วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > สงครามเหนือน่านฟ้า อุตสาหกรรมการบินระอุ

สงครามเหนือน่านฟ้า อุตสาหกรรมการบินระอุ

หลังประเทศไทยเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ อุตสาหกรรมทุกหมวดขับเคลื่อนกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบินที่มีเหตุให้หยุดชะงักในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายบริษัทปรับลดขนาดองค์กรลง หรือหยุดกิจการ และแม้ว่าปัจจุบันสายการบินจำนวนหนึ่งจะกลับมาเปิดให้บริการเกือบเต็มรูปแบบแล้วก็ตาม กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันการท่องเที่ยวของไทยมีแรงขับชั้นดี เพราะยังคงเป็นเป้าหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยว เม็ดเงินรายได้เริ่มไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง นี่น่าจะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนไทยหลายกลุ่มเริ่มมองเห็นโอกาสในอุตสาหกรรมนี้ และตบเท้าเดินเข้าสู่สังเวียนการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลให้ในอนาคตอุตสาหกรรมการบินของไทยมีตัวเลือกมากขึ้น

เริ่มต้นที่ พาที สารสิน หนุ่มนักธุรกิจที่เคยคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมนี้มาก่อนในฐานะซีอีโอของ “นกแอร์” ที่แม้จะร่ำลาจากวงการไปเมื่อปี 2560 พาทีตัดสินใจกลับมาอีกครั้ง และเปิดตัวสายการบินใหม่นามว่า “Really Cool Airlines” พร้อมกับแย้มเส้นทางการบินว่า จะเปิดเส้นทางการบินระยะไกล แต่ในระยะแรกจะมีเส้นทางจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย ยุโรป (ปารีส) ซึ่งมองว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ 70% เป็นนักท่องเที่ยวขาเข้าหรือ inbound จากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังกำหนด Position ของสายการบินนี้เป็น Life style Full Service

การกำหนดเส้นทางของสายการบิน Really Cool Airlines ของพาทีนั้น เสมือนเป็นการใช้กลยุทธ์ Blue Ocean เพราะตลาดนี้การแข่งขันไม่สูงมาก และคู่แข่งน้อย แต่เป็นการสร้างฐานลูกค้าผ่านการเปลี่ยนความต้องการเดิมจากสินค้าที่มีอยู่ในตลาด

พาที สารสิน เปิดเผยว่า ตั้งใจจะสร้างสายการบินนี้ให้เป็นนวัตกรรมของอุตสาหกรรม อีกทั้งคิดว่าจะพร้อมให้บริการภายในสิ้นปี 2566 ในช่วงเดือนธันวาคม และให้บริการผู้โดยสารด้วยเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A330 ซึ่งเครื่องบินจะเป็นรูปแบบการเช่า ภายในสิ้นปี 2567 จะมีเครื่องบินให้บริการอย่างน้อย 4 ลำ

อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่เพิ่มพอร์ตธุรกิจให้กับตัวเอง ด้วยการเตรียมเปิดสายการบิน P80 Air นั่นคือ ตระกูลมหากิจศิริ ที่ประกาศชิมลางในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน ข้อมูลจาก สรกฤช วรรณลักษณ์ ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายการสื่อสารองค์กร บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด เปิดเผยการวางตำแหน่งของ P80 Air ว่า จะเน้นที่การทำสายการบินราคาประหยัด แต่พร้อมจะให้บริการในระดับฟูลเซอร์วิส โดยจะเน้นเส้นทางการบินระหว่างไทย-จีน เป็นหลัก เนื่องจากมองว่า ประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น และไทยเป็นจุดหมายอันดับต้นๆ ของนักเดินทางจากจีน

ช่วง 2-3 ปีแรก P80 Air มีแผนจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 4 ลำ ในรูปแบบการเช่า และในอีก 4 ปีข้างหน้าจะพิจารณขยายขนาดฝูงบิน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับเส้นทางการบินที่จะเพิ่มขึ้น และพร้อมจะพิจารณาปรับใช้เครื่องบินให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด

การเปิดบริษัท พี 80 แอร์ จำกัด ของตระกูลมหากิจศิริ น่าจะเป็นการเพิ่มพอร์ตธุรกิจของตระกูลนี้ให้แน่นยิ่งขึ้น ปัจจุบันมหากิจศิริมีธุรกิจอยู่ในหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด (ร้าน Pizza Hut) บริษัท เคเอฟยู จำกัด (ร้านโดนัท แบรนด์ Krispy Kreme) กลุ่มสาธารณูปโภค ได้แก่ บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด จำหน่ายน้ำประปาในเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว กลุ่มขนส่ง ได้แก่ บริษัท พี 80 เจ็ท จำกัด บริการให้เช่าเครื่องบินเหมาลำ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กลุ่มธุรกิจบันเทิง ได้แก่ บริษัท โฟร์วัน วันเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ค่ายเพลง 411 Music

มหากิจศิริยังมีบริษัทในตลาดหุ้น ได้แก่ บมจ. โทริเซนไทย เอเยนต์ซีส์ บริการขนส่งทางเรือ บริการนอกชายฝั่ง บมจ. อีเอ็ม โทริเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำหน่ายเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร และ บมจ. ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ ผลิตฟิล์มประเภทบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์

นอกจากสองตระกูลใหญ่ที่ทำให้เวทีการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินเริ่มระอุแล้ว สายการบินดั้งเดิมอย่างบางกอกแอร์เวย์สพร้อมปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่เช่นกัน

โดยบางกอกแอร์เวย์สมีการแต่งตั้งตัวแทนขายและการตลาดเพิ่มอีก 12 สำนักงาน ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก หรือสแกนดิเนเวีย กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ และแต่งตั้งตัวแทนขายและการตลาดในกลุ่มประเทศเยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง ออสเตรเเลีย

ขณะที่ตลาดในประเทศได้วางกลยุทธ์โปรโมชันอย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล กิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงการขายสินค้า และบริการของพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ เสริมให้มากขึ้น

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อธิบายเหตุผลที่บางกอกแอร์เวย์สจะยังไม่ขยายเส้นทางการบินว่า ยังมีปัจจัยหลายประการที่ต้องพิจารณา เช่น บุคลากรที่ให้บริการในภาคพื้น เนื่องจากแรงงานในกลุ่มนี้ออกไปจากอุตสาหกรรมการบินและไม่ได้กลับมา เพราะยังกังวลว่าจะกลับมาเจอกับสถานการณ์เดิม รวมถึงปัญหาการซ่อมบำรุงที่ยังขาดอะไหล่จากโรงงานผลิต ซึ่งทำให้การซ่อมบำรุงเครื่องบินใช้เวลานานกว่าปกติ และยังต้องพิจารณาสถานการณ์นักท่องเที่ยวอีกครั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจขยายเพิ่มเส้นทางการบินในต่างประเทศ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งเป้ารายได้รวมการท่องเที่ยวปีนี้ไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคน ซึ่งสายการบินที่เปิดตัวใหม่อาจยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเป้าหมายนี้เท่าใดนัก เพราะกว่าจะเริ่มเทคออฟน่าจะเป็นช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 แต่น่าลุ้นว่าศักราชหน้าการท่องเที่ยวไทยจะมียอดรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร เมื่อมีสายการบินใหม่รองรับการบริการเพิ่มขึ้น.