วันอังคาร, ตุลาคม 15, 2024
Home > Cover Story > สมรภูมิใหม่ “ทรู-เอไอเอส” 3 มี.ค. ลุ้นหุ้น TRUEE

สมรภูมิใหม่ “ทรู-เอไอเอส” 3 มี.ค. ลุ้นหุ้น TRUEE

ดีลควบรวมกิจการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ใช้เวลากว่า 1 ปี ฝ่ากระแสต่อต้านทั้งฝ่ายนักวิชาการและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จนกระทั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเสียงข้างมากไฟเขียวการรวมธุรกิจเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565

ล่าสุด กระบวนการควบรวมและจัดสรรหุ้นใหม่ดำเนินการตามขั้นตอนมาถึงบทสรุปสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วม ครั้งที่ 2 ระหว่างผู้ถือหุ้นของทรูกับดีแทค อนุมัติชื่อบริษัทใหม่ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” และชื่อย่อหุ้นใหม่ “TRUEE” มีทุนจดทะเบียน 138,208 ล้านบาท เท่ากับทุนชําระแล้วทั้งหมดของ TRUE กับ DTAC รวมกัน

ขณะเดียวกัน อนุมัติแต่งตั้งกรรมการของบริษัทใหม่ 11 คน และเตรียมจดทะเบียนบริษัทใหม่ ในฐานะ “บริษัทเทเลคอม-เทคชั้นนำ” ที่พร้อมนำคนไทยเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตและขับเคลื่อนธุรกิจก้าวสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก

กรรมการ 11 คน ได้แก่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายเยอเก้น คริสเตียน อาเร้นท์ โรสทริป ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ (กรรมการอิสระ) นางกมลวรรณ วิปุลากร (กรรมการอิสระ) นายกลินท์ สารสิน (กรรมการอิสระ) นางปรารถนา มงคลกุล (กรรมการอิสระ) ดร.เกา ถงชิ่ง นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข นางสาวรุซ่าร์ ซาบาโนวิค นายลาส์ เอริค เทลแมนน์ และ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ โดยมีนายมนัสส์ มานะวุฒิเวช เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายชารัด เมห์โรทรา เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายนกุล เซห์กัล และนางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) ในบริษัทใหม่

ทั้งนี้ ทรูและดีแทคจะยังคงให้บริการแยกสองแบรนด์ แยกกันดำเนินธุรกิจและแข่งขันกันตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนดไว้ 3 ปี

แน่นอนว่า ดีลแสนล้านของสองยักษ์สื่อสารต้องเคลียร์ประเด็นข้อครหาตลอดเวลา นับตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์ออกมาให้ฮินต์ระบุว่า กลุ่มเทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทคในนอร์เวย์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บริษัทแม่ของทรู คอร์ปอเรชั่น กำลังพูดคุยเพื่อควบรวมกิจการกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจโทรคมนาคมประเทศไทยเหลือผู้เล่นเพียงสองราย

ต่อมา ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์เปิดแถลงข่าวด่วน ชี้แจงการตั้งโฮลดิ้งคอมปานี เพื่อเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ทรู คอร์ปอเรชั่น และดีแทค โดยผู้ถือหุ้นจะถือหุ้นบริษัทแห่งนี้ในรูปแบบพันธมิตรเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) กลุ่มผู้ถือหุ้นของทรูรวมเครือซีพีจะถือหุ้น 58% ส่วนกลุ่มผู้ถือหุ้นของดีแทครวมถึงเทเลนอร์และบีทีซีเอ็น โฮลดิ้ง ของ บุญชัย เบญจรงคกุล จะถือหุ้น 42% และคาดว่าการควบรวมกิจการจะเสร็จสิ้นในปลายเดือนกันยายนปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การปิดดีลถูกเลื่อนหลายรอบแบบไม่สิ้นสุด เพราะมีข้อศึกษาระบุผลกระทบต่อผู้บริโภคและการผูกขาดตลาด โดยเฉพาะการศึกษาของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ฟันธงชัดเจนว่า ตลาดโทรคมนาคมไทยกำลังเสี่ยงต่อการเพิ่มโครงสร้างผูกขาดมากขึ้นจนถึงขั้นอันตราย ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยของไทยจะเหลือทางเลือกน้อยลง เสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบโดยผู้ประกอบการรายใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจโรงหนัง ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงพยาบาล และอีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนรายได้น้อยที่เดือดร้อน แต่กระทบมาถึงคนชั้นกลางจำนวนมากด้วย

ที่สำคัญ หากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือลดลงจาก 3 รายเหลือ 2 ราย ค่าบริการจะปรับสูงขึ้น โดยแบบจำลองคาดการณ์ราคาอาจสูงขึ้นถึง 33%

ด้าน ศ.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นกรรมการเสียงส่วนน้อยในการพิจารณาการรวมธุรกิจ “ทรู-ดีแทค” กล่าวว่า ดีลนี้เป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน สามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในแง่การลดหรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

จะว่าไปแล้ว ทั้งทรูและดีแทคต่างเป็นคู่แข่งในสมรภูมิมือถือมาอย่างยาวนาน โดย “ดีแทค” เริ่มรุกเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมตั้งแต่ยุคบริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ “ยูคอม” ของสุจินต์ เบญจรงคกุล พ่อของบุญชัย เบญจรงคกุล เมื่อปี 2523 มีโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ระดับโลก Motorola แห่งสหรัฐอเมริกา รุกขยายกิจการใหญ่โต ก่อนที่บุญชัยจะขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่บริหารกิจการในปี 2524 เมื่อนายสุจินต์เสียชีวิต

บุญชัยตั้งบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAC หรือ DTAC เมื่อปี 2532 และดึงพันธมิตรกลุ่มเทเลนอร์เข้ามาร่วมถือหุ้นใหญ่ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เปลี่ยนแบรนด์จาก “ยูคอม” เป็น “แทค” และ “ดีแทค” มาจนถึงปัจจุบัน

ด้าน ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือเดิมคือ เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น ก่อตั้งโดยเครือซีพี เมื่อปี 2533 ประเดิมคว้าสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลหมวด 6-9 จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาขยายรูปแบบการให้บริการสู่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายแรกในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ เอเชีย อินโฟเน็ท

ปี 2542 เทเลคอมเอเชีย เปิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยการขอรับใบอนุญาตการให้บริการโทรศัพท์ประจำที่แบบพกพาในชื่อ วี พีซีที ก่อนร่วมทุนกับ “กลุ่มออเร้นจ์” ประเทศฝรั่งเศส เข้าซื้อกิจการ บริษัท ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่นส์ เซอร์วิส จำกัด (ดับบลิวซีเอส) เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ ทีเอ ออเร้นจ์ เป็นระยะเวลา 12 ปี (ปี 2544-2556)

แต่ปี 2547 กลุ่มออเรนจ์ถอนทุนออกจากประเทศไทย โดยขายหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดให้เทเลคอมเอเชีย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “ทรู คอร์ปอเรชั่น” พร้อมเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของแบรนด์ เอเชียอินโฟเน็ท เป็น ทรู อินเทอร์เน็ต และทีเอ ออเร้นจ์ เป็น ทรูมูฟ

ปี 2553 กลุ่มทรูเข้าซื้อกิจการฮัทช์ ประเทศไทย เปิดโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 3 จี และเข้าประมูลคลื่นความถี่ต่างๆ ขยายบริการอย่างต่อเนื่อง จนเป็นผู้ให้บริการอันดับ 2 ของประเทศไทยในปัจจุบัน

สำหรับปี 2565 ทรู มีรายได้รวม 135,076 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 18,285 ล้านบาท โดยทรูมูฟ เอช มีจำนวนผู้ใช้งาน 33.8 ล้านราย ผู้ใช้งานบรอดแบนด์ 4.97 ล้านราย ขณะที่ดีแทคมีรายได้ 80,656 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,119 ล้านบาท ผู้ใช้บริการรวม 21.2 ล้านคน

เมื่อรวม 2 แบรนด์มีผู้ใช้งานมากกว่า 54 ล้านคน แซงหน้าบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ที่มีลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวม 46 ล้านเลขหมาย

ดังนั้น บทสรุปของดีลแสนล้านจึงหมายถึงการเปิดสมรภูมิรอบใหม่ แต่ยกแรกคงต้องลุ้นการกลับเข้าไปเทรดของหุ้นทรูใหม่ “TRUEE” ในวันที่ 3 มี.ค. นี้ จะร้อนแรงหรือเกิดกระแสต่อต้านอีกหรือไม่.