วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 10, 2024
Home > Cover Story > นักวิจัยไทยโชว์เก๋า พัฒนาสเปรย์พ่นจมูกแอนติบอดีหยุดเชื้อโควิด-19

นักวิจัยไทยโชว์เก๋า พัฒนาสเปรย์พ่นจมูกแอนติบอดีหยุดเชื้อโควิด-19

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ยกเลิกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย และกำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

เนื่องจากสถานการณ์การระบาดทั่วโลกมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตลดลง การแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคในต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับจำนวนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศมีเพียงพอกับความต้องการ ขณะที่ประชาชนได้รับวัคซีนในระดับความครอบคลุมสูง มีภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้น

ในห้วงเวลาที่โลกตกอยู่ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ เหล่านักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ต่างระดมสรรพกำลัง ระดมสมองคิดค้นวิจัย พัฒนาวัคซีน ยา เพื่อมาช่วยป้องกันมนุษย์ให้รอดพ้นจากเชื้อไวรัสโควิด-19 นักวิจัยไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ ซุ่มพัฒนานวัตกรรมที่จะมาสู้กับเชื้อไวรัสโควิดเช่นเดียวกัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา 5 ภาคีรัฐ-เอกชน แถลงข่าวเพื่อประกาศความสำเร็จให้ทั่วโลกได้รับรู้ โดย 5 ภาคีเครือข่ายประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การเภสัชกรรม และบริษัท ไฮไบโอไซ จำกัด (บริษัทย่อยของ บมจ. โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล) ร่วมมือพัฒนานวัตกรรมจนสามารถผลักดันงานวิจัยและพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ “สเปรย์พ่นจมูกที่เป็นเกราะป้องกันทางกายภาพที่ช่วยดักจับและยับยั้งอย่างจำเพาะต่อเชื้อโควิด-19 ที่บริเวณโพรงจมูก ภายใต้แบรนด์ เวลล์ โควิแทรป แอนติโคฟ นาซอล สเปรย์ จนสำเร็จและได้รับอนุญาตจาก อย.

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า “ขอชื่นชมในความสำเร็จของสเปรย์พ่นจมูกเพื่อยับยั้งเชื้อโควิด-19 ที่มีคุณสมบัติดักจับยับยั้งเชื้อโควิด-19 ทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 5 ภาคีเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมไทยสู่ระดับโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทย รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข พร้อมส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชนที่จะช่วยในการยับยั้งการติดเชื้อโควิด-19

ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ทีมนักวิจัยได้บ่มเพาะและพัฒนามาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาด โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาคประชาชน และภาครัฐ คือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทั่งสามารถพัฒนาแอนติบอดีต้นแบบได้ และได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ไปสู่ภาคเอกชนเพื่อนำไปต่อยอด นี่เป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ และช่วยให้ประเทศไทยก้าวพ้นสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย”

นอกจากนี้ รศ.นพ.ฉันชายได้ขยายความเพิ่มเติมถึงเทคโนโลยี Human Monoclonal Antibody ว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีทางชีวภาพชั้นสูง โดยพัฒนาจากการถอดรหัสแอนติบอดีที่ได้จากอาสาสมัครที่หายดีจากโควิด-19 โดยมีภูมิคุ้มกันในระดับดีเยี่ยม

อีกหนึ่งภาคีที่มีบทบาทหน้าที่ในการผลิตสเปรย์พ่นจมูก คือ องค์การเภสัชกรรม โดย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม อธิบายว่า “องค์การเภสัชกรรมทำหน้าที่ในการผลิตและควบคุมคุณภาพ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม “สเปรย์พ่นจมูกเพื่อยับยั้งเชื้อโควิด-19 ทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก” โดยนวัตกรรมชิ้นนี้สามารถวิจัยและผลิตขึ้นใช้ได้เองในประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“เรามีศักยภาพและความพร้อมในการผลิต ตลอดจนความมั่นใจในคุณภาพ ความปลอดภัย และความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรมว่า องค์การเภสัชกรรมมีความพร้อมที่จะผลิตนวัตกรรมสเปรย์ชิ้นนี้ออกสู่ตลาด เพื่อให้ประชาชนชาวไทยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมสุขภาพในการป้องกันและช่วยรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และยังส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพของประเทศ นวัตกรรมชิ้นนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 และเป็นนวัตกรรมสุขภาพในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพของคนไทย ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

วรวรรณ ไชยกำเนิด ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท ไฮไบโอไซ จำกัด “เราเล็งเห็นว่า การร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำยังไงให้นวัตกรรมที่ช่วยให้สุขภาพของคนไทยมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้คนไทยสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติ”

วรวรรณอธิบายขั้นตอนการทำงานของนวัตกรรมสเปรย์พ่นจมูกตัวนี้ว่า “ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่พร้อมสู่สายตาของชาวโลก ที่มีคุณสมบัติความสามารถในการดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 โดยทำงานทันทีและครอบคลุมต่อเนื่อง 6 ชม. ด้วยหลักการทำงาน 2 กลไก ได้แก่ 1. ดักจับด้วย GPMC ที่ทำหน้าที่เคลือบบริเวณพื้นผิวโพรงจมูก ทำให้ความสามารถในการเกาะของเชื้อไวรัสที่บริเวณโพรงจมูกลดลง 2. ยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางกายภาพ ที่เข้ามาในบริเวณโพรงจมูกด้วยภูมิคุ้มกัน ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ใช้พ่นที่โพรงจมูกทั้ง 2 ข้างด้วยการสอดหัวพ่นเข้าไปในโพรงจมูกในแนวตั้ง พ่นข้างละ 1-2 ครั้ง ใช้ได้ตามต้องการทุก 6 ชม. ได้ถึงวันละ 3 ครั้ง พร้อมจัดจำหน่ายให้แก่ประชาชนในประเทศไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นักวิจัยไทยจากหลายสถาบันได้โชว์ศักยภาพออกมามากมาย เช่น การพัฒนาห้องความดันลบที่สามารถเคลื่อนย้ายเพื่อใช้เป็นห้อง ICU ในโรงพยาบาลสนาม ที่พัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี ภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์

และที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาคือ นวัตกรรมคัดกรองผู้ป่วยโควิดจากลมหายใจ โดยสามารถตรวจคัดกรองได้แบบไม่ต้องเจ็บตัว นวัตกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผู้พัฒนาจากหลายหน่วยงาน เช่น สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โรงพยาบาลราชวิถี มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคเอกชน

ในอนาคตเราคงได้เห็นผลงานของนักวิจัยไทยที่สร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการป้องกัน รักษาโรค และสุขภาพของคนไทยอีกมาก.