวครั้งแรกในเดือนกันยายน 2546 อีกทั้งยังมีการส่งออกไปขายยังประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกในช่วงเทศกาล และทำให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ปี 2559 “ม่วนใจ๋ เบลนด์” ได้รับการรับรอง C.A.F.E. Practices (Coffee and Farmer Equity Practices) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการรับซื้อเมล็ดกาแฟระดับสูงของสตาร์บัคส์ ที่ชาวไร่ผู้ปลูกกาแฟต้องปฏิบัติตามแนวทางที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สตาร์บัคส์กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดเป็นครั้งแรก และยังคงได้รับการรับรองอย่างต่อเนื่องทุกๆ 3 ปี

ไม่เพียงทำให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นเท่านั้น แต่ม่วนใจ๋ เบลนด์ ยังถือเป็นตัวแทนของสัมพันธภาพระหว่างสตาร์บัคส์กับชาวไร่กาแฟ เพราะนอกเหนือจากการซื้อขายกาแฟแล้ว สตาร์บัคส์ยังมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไร่กาแฟไปพร้อมๆ กัน

เริ่มตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกที่สตาร์บัคส์มีข้อกำหนดว่า กาแฟที่ปลูกนั้นจะต้องไม่ใช้สารเคมี และปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ตามธรรมชาติ (Shade-Grown) เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม แหล่งน้ำ เป็นการทำไร่กาแฟที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ยั่งยืน ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า และส่งผลดีในระยะยาวต่อทั้งชาวไร่ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ในส่วนของการรับซื้อ เป็นการรับซื้อระยะยาวในราคายุติธรรม จากการตกลงราคาร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย

นอกจากการรับซื้อเมล็ดกาแฟแล้ว สตาร์บัคส์ยังส่งมอบรายได้ 5% จากการขายเมล็ดกาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์ ให้กับ ITDF เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงการเข้าไปสร้างโรงเรียน ประปาภูเขา สถานีอนามัย และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ อีกด้วย

แต่ 5% จากยอดขายอาจยังไม่เพียงพอในการพัฒนาชุมชน ในปี 2556 สตาร์บัคส์จึงได้เปิดตัวร้านกาแฟสตาร์บัคส์เพื่อชุมชน (Starbucks Community Store) ขึ้นเป็นแห่งแรกที่สาขาหลังสวน กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชนผ่านรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบแบ่งปันรายได้ โดยนำรายได้ 10 บาท จากการขายเครื่องดื่มสตาร์บัคส์ทุกแก้วในสาขานี้ ไปสมทบกับรายได้ 5% จากการขายกาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์ เพื่อมอบให้ ITDF นำไปพัฒนาชุมชนชาวไร่กาแฟต่อไป

ปัจจุบันม่วนใจ๋ เบลนด์ มีวางจำหน่ายในรูปแบบกาแฟคั่วบรรจุถุงใน 400 กว่าสาขาของสตาร์บัคส์ทั่วประเทศ และมี 55 สาขาที่สามารถสั่งเป็นเครื่องดื่มที่ชงด้วยเมล็ดกาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์ โดยสังเกตป้ายที่ติดไว้ในสาขาที่มีจำหน่าย ซึ่งในอนาคตสตาร์บัคส์มีแผนพัฒนาสาขาในลักษณะนี้เพิ่มเติม

และนับตั้งแต่เปิดร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งแรกที่หลังสวน สตาร์บัคส์ได้มอบเงินสนับสนุนให้แก่ชุมชนไร่กาแฟในภาคเหนือผ่าน ITDF ไปแล้วกว่า 17 ล้านบาท โดย ITDF นำเงินไปใช้ในโครงการต่างๆ เช่น น้ำดื่มสะอาด โรงเรียน การฝึกอบรมชาวบ้านและประสานงานด้านการเพาะปลูกกาแฟ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนไร่กาแฟ

“ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน กาแฟไทยยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก แต่พอมีโครงการของสตาร์บัคส์เข้ามา ตอนนี้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น อีกทั้งสตาร์บัคส์ยังให้ราคาดี จากชาวไร่กาแฟที่ฐานะยากจน พอเข้าร่วมโครงการ ใช้เวลาเพียง 6 ปี เขาสามารถพ้นจากความยากจนได้ และถ้าเราปลูกกาแฟด้วยวิธีที่ถูกต้อง กาแฟหนึ่งต้นสามารถเลี้ยงเราไปจนแก่ได้เลย ITDF เราเป็นเหมือนตัวกลางที่เชื่อมชาวไร่กาแฟกับสตาร์บัคส์ให้มาเจอกัน” อ.ไมค์ แมนน์ กล่าว

ในขณะที่ม่วนใจ๋ เบลนด์ เดินทางสร้างความสุขให้กับคอกาแฟมาครบ 20 ปี สตาร์บัคส์เองก็เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยครบ 25 ปีเต็มแล้วเช่นกัน ซึ่งสตาร์บัคส์ใช้โอกาสนี้เปิดตัวร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งที่ 2 นับจากที่เปิดสาขาแรกไปเมื่อ 10 ปีก่อน โดยพลิกโฉมร้านสตาร์บัคส์รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ ไอคอนสยาม ซึ่งเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สู่การเป็นร้านกาแฟเพื่อชุมชน

“ร้านกาแฟเพื่อชุมชนกับร้านสาขาปกตินั้นในแง่รูปลักษณ์ของร้านไม่ต่างกัน แต่ต่างกันที่วัตถุประสงค์ เพราะร้านกาแฟเพื่อชุมชนเรามุ่งหวังสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่น จากร้านแรกที่หลังสวนกับร้านที่สองที่ไอคอนสยาม แม้จะไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งปลูกกาแฟ แต่ถือเป็นตัวแทนในการเชื่อมและถ่ายทอดเรื่องราวของชาวไร่กาแฟกับเมืองหลวงเข้าไว้ด้วยกัน” เนตรนภา ศรีสมัย กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย กล่าว

ร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งที่ 2 นั้น สตาร์บัคส์จะนำเงิน 10 บาท จากการจำหน่ายกาแฟทุกแก้วส่งมอบให้กับ 2 องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้แก่ ITDF และที่เพิ่มขึ้นมาคือ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance – SOS) ในสัดส่วนที่เท่ากัน เพราะด้วยศักยภาพของสาขานี้ สตาร์บัคส์เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้และแบ่งปันสู่ทั้ง 2 องค์กรได้อย่างแน่นอน

มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) คือองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการอาหารส่วนเกินและส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการ เพื่อลดปริมาณขยะจากอาหารและสร้างการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งก่อนหน้านี้สตาร์บัคส์ได้ร่วมมือกับ SOS มาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อรวบรวมอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังมีคุณภาพดีอยู่จากร้านสตาร์บัคส์ในกรุงเทพฯ หัวหิน เชียงใหม่ และภูเก็ต เพื่อส่งมอบให้กับชุมชนที่ต้องการ โดยนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน อาหารกว่า 18,000 กิโลกรัมได้ถูกส่งต่อไปยังชุมชนที่ขาดแคลนแล้ว

ดังนั้น การเปิดร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งที่ 2 โดยปันรายได้ส่วนหนึ่งให้กับ SOS จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ช่วยในการดำเนินงานของ SOS และแก้ปัญหาสังคมได้ไปในตัว

“ร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งใหม่ที่ไอคอนสยามสะท้อนคำมั่นสัญญาของสตาร์บัคส์ในการสร้างความเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างผู้คน และการก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของไทย” เนตรนภา กล่าวเสริม

ปัจจุบันสตาร์บัคส์ ประเทศไทย มีร้านสาขาทั่วประเทศ 465 สาขา มีพาร์ตเนอร์ (พนักงาน) กว่า 4,300 คน ให้บริการลูกค้ามากกว่า 800,000 คนในทุกสัปดาห์ และมีแผนขยายสาขาให้ครบ 800 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาประเภทไดรฟ์ทรู พร้อมกับเพิ่มร้านกาแฟเพื่อชุมชนให้ครบ 8 แห่ง ภายในปี 2573 เพื่อเร่งสร้างการเติบโตในไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีพลวัตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป.